ครึ่งทางยุคโควิด “ชานนท์ เรืองกฤตยา” อนันดา ยืน 1 คอนโดร่วมทุน

ครึ่งทางยุคโควิด อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กำแลนด์แบงก์หมื่นล้านทำเลบลูชิปติดรถไฟฟ้า เสริมแกร่งจุดยืนเจ้าตลาด JV มิตซุย ฟูโดซัง

ใช้เวลา 7 ปีร่วมทุนพัฒนาโครงการจนมีมูลค่าลงทุนรวม 142,400 ล้านบาท

สถานะดีล JV-joint venture ระหว่าง “อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” บริษัทอสังหาริมทรัพย์มหาชน ร่วมกับ “มิตซุย ฟูโดซัง” ธุรกิจองค์กร 350 ปีจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้กลายเป็นเบอร์ 1 ของโปรเจ็กต์ร่วมทุนในเมืองไทย

ทั้งยังสามารถรักษาสถานะเป็นเจ้าตลาดร่วมทุนสูงที่สุดไว้ได้อย่างเหนียวแน่นตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน

ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 บนความโดดเด่นที่ประเทศไทยสามารถรับมือได้ดีจนได้รับการยกย่องไปทั่วโลก การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 เป็นทั้งแนวโน้มและความหวังของผู้ประกอบการทุกคน

บนเกมรบทางธุรกิจแบบ “รบยาว” ของค่ายอนันดาฯยังคงยืนยันและมั่นใจว่าสามารถรักษาแชมป์ดีล JV ได้อย่างต่อเนื่องคงเส้นคงวา

ผนึกท็อป 3 ญี่ปุ่น มิตซุย ฟูโดซัง

“โก้-ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ถึงดีลร่วมทุนกับพันธมิตรญี่ปุ่นกลุ่มมิตซุย ฟูโดซังล่าสุดเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

“เรารู้จักมิตซุย ฟูโดซังก่อนอนันดาฯเข้าตลาดปี 2555 รู้จักกันมา จีบกันมาก่อนหน้านี้ก็ 10 ปีแล้ว ตอนนี้มีโครงการรวม 34 โครงการถ้ารวมเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ด้วยมูลค่า 1.4 แสนล้านบาท หลาย ๆ คนอาจจะไม่รู้จักมิตซุย ฟูโดซัง เขาเป็นท็อป 3 ดีเวลอปเปอร์ของญี่ปุ่น market cap เกิน 0.5-1 แสนล้านล้านแล้วแต่จังหวะ ก็เปรียบเทียบว่าเขาเป็นพี่ใหญ่เรา ถ้าเราทำงานใหญ่อย่างนี้ผมก็บอกว่า ถ้าเราไม่มีพี่ใหญ่หนุน ผมคงไม่กล้าทำ เรามีพี่ใหญ่ที่ดีหนุน เราก็เลยกล้าทำ”

จับสัญญาณฟื้นตัวธุรกิจอสังหาฯ

สำหรับสถานการณ์โควิดกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและภาคอสังหาริมทรัพย์ในมุมมองของ CEO อนันดาฯ แน่นอนว่าต้องทำการบ้านมากขึ้นจากการมีพันธมิตรญี่ปุ่นที่ลงทุนไปทั่วโลก

ทำให้ต้องพยายามหา data มากขึ้น เปรียบเทียบจุดเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐอเมริกา จีน สิ่งที่ค้นพบมีเซอร์ไพรส์กล่าวคือ ภายใต้มาตรการ WFM-work from home ตลาดอเมริกาแทบจะไม่กระทบเลย แม้ความจำเป็นต้องเข้าออฟฟิศน้อยลงแต่ดูเหมือนพฤติกรรมคนหันมาตกแต่งและซ่อมแซมบ้าน

ภาพสะท้อนมาจากหุ้นกลุ่ม Home depot Lowe’s มีการทำ new high เพราะรับอานิสงส์ลูกค้าซื้อวัสดุและของตกแต่งมาอัพเกรดบ้านตัวเอง ขณะเดียวกัน ในประเทศจีนตอนล็อกดาวน์ประเทศแน่นอนว่าเศรษฐกิจตก ปัจจุบันจีนเริ่มกลับเข้าสู่โหมดการใช้ชีวิตปกติมากขึ้น ภาพเศรษฐกิจเห็นสัญญาณกราฟรูปตัว V-shape recovery

“ผมว่าในเมืองไทยเราต้องดูก่อนว่า fundamental ของเศรษฐกิจเราเป็นยังไง ก่อนจะมองอสังหาฯปี 2562 เริ่มชะลอตัวจากเทรดวอร์พอสมควร ตอนนี้เราเจอโควิด data ที่เราแชร์ได้คืออนันดาฯปรับตัวเองพอสมควรในไตรมาส 2/63 ตอนแรกคิดว่ามีมาตรการล็อกดาวน์แล้วคนจะไม่มาซื้ออสังหาฯไม่ใช่ เราทำได้เกินเป้าพอสมควร คนเองก็ยังเน้นไปซื้อบ้านมากกว่าคอนโดฯ แต่ตอนนี้ก็จะเริ่มเห็น recovery”

ไฮไลต์ข้อมูลอยู่ที่มีการต่อสาย update call กับ “เควิน-กวิน กาญจนพาสน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) คุยเกี่ยวกับตัวเลขปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส

“ได้คุยกับ CEO บีทีเอสฯคุณเควิน ถามว่าตัวเลขรถไฟฟ้าตอนนี้กลับมาเท่าไหร่แล้ว เขาบอกว่า 70% แต่อย่าลืมนะว่า 70% ตอนล็อกดาวน์แทบจะ 0% แล้ว ภายใน 3 เดือนก็กลับมา 70% ผมว่า (เศรษฐกิจ) ก็เริ่มกลับมามากขึ้น”

Q3 รอโอนห้องชุด 20,000 ล้าน

จากสัญญาณเชิงบวกของผู้โดยสารบีทีเอสซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟลอยฟ้าที่ชาวต่างชาติเรียกว่า “สุขุมวิทไลน์” เพราะวิ่งผ่านเส้นสุขุมวิทเชื่อมย่านศูนย์กลางธุรกิจ จึงเป็นเสมือนรถไฟฟ้าสาย backbone ของกรุงเทพฯ

ยังมีสิ่งที่ค้นพบสัญญาณเชิงบวกจากภาคธุรกิจอสังหาฯมาจากการรีวิวแผนลงทุนของดีเวลอปเปอร์ทั่วทั้งวงการ โดยครึ่งปีแรก 2563 มีการประกาศชะลอแผนเปิดตัวโครงการใหม่เพื่อไม่เติมซัพพลายโดยไม่จำเป็น

ในขณะที่บางดีเวลอปเปอร์ที่มีความจำเป็นต้อง launch โครงการ ก็ต้อง launch เพราะสินค้าที่อยู่อาศัยในพอร์ตเริ่มขาดช่วงในส่วนของอนันดาฯปีนี้ไม่มีการลอนช์โครงการใหม่เลย ด้วยเหตุผลเรียบง่าย ชัดเจน

“อนันดาฯเองเรามี 5 โครงการที่กำลังจะโอนอยู่มูลค่าประมาณ 20,000 ล้านในไตรมาส 3/63 เราก็ยังไม่จำเป็นต้อง ลอนช์ แค่หมุนของเก่าอยู่ เฮาซิ่งไปได้ดีแต่คอนโดฯ dip อยู่ แต่มองว่า short term เราก็พยายามจะมองว่า short term มีอีเวนต์อะไรในโลกที่เป็น one of events ที่เกิดขึ้น เราก็มามองว่า 9/11 terrorist attacks จะใช้เวลา 1 ปี ตอนนั้นคนบอกว่า ไม่อยากอยู่แมนฮัตตันแล้ว ย้ายไปอยู่นิวเจอร์ซีย์ดีกว่า ภายใน 1 ปี หนึ่งคนก็กลับมาซื้ออสังหาฯเหมือนเดิม”

เหลียวกลับมาดูอีเวนต์ใกล้ตัวในประเทศไทย ประเมินย้อนหลังกลับไปเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 นาทีนั้นเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคมีความต้องการบ้านน้อยลง หันมาซื้อคอนโดฯมากขึ้น แต่ภายในเวลา 9 เดือนดีมานด์ซื้อบ้านแนวราบก็กลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

“ตอนนั้นเราก็ค่อนข้างโชคดีว่าเราทำคอนโดฯ ยอดขายคอนโดฯเราเปิดตัวมาก็ขายแหลกเลย แต่ภายใน 9 เดือนตัวเฮาซิ่งก็กลับเข้ามา ตอนนี้เราโดน dip แล้วก็จะเริ่มกลับมา normalize”

อนันดาฯโมเดลคอนโดติดรถไฟฟ้า

ความสำเร็จ 20 ปีของอนันดาฯมาจากทฤษฎี “ระฆังคว่ำ” โดยเปรียบเทียบยอดสูงสุดของระฆังคือทำเลคอนโดฯที่มีที่ตั้ง 0 ก้าวจากสถานีรถไฟฟ้า จากนั้นกางรัศมีระยะห่างในรัศมี 300 เมตร ยังคงมีดีมานด์สูงเพราะอยู่ในระยะเดินเท้าได้สะดวกไม่รู้สึกว่าไกลเกินไป

กลายเป็นโมเดลการลงทุนพัฒนาห้องชุดแนวรถไฟฟ้าที่เจาะลูกค้าคนรุ่นใหม่อยู่หมัด แน่นอนว่ามีคอนโดฯในรัศมี 1,000 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้าเข้ามาแจมพอร์ตด้วยเพื่อกระจายเซ็กเมนต์และราคาตลาดแมสด้วย

แต่รายได้หลักมาจากฐานลูกค้าระฆังคว่ำ ระยะห่าง 0-300 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้าทั้งใต้ดิน-ลอยฟ้า

“โตเกียวมีสถานีเกือบ 2,000 สถานี ตอนนี้ของเรามี 100-200 ถึง 300 สถานี รวมบีทีเอส เอ็มอาร์ที เราสังเกตว่าการขยายเมือง transit oriented development : TOD เราวาง strategy เป็นบริษัทอสังหาฯ แต่คิดไม่เหมือนบริษัทอสังหาฯ เราจะมองเป็น asset management investment company ตอนที่ผมดีลกับเขา เราเชื่อว่ายิ่งใกล้รถไฟฟ้าคนยิ่งอยากอยู่ เพราะภาวะรถติดคนก็จะเริ่มเบื่อหน่ายกับการที่ต้องนั่งอยู่ในรถ เขาใช้รถไฟฟ้า แล้วเราขยายตัวเราเปิดโครงการแรก ๆ ตั้งแต่ 16 สถานี ตอนนี้เป็นหลายร้อยสถานีและมากขึ้นเรื่อย ๆ”

โมเดลการลงทุนของอนันดาฯสอดคล้องกับมิตซุย ฟูโดซัง ที่สร้างการเติบโตในญี่ปุ่น

“มิตซุยฯบอกว่า ประสบการณ์ของเขา 100 ปีที่ผ่านมาเขาก็กระจายเหมือนกัน ด้วยมุมมองทัศนคติและวิสัยทัศน์ที่เหมือนกันก็ align ให้ได้ ซึ่งมิตซุยฯผมถือว่าเป็นพันธมิตรดีมาก เขามีบริษัทใหญ่กว่าเราเยอะ know how ที่ให้เรื่องคุณภาพเขาเป็นเบอร์หนึ่งในเชิงคุณภาพ เราต้องพยายามเรียนรู้เขาอีกเยอะเลย เราเตรียม diversify ไปเซ็กเตอร์อื่น เช่น เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์เราก็ใช้แบรนด์ Ascott ซึ่งเป็น capital land ที่ถือโดยรัฐบาลสิงคโปร์ และมิตซุยฯก็มี JV กับกลุ่มนี้ที่สิงคโปร์อยู่แล้ว ก็เลยเป็นพันธมิตรกันแล้วเราก็ดูว่ามี category ไหนในอสังหาฯที่ลงได้อีกหรือเปล่า แต่ก็ค่อยเป็นค่อยไป”

สร้างระบบให้พร้อม Plug&Play

คำถามที่น่าสนใจ คือ อะไรเป็น key success factor ที่ทำให้ดีล JV มิตซุยฯกับอนันดาฯยังเหนียวแน่นแม้ในสถานการณ์โควิด

“ตอนที่เราทำงานกับ Prudential Financial (อเมริกา) เราตั้งระบบภายในเรื่อง corporate governance กับการสื่อสาร การมี porting เป็นระดับสถาบันเรียกว่า blue ship เราทำงานแบบ blue ship ไม่ใช่ทำงานแบบ SMEs บริษัทใหญ่การ reporting การสื่อสาร การ compliance CG เหมือนต้องเป๊ะตลอดเวลา แล้วเรารู้ว่า decision making process เขาทำยังไง เราก็เลยต้องสร้างอินเจนต์ของเราเพื่อเซิร์ฟสถาบันใหญ่ ถ้าเราเล็กไปเราก็ไม่รู้นิสัยเขา แต่เมื่ออินเจนต์ที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อจะเซิร์ฟเขาได้เมื่อปลั๊กอินเข้ามาระบบ flow เลย พันธมิตรจะเห็นว่าเราทำระดับ Prudential ได้ มิตซุยฯก็ plug and play เข้ามาได้เลย”

เงินสด+พร้อมใช้ 1.3 หมื่นล้าน

จุดแข็งสำคัญที่สุดของอนันดาฯยังรวมถึงสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง

“เวลาเราดูอสังหาฯเราจะดูตัว debt to equity ratio หรือ net cash อนันดาฯอยู่ที่ 1.1 เท่าถือว่าเฮลตี้ดี บริษัทแม่ปิดงบฯกลางปีมีเงินสด 5,000 ล้านบาท บวกในเครือ JV ด้วยก็ประมาณ 10,000 ล้าน และเรามี credit facility จากแบงก์อีก 3,000 ล้าน เพราะว่าเราผ่านวิกฤต ผมเองเคยช่วยคุณพ่อตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 บางทีคนก็บอกว่าทำไมคุณต้องเก็บเงินสดไว้เยอะขนาดนี้ ผมบอกผมกลัวไว้ก่อนไง ผมกลัวว่าเดี๋ยวไม่มี liquidity”

สถานะการเงินที่เน้นตุนเงินสดและเงินพร้อมใช้ 13,000 ล้านบาทเสมือนการเสริม safety factor ในการทำธุรกิจภายใต้สถานการณ์โควิด เพราะยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีข้อกังวลการระบาดรอบ 2 รอบ 3 ในไทยอีกหรือไม่

“เราอยู่ในธุรกิจที่ GDP growth สำคัญ demand side, LTV กำลังซื้อต้องมี ไม่ใช่หนี้ครัวเรือนสูง ภาครัฐจะช่วยสร้างงานด้วยหรือเปล่า หรือทำให้คนตกงานเยอะ ผมจะกลัวคนตกงาน ผมกลัวนิสิตจบใหม่ 3 แสนคนตกงาน เพราะเราเป็นแบรนด์ที่เอ็มพาวเวอร์คนรุ่นใหม่ เราก็พยายามผลักดันให้มี startup movement สตาร์ตอัพที่ต้องการ funding ผมก็พยายามคุยกับภาครัฐว่าอย่าทิ้งเขานะ เขาคืออนาคตของพวกเรา อย่างเราเองก็ยังมองตัวเองเป็นสตาร์ตอัพตลอด”

Empower Gen Y-Gen C

ทั้งนี้ อนันดาฯวางโพซิชั่นเป็นแบรนด์คนเมือง แม้โควิดจะทำให้ตลาดห้องชุดเป็นเนกาทีฟไปบ้าง แต่ระยะเวลาอันใกล้นี้กำลังซื้อก็จะดีดกลับมา ดังนั้น แผนธุรกิจยังยืนเป้าเดิมคือเป็นเจ้าตลาดแนวรถไฟฟ้า

“ยุคโควิดพฤติกรรมเจนวาย เจนซีผมเชื่อว่าเขาจะพลิกตัวเร็วมาก แต่รัฐบาลต้องช่วยให้นิสิตหรือคนรุ่นใหม่มีงานทำที่ดีด้วย เขาจะใช้จ่าย เขาจะอยู่ในเมือง เขาต้องการ live work play learn ในเมือง เขาต้องการเป็นกลุ่ม achiever เขาต้องการเอ็มพาวเวอร์ตัวเองให้มีอนาคต เขาไม่ต้องการเป็น lost generation แล้วไม่มีรายได้ จบมาตกงาน อีก 10 ปีตกงาน เขาไม่ต้องการ เขาต้องการสู้ชีวิต”

โควิดมาได้เวลาจัดทัพครั้งใหญ่

ปฏิบัติการจัดทัพจัดบ้านใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรบยาว ๆ เริ่มทำขนานใหญ่ตั้งแต่ต้นปี สิ่งที่คิดคือต้อง restructure balance sheet ทั้งหมด โฟกัส for asset core business โดยไตรมาส 1/63 อนันดาฯขายสนามแข่งรถออกไปไตรมาส 2/63 มีธุรกิจก่อสร้างที่จะเอาออกไปด้วย

ส่วนครึ่งปีหลัง 2563 มีปัจจัยบวกเข้ามาเติม โดยเจรจากับกองทุนต่างประเทศด้วยการนำธุรกิจรีเทลร้านค้าตามคอนโดฯในเครือรวมแพ็กเกจใหญ่มูลค่า 1,000 ล้านบาทขายเข้ากองทุน

ทั้งหมดนี้เพื่อปรับโฟกัสธุรกิจหลักให้คมชัดมากขึ้น ก็คือการพัฒนาคอนโดฯเป็นหลัก

คีย์เวิร์ด : รักษาอันดับ 1 คอนโดฯ

CEO อนันดาฯประเมินผลกระทบโควิดเปรียบเหมือนโควิดเป็นพายุลูกมหึมา ทำให้ผู้คนแพนิก คาดว่าต้องใช้เวลาให้เศรษฐกิจปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 ปี

“เราร่วมกับมิตซุยฯทำคอนโดฯ ทำเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ในเวลาเดียวกันเรามีทรัพย์สินในมือที่เป็นแลนด์แบงก์ 9 โปรเจ็กต์ มูลค่าที่ดินอย่างเดียวก็ 10,000 ล้าน ที่ดินส่วนมากติดรถไฟฟ้าเป็นทำเลบลูชิปทั้งหมด มีสตอรี่ของ mass transit ตลอดเวลา ไทมิ่งในการ launch ปีนี้ผมไม่เห็นว่าไทมิ่งควรจะ launch เราทำการบ้านให้ครบเหมือนเตรียมทุกอย่างให้ครบ ถ้าสถานการณ์ได้แล้ว (เศรษฐกิจฟื้นตัว) ยิงออกมาได้ทันทีเลย”

กลยุทธ์ที่จะฝ่าวงล้อมสถานการณ์โควิดรวมถึงการเพิ่มน้ำหนักพอร์ตสินค้าแนวราบ โดยมีตัวช่วยสำคัญ มีผู้บริหารเก๋าเกม “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” เข้ามาเสริมทัพในทีมบริหารของอนันดาฯ

“ถ้าใครอยู่ในวงการอสังหาฯ ก็รู้จักพี่ประเสริฐอยู่แล้ว ก็จะ restructure พอร์ตโฟลิโอเพราะคอนโดฯเราโตมาก ตอนแรกเราเบสเคสคอนโดฯ 80% แนวราบ 20% แต่คอนโดฯโตเร็ว กลายเป็นว่า portion ของเฮาซิ่งลดลงไปเหลือแค่ 10% ตอนนี้เราต้องเอา 10% กลับมาที่ 20% และอาจจะต้องขยายไป 30% เราก็คุยกันอยู่ว่าจะ allocate ทรัพยากรกันยังไง”

โดยสรุปปี 2563 แม้ว่าอนันดาฯไม่มีแผนเปิดพรีเซลโครงการใหม่ แต่บริษัทยังคงเป็น market share leader ในธุรกิจคอนโดฯประเทศไทย

“ผมว่าเราต้องรักษาตัวนี้ก่อน ของที่เราทำตอนนี้ (คอนโดฯ) อาจจะซบเซา อยู่ไหนเซนติเมนต์ที่ไม่ดี แต่เราต้องรักษาตำแหน่งอันดับ 1 ให้ได้ก่อน และสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ตลอดเวลา”

 

ผู้บริหารมิตซุยฯย้ำหมุดลงทุนในไทย "เรายังคงพัฒนาบ้าน-คอนโดฯมีคุณภาพเพื่อคนไทย"

การประเมินสถานการณ์ยุคหลังโควิดผ่านมุมมองพันธมิตรร่วมทุนแสนล้าน “อากิฮิโระ ฟุนาโอกะ” เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด ให้สัมภาษณ์จากประเทศญี่ปุ่นถึงความมั่นใจการลงทุนในประเทศไทยยังมากล้น มากล้นพอ ๆ กับความมั่นใจร่วมทุนกับกลุ่มอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์

ผมดีใจมากที่ได้ทราบว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิดน้อยมาก ผมประทับใจกับการควบคุมการติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลและความร่วมมือของประชาชน โชคร้ายที่ตอนนี้ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญคลื่นลูกที่ 2 แต่เราก็ทำงานอย่างระมัดระวังและทุกคนที่นี่ปลอดภัยดี

โควิดส่งผลกระทบอย่างมากกับธุรกิจของเรา ที่ญี่ปุ่นเราปิดสำนักงานขาย ห้างสรรพสินค้า และโรงแรมเป็นเวลากว่า 2 เดือน แต่เมื่อกลับมาเปิดอีกครั้ง ธุรกิจหรือยอดขายจากฟาซิลิตี้ของเราอยู่ที่ 85-90% ของปีที่ผ่านมา ส่วนโรงแรมยังต้องรอการกลับมาของลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะ

ส่วนธุรกิจทั่วโลกมีสถานการณ์ในเชิงบวกน้อยลง ยิ่งสถานการณ์ดีขึ้นธุรกิจของเราก็ยิ่งฟื้นตัวในจีนและไต้หวัน จำนวนคนและยอดขายกำลังกลับมาเกือบจะเท่ากับรายได้ของปีที่แล้ว และเราเพิ่งปิดการขายคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ในมาเลเซีย เราเริ่มเปิดห้างเอาต์เลตอีกครั้ง ซึ่งมีตัวเลขการกลับมา 85% ของปีที่ผ่านมา แต่เราไม่สามารถมองโลกในแง่ดีได้ และควรที่จะระวังความเสี่ยง

แต่ผมเชื่อว่าดีมานด์ด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศแถบเอเชียยังมั่นคงและแข็งแกร่ง

และเรามองว่าประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ เพราะตั้งอยู่ตรงกลางของอาเซียน เป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวเป็นอันดับต้น ๆ และเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ชาวต่างชาติ การเติบโตทางเศรษฐกิจได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการในประเทศที่แข็งแกร่งและฟื้นตัวได้เร็ว

พื้นฐานเหล่านี้ทำให้ไทยยังคงเดิมและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวหลังจากผ่านเวลานี้ไป และเราจะยังคงลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

อนันดาฯภายใต้การนำของคุณชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านและคอนโดฯที่มีชื่อเสียงอย่างมากทั้งด้านการออกแบบและคุณภาพ

กรุงเทพมหานครมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในด้านระบบขนส่งมวลชน รวมถึงการพัฒนาสู่ความเป็นมหานครควบคู่ไปกับการเพิ่มของประชากร อนันดาฯให้ความสำคัญกับแนวโน้มเหล่านี้ จึงได้เล็งเห็นศักยภาพในการพัฒนาอสังหาฯตามแนวรถไฟฟ้า และจัดหาคอนโดฯคุณภาพชั้นนำในตลาด

มิตซุย ฟูโดซังเองก็มีปรัชญาในการพัฒนาแบบเดียวกัน และได้ร่วมงานกับอนันดาฯมาตั้งแต่ปี 2556 เราได้ร่วมกันส่งมอบคอนโดฯกว่า 23,000 ยูนิต จาก 29 โครงการ

นอกจากคอนโดฯแล้วเรากำลังร่วมกันพัฒนาเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ 5 แห่งในกรุงเทพฯและพัทยา เรื่องความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมและความสำเร็จที่เราได้สร้างกันมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เรายังคงพัฒนาคอนโดฯและบ้านที่มีคุณภาพเพื่อคนไทย

การระบาดของโควิดกำลังเปลี่ยนแปลงวิถีในการทำงานและการใช้ชีวิต เราได้เห็นการแพร่หลายของการทำงานระยะไกล และการเติบโตอย่างมากของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เราคาดการณ์ว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่ว่าตอนนี้มันกำลังเกิดขึ้นแล้ว

และเพื่อนำความท้าทายนี้มาเป็นโอกาสในการเติบโต มิตซุยฯจะเร่งดำเนินการพัฒนาพื้นที่สำนักงานใหม่ ๆ ที่จะทำให้คนสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงสร้างพื้นที่พักอาศัยที่ผู้อยู่อาศัยสามารถทำงานได้อย่างสะดวกสบาย เรากำลังเพิ่มมูลค่าให้กับห้างสรรพสินค้าเพื่อให้เป็นสถานที่ที่น่าสนใจยิ่งขึ้น

ผมเชื่อว่าอนันดาฯและมิตซุยฯมีจุดแข็งร่วมกันในการรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างรวดเร็ว และเรามั่นใจว่าจะแข่งขันได้ในตลาดยุคหลังไวรัสโควิด