“ศักดิ์สยาม” เปิดสัมปทาน 99 ปีดึงเอกชนเดินรถไฟ-นำร่องสายอีสาน

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

“ศักดิ์สยาม” หนุนเอกชนใช้ระบบรางขนส่งคน-ของ ให้สหภาพฯทำเต็มที่ก่อน ที่เหลือแบ่งเอกชนใช้ แย้ม “มะกัน-รัสเซีย-เกาหลี-ญี่ปุ่น” สนใจ พร้อมเปิดทางยืดสัมปทานถึง 99 ปี นำร่องสายอีสาน แจงยิบปม “ทางคู่เฟส 2” ชี้สภาพัฒน์ไม่ได้ตีกลับ แค่ขอข้อมูลเพิ่ม เผยนายกฯซื้อไอเดียท่าน้ำน้ำลึกเขื่อมอ่าวไทย-อันดามันแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (10 ก.ย.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ระบบรางของประเทศไทยในปัจจุบัน มีการใช้ประโยชน์จากรางเพียง 30% เท่านั้น ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแล้ว จะมีการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงตามมาอีกในอนาคตอีก เพื่อเพิ่มโครงข่ายเชื่อมต่อทั้งภายในและระหว่างประเทศ ซึ่งตนจะทำให้การใข้ประโยชน์เพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ให้ได้

ดึงเอกชนร่วมลงทุน

ดังนั้น จึงได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ร่วมกันตรวจสอบมีสลอตอยู่ทั้งหมดเท่าไหร่ และทางร.ฟ.ท.และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) ต้องร่วมกันดูว่าจะมีประสิทธิภาพทำงานขนาดไหน

หากทำเต็มที่แล้วยังมีส่วนที่เหลืออยู่อีก ต้องนำส่วนที่เหลือนั้นมาให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการ ซึ่งการเข้ามาของเอกชนจะต้องนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาด้วย และต้องเปรียบเทียบการบริหารจัดการ

“เมื่อเอกชนเข้ามา ต้องให้ความสำคัญกับประชาชนก่อน หากบริการไม่ดีและราคาไม่สมเหตุสมผล ก็เชื่อว่าประชาชนคงไม่มาใช้บริการ ต่อมาจึงเป็นเรื่องของผู้ประกอบการ เมือใช้เทคโนโลยีต้นทุนเป็นอย่างไร แล้วสถานีขนถ่ายสินค้าจะต้องเป็นเครื่องจักรอัตโนมัติ (Automation) เพราะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ในทางหนึ่ง” นายศักดิ์สยามกล่าว

“นอกจากนี้ จะต้องคำนึงถึงโครงการมอเตอร์เวย์ควบรถไฟทางคู่อีก 6,000 กม.ในอนาคตด้วย ซึ่งตอนนี้มีนักลงทุนจากต่างประเทศให้ความสนใจ เช่น สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น เป็นต้น”

ยืดสัมปทานได้ 99 ปี

สำหรับหลักการคร่าวๆคือจะให้เอกชนเข้ามาร่วมเดินรถทั้งในประเภทขนถ่ายสินค้าและขนส่งประชาชน ส่วนระยะเวลาร่วมลงทุน อาจจะต้องพิจารณาระยะเวลาลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะขยายระยะเวลาจากเดิมที่กำหนด 30 ปีให้ยาวกว่านั้น เพื่อจูงใจด้านการลงทุน บางประเทศให้ยาวถึง 99 ปีด้วยซ้ำไป

“เราไม่กล้าทลายข้อจำกัด มัวแต่กลัวว่าทำแบบนี้เป็นการเอื้อเอกชนและขายชาติหรือเปล่า ซึ่งก็เป็นวาทกรรม เราก็มีเหตุผลอธิบายว่า ทำแล้วได้อะไร ประชาชนได้อะไร และเอกชนไปรอดหรือไม่ ส่วนเรื่องกฎหมายรองรับกำลังคุยกัน อาจจะต้องเสนอแก้กฎหมาย ซึ่งตอนนี้ ร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง อยู่ระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา”

ทั้งนี้ในความคิดของตนแล้ว รูปแบบการร่วมทุนเอกชนจะต้องลงทุนทั้งการจัดหาขบวนรถ หัวลากมา ซึ่งหัวใจหลักตอนนี้อยู่ที่สหภาพฯ เพราะมีศักยภาพมากกว่าเอกชน ในอนาคตอาจต้องสร้างโรงเรียนเพื่อขับเคลื่อนบุคลากรรองรับโครงการดังกล่าว

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

ชี้สภาพัฒน์ไม่ได้ตีกลับทางคู่เฟส 2

ส่วนกรณีที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ตีกลับแผนพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 นั้น ไม่ได้เป็นการตีกลับทั้งโครงการตัวอย่างใด เพียงแต่ว่าทาง สภาพัฒน์ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องของขบวนรถที่จะนำมาวิ่งบนโครงการที่มีเพิ่มขึ้นเท่านั้น

ซึ่งได้ให้นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ในฐานะประธานบอร์ดร.ฟ.ท., ปลัดกระทรวงคมนาคม และอธิบดีขร.ไปทำความเข้าใจกับนักลงทุนว่า ร.ฟ.ท.ไม่ได้มีปัญหาอะไร ซึ่งกำลังเร่งส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้สภาพัฒน์อยู่

นายกฯ รับไอเดียท่าเรือเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน

นอกจากนี้ นายศักดิ์สยามยังกล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็มีดำริในที่ประชถมแล้วว่า ให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างท่าเรือน้ำลึกเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน โดยมีรถไฟทางคู่ช่วงชุมพร – ระนองเชื่อมเป็นแลนด์บริดจ์ในลักษณะมอเตอร์เวย์ควบกับรถไฟทางคู่ ซึ่งต้องมีการบูรณาการและศึกษาให้ชัดเจนก่อน

เปิดนำร่องอีสานก่อน

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์  ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่ง กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ”ว่า รูปแบบการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมใช้ประโยชน์ระบบรางของรัฐนั้น ยังไม่ได้มีการสรุปรูปแบบการร่วมลงทุนที่ชัดเจน ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังและรวบรวมความคิดเห็นของภาคเอกชนอยู่ เพื่อจัดทำเป็นรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) เพื่อเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้ความเห็นชอบต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 – 4 ปี

โดยคาดว่าโครงการนี้จะนำร่องในเส้นทางภาคอีสานก่อน เนื่องจากขณะนี้โครงการรถไฟทางคู่เฟสแรกกำลังทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งเอกชนที่จะมาดำเนินการจะต้องจัดหาขบวนรถเพื่อขนส่งทั้งสินค้าและประชาชน ซึ่งจากผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า เมื่อประเทศไทยสามารถพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ได้ทั้งหมดแล้ว จะทำให้ช่วงเวลาให้บริการนอกจาก ร.ฟ.ท. เหลืออีก 70%


ส่วนประเด็นด้านข้อกฎหมายนั้น ยอมรับว่าการที่จะให้เอกชนเข้าไปใช้รางรถไฟนั้นขัดกับกฎหมาย พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย 2494 ซึ่งในระหว่างที่กำลังรอ พ.ร.บ.ของทางกรมรางนั้น อาจจะมีการพิจารณาใช้พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วม ลงทุนในกิจการของรัฐ 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) ไปพลางก่อน แล้วเมื่อพ.ร.บ.ของกรมรางประกาศใช้จึงค่อยเขียนบทเฉพาะกาลกำกับลงไปภายหลังได้