“โควิด” ทุบอุตสาหกรรม “การบิน-ท่องเที่ยว” ทรุดหนักถึงปี’66

สถาบันการบินพลเรือนจัดเสวนา “โควิด” ทุบอุตสาหกรรม “การบิน-ท่องเที่ยว” ทรุดหนักถึงปี’66อุตสาหกรรกรรมบิน สู่ยุคNew Normal เผยโควิดฟาดหาง “การบิน-ท่องเที่ยว” ทรุดหนัก “กพท.” เผยเที่ยวบินหายกว่า 60% ชี้ปีนี้แย่สุดผู้โดยสารเหลือแค่ 50 ล้านคนจากปี 62 ทะยาน 165 ล้าน คาดอีก 3 ปีฟื้น “ททท.”เผยชาวต่างชาติหายเกลี้ยง 88% “บางกอกแอร์เวย์ส” รับวิกฤตินี้หนักสุด ลุยปั้นอู่ตะเภาฮับภูมิภาคปี’ 66

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2563 สถาบันการบินพลเรือนจัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “เตรียมพร้อมอุตสาหกรรมการบินสู่ยุค New Normal” โดยมีนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.),พญ.วราลักษณ์ ตังคณะกุล รองผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, นางน้ำฝน บุณยะวัฒน์ รองผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้านนโยบายและแผน และพลอากาศโทเดชิศร์ เจริญวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานปฏิบัติการ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ร่วมในงานเสวนา

@ปี 62 แห่เดินทางทะลุ 165 ล้านคน

โดยนายจุฬาเริ่มต้นว่า ธุรกิจสายการบินในประเทศไทยก่อนจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นธุรกิจที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ จากสถิติปี 2562 มีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งเส้นทางการบินในและต่างประเทศรวม 165 ล้านคน/ปี

แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 89 ล้านคน/ปี และผู้โดยสารภายในประเทศ 76 ล้านคน/ปี คิดเป็นจำนวนเที่ยวบินประมาณ 1.43 ล้านเที่ยวบิน แบ่งเป็นเส้นทางการบินภายในประเทศ 67 เส้นทางและเส้นทางการบินระหว่างประเทศอีก 382 เส้นทาง และมีเครื่องบินจดทะเบียนในประเทศจำนวน 679 ลำ

ดังนั้น หากอ้างอิงตามข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยค่อนข้างมีขนาดใหญ่ ซึ่งการมีสถาบันเฉพาะทางที่สอนด้านการบินขณะนี้ในประเทศไทยมีอยู่ทั้งสิ้น 17 แห่งทั่วประเทศ โดยมีผู้ถือใบอนุญาตทำการบินจำนวน10,549 ราย แต่มีเพียงสถาบันการบินพลเรือนเท่านั้นที่เปิดสอนครบทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ การทำการบิน งานซ่อมบำรุง และการจัดการจราจรทางอากาศ

@โควิดทุบร่วงเหลือ 50 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ตัวเลขผู้โดยสารระหว่างประเทศลดลงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยมีมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ ทำให้กพท.ต้องปรับตัวเลขคาดการณ์ผู้โดยสารใหม่ใน 5 ปีข้างหน้า (2563-2568) ทั้งหมด

โดยคาดการณ์ไปในทางที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) โดยตัวเลขประมาณการผู้โดยสารในปี 2563 อยู่ที่ 52 ล้านคน ลดลง 60% จากปี 2562 จะเป็นตัวเลขผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 36 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขผู้โดยสารระหว่างประเทศจะอยู่ที่ 16 ล้านคน

@คาดฟื้นปี ‘66

ทั้งนี้ ผู้โดยสารจะกลับมาปกติได้ภายในปี 2566 หรืออีก 3 ปี ปัจจัยสำคัญจะอยู่ที่มาตรการในเรื่องของการกำกับการเดินทางระหว่างประเทศว่าภาครัฐจะคลายความเข้มข้นของมาตรการต่างๆหรือไม่ ปัจจัยด้านการคิดค้นวัคซีนป้องกันด้วย หากมีการทดสอบและสามารถใช้ได้ตามที่ประเมินก็จะลดความเสี่ยงได้

“ส่วนบุคลากรด้านการบิน ในระหว่างนี้ก็มีมาตรการรักษาสถานภาพความคุ้นเคยในการทำการบินอยู่แล้ว ส่วนนักบินจะมีวงรอบในการตรวจมาตรฐานทางการบินอยู่แล้ว จึงไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง”

@ททท.คาดนักท่องเที่ยวเหลือ 7-8 ล้านคน

ด้านนางน้ำฝน กล่าวว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยย่ำแย่มากๆ โดยหลังช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาที่เริ่มมีมาตรการล็อคดาวน์ จำนวนนักท่องเที่ยวหายไป 88% ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหายไปถึง 65-70% แต่ ททท. ยังปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวไปในทางที่ยังมีหวังอยู่ โดยคาดว่าในช่วงสิ้นปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 7-8 ล้านคน

นอกจากนี้ โควิดยังกระทบกับการทำแผนบุกเบิกตลาดนักท่องเที่ยวใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียนและแถบเอเชียใต้โดยเฉพาะประเทศอินเดีย เพราะในกลุ่มประเทศดังกล่าวทั้งหมดมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดที่รุนแรงกว่าไทยมาก

ทำให้การคาดหวังถึงการทำตลาดใหม่ๆต้องล้มเลิกไป ซึ่งยังรวมไปถึงการจัดแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวต่างๆก็ต้องระมัดระวังมากขึ้นด้วย เนื่องจากประชาชนในประเทศเรามีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคมาก

“หากทำอะไรแล้วสุ่มเสี่ยง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอาจจะถูกมองในแง่ลบ ซึ่งส่วนตัวยอมรับว่าสถานการณ์ในขณะนี้ ทำให้การเคลื่อนตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวค่อนข้างลำบาก”

ส่วนมาตรการในขณะนี้ เน้นไปที่การกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศก่อน เพื่อช่วยดำรงสภาพของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีจำนวนพนักงานรวม 4.4 ล้านคน โดยจะต้องดึงจุดแข็งด้านการควบคุมโรคที่ไทยสามารถควบคุมได้มาใช้ เพื่อให้คนไทยมั่นใจในวิถี new normal ที่เรากำลังปฏิบัติอยู่ ซึ่งพนักงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องให้ความร่วมมือด้วย

@กระตุ้นกลุ่มรายได้สูง-เอ็กซ์แพตฟื้นเที่ยวไทย

โดยกำชับผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามหลัก SHA (Amazing Thailand Safety & Health Administration) หรือชื่อเต็มในภาษาไทยว่า โครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย

โดยครั้งนี้จะเน้นไปที่ 2 กลุ่มเป้าหมายสำคัญคือ 1. กลุ่มที่มีรายได้สูงและนิยมเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศได้ ก็จะจูงใจให้กลุ่มนี้เดินทางในประเทศมากขึ้น และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศ (เอ็กซ์แพต) เพราะนอกจากจะช่วยกระตุ้นการเดินทางในประเทศ กลุ่มเป้าหมายยังช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในไทยให้กับเครือญาติของแต่ละคนด้วยในตัว

@บางกอกแอร์เวย์ส รับโควิดหนักสุด

ขณะที่พลอากาศโทเดชิศร์จากบางกอกแอร์เวย์ส ระบุว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการสายการบินเจอวิกฤตที่ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมมามากมาย ทั้งจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เช่น โรคซาร์ส โรคเมอร์ เป็นต้น, สถานการณ์ทางการเมือง การปิดสนามบินในปี 2551 และเหตุอุทกภัยในปี 2554

“หากเปรียบเทียบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด จะถือว่าครั้งนี้หนักกว่าครั้งก่อนๆมาก เพราะมีการปิดน่านฟ้า 100% ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาเป็นเวลา 1 เดือน เปรียบเสมือนคนไข้ที่อยู่ในอาการโคม่า “

แต่ตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว โดยต้องยกเครดิตให้กับกพท.และนายจุฬาที่ช่วยดูแลสายการบินต่างๆ ทำให้จากเป็นคนไข้โคม่าก็ได้เข้ามาพักรักษาในห้อง ICU แล้ว

ในส่วนของบางกอกแอร์เวย์ส ก็ต้องปรับตัวประคับประคองสถานการณ์ต่อไป โดยเฉพาะมาตรการที่จะเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการของสายการบิน โดยนับตั้งแต่ช่วงที่โรคเริ่มระบาดในเดือน ม.ค.ถึงช่วงปิดน่านฟ้าในเดือนเม.ย. ทางบางกอกแอร์เวย์ส กวดขันในเรื่องการทำความสะอาดเป็นหลักทั้งเรื่องของวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ไปจนถึงลูกเรือและพนักงานในส่วนต่างๆของบางกอกแอร์เวย์ส ทำให้เท่าที่เก็บสำรวจสถิติมาไม่มีการพบพนักงานคนใดติดเชื่อเลยแม้แต่คนเดียว และไม่มีการพบผู้โดยสารติดเชื้อระหว่างเดินทางบนเครื่องบินของบางกอกแอร์เวย์แต่อย่างใด

@ปั้นอู่ตะเภาเป็นฮับใน 3 ปี

ส่วนการตัดสินใจลงทุนในโครงการสนามบินอู่ตะเภาร่วมกับบมจ.บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้ง และบมจ.ซิโนไทยฯ นั้น เพราะมองเห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาของสนามบินอู่ตะเภา และเมื่อทบทวนข้อมูลผู้โดยสารในช่วงก่อนเกิดวิกฤติแล้ว พบว่าสนามบินหลักของประเทศทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมืองมีจำนวนผู้โดยสารเกินกว่าศักยภาพที่สนามบินจะรองรับได้ เราจะบอกว่าสนามบินอู่ตะเภามีความเหมาะสมที่จะเป็นสนามบินหลักแห่งที่ 3 ของประเทศได้

“การลงทุนครั้งนี้ทางเราไม่ได้มองสนามบินอู่ตะเภาเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางแบบ Point to Point แต่เราจะปั้นสนามบินนี้ให้เป็นฮับการบินที่สายการบินต่างประเทศจะต้องเข้ามาใช้บริการให้ได้ ซึ่งการบริหารสนามบิน เราได้พาร์ทเนอร์ชั้นนำอย่างสนามบินนาริตะจากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมคิดและสร้างด้วยกัน โดยหากอิงตัวเลขจากกพท.ที่สถานการณ์การบินจะฟื้นตัวในปี 2566 คาดว่าสนามบินแห่งนี้จะก่อสร้างแล้วเสร็จพอดี” พลอากาศโทเดชิศร์กล่าวย้ำ และว่า

สำหรับแผนงานการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เบื้องต้นจะใช้เวลาส่งมอบพื้นที่ 18 เดือน ในช่วงเดียวกันทางกองทัพเรือ (ทร.) ในฐานะเจ้าของโครงการจะดำเนินการโครงการรันเวย์ 2 และก่อสร้างหอบังคับการบินใหม่ด้วย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีจึงแล้วเสร็จ