ทุ่ม 233 ล้าน เวนคืนที่ดิน “สุรินทร์” ตัดถนนใหม่ 4 เลนแก้รถติดในเมืองรับ AEC

เวนคืนอัพเดต

จากการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2555 เห็นชอบในหลักการที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 และตอนล่าง 2 เสนอแผนงานให้บรรจุโครงการก่อสร้างถนนตามผังเมืองรวม “ถนนสาย ง.” ผังเมืองรวมเมืองสุรินทร์ เพื่อแก้ปัญหารถติดในเขตตัวเมือง ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC

ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2563 อนุมัติร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ ต.นอกเมือง และ ต.ในเมือง อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

อีกทั้งให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ฎ.เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อสร้างและขยายทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 214 กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2077 เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่ง อันเป็นกิจการสาธารณูปโภค รวมทั้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ผู้รับผิดชอบโครงการ ระบุว่า โครงการออกแบบเสร็จแล้ว รอเวนคืน โดยแนวถนนกำหนดให้ก่อสร้างใหม่และขยายถนนเดิม มีจุดเริ่มต้นจากบริเวณทางหลวงหมายเลข 214 (สายกาฬสินธุ์-ช่องจอม) ประมาณ กม.ที่ 197+200 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตัดผ่านบริเวณพื้นที่ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ระยะทางประมาณ 0.47 กม.

จากนั้นตัดผ่านถนนลาดยางสาย ทช.สร.6052 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ขนานกับแนวคลองชลประทาน ระยะทางประมาณ 0.975 กม.ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพื้นที่การเกษตร ป่าละเมาะ บ้านเรือนราษฎรไม่หนาแน่น ระยะทางประมาณ 2.004 กม.

จนบรรจบกับถนนศรีณรงค์ แล้วไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวถนนศรีณรงค์ จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการ บรรจบกับสี่แยก ใกล้ห้างบิ๊กซี ถนนหลักเมืองตัดกับถนนทางหลวงหมายเลข 226 (สายหัวทะเล-วารินชำราบ) และทางหลวงหมายเลข 2077 ระยะทางประมาณ 0.9 กม. รวมระยะทางทั้งโครงการประมาณ 4.3351 กม.

รูปแบบโครงการมีเขตทางกว้าง 30 เมตร ก่อสร้างเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมเกาะกลางกว้าง 3 เมตร ทางเท้ากว้างข้างละ 4.50 เมตร จะใช้งบประมาณก่อสร้าง 619.43 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 382.43 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 233.3 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 3.7 ล้านบาท มีพื้นที่ถูกเวนคืนประมาณ 93 ไร่ จำนวน 100 แปลง อาคารและสิ่งปลูกสร้างประมาณ 126 หลัง

ปัจจุบันได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2564 จำนวน 3.7 ล้านบาท เพื่อสำรวจอสังหาริมทรัพย์ กำหนดค่าทดแทนและเวนคืนที่ดิน ซึ่งจะขอจัดสรรงบประมาณในปี 2565 จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี คาดว่าในปี 2566-2567 จะของบประมาณเพื่อก่อสร้างโครงการต่อไป จะใช้เวลาสร้าง 2 ปี