10 ปีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ รอวันเปลี่ยนผ่าน พิสูจน์ฝีมือเดินรถสายสีแดง

สัมภาษณ์

เป็นอีก 1 ระบบรถไฟฟ้าที่คนเมืองกรุงใช้เป็นเส้นทางสัญจรหลักไปแล้ว สำหรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ หรือในชื่อที่เป็นทางการ “รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ใช้เงินลงทุนกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท มี “รฟฟท.-บจ.รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.” บริษัทลูกของ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” เป็นผู้บริหารจัดการ ถึงวันนี้เปิดบริการครบ 10 ปีพอดี นับจากวันที่ 23 ส.ค. 2563

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รถไฟฟ้าสายนี้เผชิญสารพัดปมปัญหา มาพร้อมฉายา หลังเปิดบริการปีแรกถูกเรียกว่า “แอร์พอร์ตร้าง” เพราะไม่มีคนใช้บริการมากเท่าที่ควร อยู่ที่ประมาณ 12,000 เที่ยวคนต่อวัน ใช้เวลาอยู่หลายปีกว่าจะไต่ระดับมาถึง 70,000-80,000 เที่ยวคนต่อวัน

ขณะที่ปัจจุบันยังมีอีกหลายปัญหาที่ยังไม่ได้สาง เช่น ระบบเปิดปิดประตูที่ยังคงเสียงดัง ขบวนรถที่แม้จะจัดวิ่งเต็มระบบ 9 ขบวน แต่ยังไม่เพียงพอในช่วงเร่งด่วนที่คนใช้บริการจำนวนมาก เพราะแม้จะเป็นรถไฟฟ้าที่พาดผ่านหลังบ้านคน แต่เป็นเส้นทางที่วิ่งเข้าสู่ใจกลางเมืองได้ง่าย เพราะเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดินที่ “สถานีมักกะสัน” และรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ “สถานีพญาไท”

ในเดือน ต.ค.ปี 2564 “แอร์พอร์ตลิงก์” จะถูกเปลี่ยนมือจากบริษัทลูกของการรถไฟฯ สู่ บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน หรือกลุ่ม ซี.พี. ในฐานะผู้รับสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ได้สิทธิ์การเดินรถแอร์พอร์ตเรลลิงก์พ่วงไปด้วย

ท่ามกลางการรอวันเปลี่ยนผ่าน “แอร์พอร์ตลิงก์” สิ่งที่กำลังลุ้น อนาคตของพนักงานกว่า 500 คน จะเดินไปข้างหน้าอย่างไร ในเมื่อนโยบายการเดินรถสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ฝ่ายการเมืองต้องการให้เอกชนมาร่วมลงทุน เพื่อแบ่งเบาภาระเงินลงทุนแสนล้านบาทที่ถมไป

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “สุเทพ พันธุ์เพ็ง” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่แอร์พอร์ตลิงก์ ถึงภารกิจระหว่างรอการเปลี่ยนมือโครงการและภารกิจใหม่ที่จะตามมา

สุเทพ พันธุ์เพ็ง
สุเทพ พันธุ์เพ็ง

Q : ผู้ใช้บริการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ปัจจุบัน

ช่วงก่อนโควิดมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย 80,000-90,000 เที่ยวคนต่อวัน เมื่อมีการแพร่ระบาดและรัฐบาลใช้มาตรการ lockdown ทำให้ยอดผู้โดยสารตกลงไปมากเหลือเพียง 10,000 เที่ยวคนต่อวันเท่านั้น แต่เมื่อมีการคลายมาตรการต่าง ๆ ในเฟส 5 และ 6 ทำให้จำนวนผู้โดยสารทยอยปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 57,000 เที่ยวคนต่อวันแล้ว คิดเป็น 60% ของจำนวนผู้โดยสารเดิมก่อนโควิด คาดว่าอีก 40% จะกลับมาในช่วงปลายปี 2563 นี้

โดยจะมีการนำมาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพมาใช้อีกครั้ง ซึ่ง รฟฟท. จะเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท. เพื่อขอขยายเวลาการจัดทำมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารในช่วง ต.ค.-ธ.ค.นี้ จะปรับลดเฉพาะนอกช่วงเวลาเร่งด่วนวันจันทร์-ศุกร์ 3 ช่วงเวลา ได้แก่ 05.30-07.00 น., 10.00-17.00 น. และ 20.00-24.00 น. ให้แก่ผู้โดยสารที่ถือบัตรสมาร์ทพาสประเภทบุคคลทั่วไป จากอัตราค่าโดยสารปกติ 15-45 บาท เหลือ 15-25 บาท จะคิดอัตราค่าโดยสารสถานีแรก 15 บาท สถานีที่ 2 คิดค่าโดยสาร 20 บาท และสถานีที่ 3 เป็นต้นไป คิดค่าโดยสาร 25 บาท คาดว่าการลดราคาดังกล่าวจะทำให้มีรายได้ลดลง 350,000 บาท/เดือน

Q : ความคืบหน้าการส่งมอบโครงการให้ ซี.พี.

กลุ่ม ซี.พี.ได้ส่งคนเข้ามาประเมินระบบทั้งหมดแล้ว มีเนื้องานให้กลุ่ม ซี.พี.ทำต่ออีก คือ การสำรองอะไหล่สำหรับซ่อมบำรุงขบวนรถ เพราะอะไหล่บางตัวใช้เวลาสั่งซื้อจากต่างประเทศนานถึง 12 เดือน รวมถึงการซ่อมบำรุงใหญ่ตามวาระ หรือ overhaul ซึ่งต่อไปรถจะวิ่งถึงระดับ 3.6 ล้าน กม. คาดว่าจะแตะถึงระดับดังกล่าวในอีก 1-2 ปี จะมีการเปลี่ยนอะไหล่หลายรายการ เพราะก่อนหน้านี้ได้ผ่าน overhaul ช่วง 1.2 ล้าน กม. และ 2.4 ล้าน กม.

ส่วนการเช็กอัพเรื่องงานระบบ ทาง ซี.พี.แจ้งว่าช่วง พ.ย.-ธ.ค.นี้จะเริ่มส่งคนของเขามาเรียนรู้งานระบบ ส่วนเรื่องพนักงานกว่า 500 คนของแอร์พอร์ตลิงก์ ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปว่าทางกลุ่ม ซี.พี.จะรับโอนไปด้วยบางส่วนหรือทั้งหมด ทั้งนี้ กลุ่ม ซี.พี.ยังคงกำหนดการรับมอบโครงการและจ่ายค่าใช้สิทธิ์จำนวน 10,671 ล้านบาท เข้ามาบริหารโครงการอย่างเป็นทางการในช่วง ต.ค. 2564 ตามสัญญา

ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านระบบจาก รฟฟท. เป็นกลุ่ม ซี.พี. จะไม่ทำเกิดรอยต่อการให้บริการแน่นอน โดยผู้ที่มีบัตรโดยสารรายเดือนของ รฟฟท. มีจำนวน 200,000-300,000 คน และมีจำนวนบัตรที่เคลื่อนไหวจริง 80,000-90,000 คน สามารถใช้บัตรเดิมได้ตามปกติ โดย ซี.พี.มีแผนจะทำคิวอาร์โค้ด เพื่อสแกนผ่านมือถือและระบบทรูมันนี่ ซึ่งกำลังคุยกันอยู่

Q : จะต้องเคลียร์ภาระหนี้ค่าก่อสร้างก่อนหรือไม่

ปัจจุบัน รฟฟท.มีหนี้จากการก่อสร้างประมาณ 30,000 ล้านบาท ตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าการจ่ายค่าใช้สิทธิ์เดินรถของกลุ่ม ซี.พี.จะหักหนี้ดังกล่าวหรือไม่

Q : จะรับสมัครพนักงานเปิดเดินรถสายสีแดงปีหน้า

จริง ๆ ยังไม่ชัวร์ แต่การทดสอบระบบนี้เป็นการดำเนินการตามที่ ร.ฟ.ท.ได้รับการเพิ่มภารกิจให้เดินรถสายสีแดงก่อนหน้านี้ เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับเปิดทดลองวิ่งที่ ร.ฟ.ท.มีแผนจะเปิดในปี 2564 ส่วน รฟฟท.จะได้เดินรถสายสีแดงหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของระดับนโยบายที่ท่านรัฐมนตรี (ศักดิ์สยาม ชิดชอบ) จะเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งเราก็ภาวนาให้ได้เป็นผู้เดินรถตามมติ คนร. (คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) เดิม

Q : รับสมัครพนักงานอะไรบ้าง

เป็นการเปิดรับสมัครพนักงานชั่วคราวเพื่อทดสอบเดินรถจำนวน 156 อัตรา ระดับตั้่งแต่วุฒิ ปวช. ปวส. ถึงปริญญาตรี ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ควบคุมการเดินรถไฟฟ้า, เจ้าหน้าที่ควบคุมกระจายข้อมูลข่าวสาร, เจ้าหน้าที่ควบคุมการเดินรถด้านระบบวิศวกรรม, เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้า, ผู้ช่วยนายสถานี, เจ้าหน้าที่ประจำสถานี, เจ้าหน้าที่อำนวยการและงานสารบรรณ

จะนำไปรวมกับพนักงานที่กำลังปฏิบัติงานเพื่อทดสอบเดินรถอยู่ 98 อัตรา รวมเป็น 254 อัตรา ซึ่งเป็นจำนวนพนักงานเป้าหมายที่เราต้องการ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ควบคุมการเดินรถไฟฟ้า, เจ้าหน้าที่ควบคุมกระจายข้อมูลข่าวสาร, เจ้าหน้าที่ควบคุมการเดินรถด้านระบบวิศวกรรม, เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้า, ผู้ช่วยนายสถานี, เจ้าหน้าที่ประจำสถานี, เจ้าหน้าที่อำนวยการและงานสารบรรณ

หลังจากปิดรับสมัครในวันที่ 20 ก.ย.นี้ ผู้ที่สมัครเข้ามาใหม่และผ่านการคัดเลือกจะต้องเข้ารับการอบรมจากครูฝึกที่เราส่งไปอบรมกับฮิตาชิ ในฐานะผู้รับสัมปทานในส่วนของสัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาตู้รถไฟฟ้าเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน คาดว่าจะเริ่มอบรมในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ และจะเริ่มเข้าปฏิบัติงานเพื่อทดสอบระบบเดินรถในเดือน ก.พ. 2564

จะทดสอบระบบเป็นเวลา 9 เดือน คาดว่าในช่วงกลางปีหน้าอาจจะมีการเปิด soft opening ให้ประชาชนทดลองใช้บริการ และน่าจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือน พ.ย. 2564 แต่ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับระดับนโยบาย จะให้เราเป็นผู้เดินรถหรือไม่ ซึ่ง รฟฟท.เองก็มีความพร้อมที่จะเป็นผู้เดินรถ

Q : คนร.เคยอนุมัติทุนจดทะเบียนสายสีแดง 3,000 ล้านบาท

ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขณะนี้ด้วยความไม่ชัดเจนของนโยบายการเดินรถ จึงทำให้เรื่องดังกล่าวยังอยู่ที่กระทรวงคมนาคม