EEC เฟส 2 กระหึ่ม 131 โปรเจ็กต์ คมนาคมโด๊ปลงทุนทุกโหมด 3.8 แสนล้าน

ภาพจำลองจากวิดีโอของ สกพอ.
ดาต้าเบส

หลัง “กระทรวงคมนาคม” จัดทัพโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ระยะแรก จำนวน 168 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 998,908 ล้านบาท

ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง มีที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จประมาณ 40 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการอยู่ระหว่างออกแบบ ศึกษาและเสนอขออนุมัติ ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

ล่าสุดกำลังเขย่าแผนโครงการในระยะที่ 2 จะดำเนินการในปี 2565-2570 ให้เกิดความต่อเนื่องในระยะยาว มี “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานกำหนดแผนงานโครงการ ในเบื้องต้นกำหนดไว้ 131 โครงการ ครบทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทางราง และระบบสาธารณูปโภค ใช้เงินลงทุน 386,565 ล้านบาท มาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ งบประมาณ เงินรัฐวิสาหกิจ และให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP

ในแผนจำแนกเป็น 3 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับโครงข่ายคมนาคมรองรับการเดินทางของประชาชนอย่างไร้รอยต่อ จำนวน 88 โครงการ หรือ 67% เงินลงทุน 169,289 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มขีดความสามารถของโครงข่ายโลจิสติกส์และเชื่อมการขนส่งสินค้าทุกรูปแบบ จำนวน 24 โครงการ หรือ 18% เงินลงทุน 213,533 ล้านบาท

และสุดท้าย ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับโครงข่ายคมนาคมด้วยมาตรการสนับสนุนและเทคโนโลยีเชิงรุก จำนวน 19 โครงการ หรือ 19% วงเงินลงทุน 3,744 ล้านบาท

เมื่อลงรายละเอียดประเภทโครงการ ให้น้ำหนัก “ระบบราง” มากสุดอยู่ที่ 43% เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง จะต่อขยายจากอู่ตะเภาไป จ.ระยอง รองลงมาทางถนน 29% เช่น ทางเลี่ยงเมือง มอเตอร์เวย์เชื่อมสนามบินอู่ตะเภา ทางน้ำ 11% เช่น ศูนย์ซ่อมสร้างเรือบริเวณหาดน้ำหนาว ทางอากาศ 8% เช่น โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และสาธารณูปโภค 8%

หัวใจของระยะที่ 2 “ปลัดชัยวัฒน์” อธิบายว่า จะเพิ่มโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ และระบบขนส่งสาธารณะ ให้ไร้รอยต่อ เช่น ระยะที่ 1 มีรถไฟความเร็วสูงเป็นแกนหลัก ส่วนแผนงานโครงการระยะที่ 2 จะมีระบบขนส่งมวลชนขนาดรองที่เชื่อมรถไฟความเร็วสูง ไปยังในเมือง และชุมชน เช่น รถแทรมป์ รถเมล์ เป็นต้น

เมื่อดำเนินการได้ตามแผน จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ EEC ลดระยะเวลาในการเดินทางระหว่างพื้นที่หลักและพื้นที่ส่วนต่อขยายในภาพรวมได้ประมาณ 10% ลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 5% เพิ่มสัดส่วนการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะแบบไร้รอยต่อ

ยังเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางและเรือชายฝั่งในพื้นที่ภาคตะวันออก ยกระดับให้เป็น national gateway มีความจุเพียงพอกับความต้องการและเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานระบบราง

รวมทั้งเพิ่มความสนใจในการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการไปยังระบบราง มีสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้