สารพัดปัญหาฉุดทางคู่สายใต้ “นครปฐม-ชุมพร” เสร็จช้า 1 ปีพร้อมเปิดต.ค. 66

รถไฟทางคู่สายใต้”นครปฐม-ชุมพร”ผู้รับเหมาพร้อมใจขอขยายสัญญาทุกตอน 1 ปี ติดหล่มสารพัดปัญหา “ปรับแบบสะพานขึงเลี่ยงระเบิด-ผู้บุกรุก-ชาวบ้านค้านแบบก่อสร้าง”  คาดเปิดใช้ต.ค.ปี’66

นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม – ชุมพร ระยะทาง 421 กม. วงเงิน 33,982 ล้านบาท ณ วันที่ 3 ก.ย.2563 มีความคืบหน้ารวม 67.938% ล่าช้าจากแผนไป 8.196%  โดยโครงการแบ่งเป็น 5 สัญญา แต่ละสัญญามีความคืบหน้าดังนี้

สัญญาที่ 1 งานโยธาช่วงนครปฐม – หนองปลาไหล ระยะทาง 92 กม. วงเงิน 8,200 ล้านบาท มีบจ. เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนี่ยริ่ง (1964)เป็นผู้รับจ้าง มีความคืบหน้ารวม 69% ล่าช้าจากแผน 0.448% เนื่องจากติดปัญหาการจัดการผู้บุกรุกบริเวณหลังสถานีนครปฐม  และการสำรวจระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ตกค้างในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งระเบิดแต่ละอันมีอานุภาพทำลายล้าง 2 กม. ต้องใช้ความระมัดระวังในการก่อสร้าง

นอกจากนี้ ในสัญญาดังกล่าว จะรวมถึงการก่อสร้างสะพานทางรถไฟแบบขึงขนานกับสะพานข้ามรถไฟจุฬาลงกรณ์ จ.ราชบุรี ความยาว 160 เมตร วงเงิน 450 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าในการก่อสร้าง 25%

โดยเป็นการเปลี่ยนแบบจากสะพานเหล็กที่กรมศิลปากรกำหนดให้สร้าง เป็นสะพานขึง เนื่องจากสะพานเหล็กแบบเดิมจะส่งผลกระทบกับทุ่นระเบิดที่อยู่ใต้แม่น้ำแม่กลองได้ และจะต้องทำหนังสือแจ้งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อทราบถึงการปรับแบบดังกล่าว ซึ่งยังไม่จำเป็นปรับแก้รายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่อย่างใด

สัญญาที่ 2 งานโยธาช่วงหนองปลาไหล – หัวหิน ระยะทาง 76 กม. วงเงิน 7,500 ล้านบาท มีบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับจ้าง มีความคืบหน้ารวม 72.111% เร็วกว่าแผน 2.493%

สัญญาที่ 3 งานโยธาช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. วงเงิน 5,800 ล้านบาท มีบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับจ้าง มีความคืบหน้า 74.750% เร็วกว่าแผน 0.250% สำหรับสัญญานี้เพิ่งได้รับการอนุมัติขยายสัญญาออกไปอีก 11 เดือน เท่ากับจะไปสิ้นสุดสัญญาในเดือนมิ.ย. 2564

สัญญาที่ 4 งานโยธาช่วงประจวบคีรีขันธ์ – บางสะพานน้อย ระยะทาง 88 กม. วงเงิน 6,500 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า เคเอส-ซี (บจ.เคเอสร่วมค้า และ China Railway 11th Bureu Group Corporation Ltd) เป็นผู้รับจ้าง มีความคืบหน้า 66.951% ช้ากว่าแผน 29.478

และสัญญาที่ 5 งานโยธาช่วงบางสะพานน้อย – ชุมพร ระยะทาง 80 กม. วงเงิน 6,000 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า เอสทีทีพี (บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ. บจ.ไทยพีค่อนและอุตสาหกรรม) เป็นผู้รับจ้าง มีความคืบหน้า 56.131% ช้ากว่าแผน 17.436%

“สัญญา 4 และ 5 ติดปัญหาการเปลี่ยนก่อสร้างจุดตัดผ่านทางรถไฟจำนวน 4 จุด เช่น การเปลี่ยนจุดกลับรถจากแบบยกระดับเป็นแบบเกือกม้า และการเปลี่ยนจากยกระดับเป็นแบบขนานพื้นดิน ซึ่งจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์สอบถามความเห็นประชาชนในพื้นที่เพิ่มเติม “

ทั้งนี้ งานก่อสร้างทั้ง 5 สัญญาจะมีการขอขยายเวลาสัญญาเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาต่างๆให้จบ โดยเฉลี่ยรวมแล้วจะขอเพิ่มประมาณ 1 ปี ซึ่งจะไม่กระทบกับเปิดให้บริการในเดือน ต.ค. 2566 เนื่องจากยังมีงานสัญญาที่ 6 งานจัดหาและติดตั้งระบบเดินรถ วงเงิน 6,200 ล้านบาท ที่มีบริษัท China Railway Signaliing (CRSC) เป็นผู้รับจ้าง ที่จะไปเสร็จภายในปี 2566