งานหิน “พิชิต อัคราทิตย์” ล้างหนี้รถไฟ-รถเมล์

สัมภาษณ์พิเศษ

จากนักการเงิน “พิชิต อัคราทิตย์” ถูก “รัฐบาล คสช.” ดึงตัวนั่งเป็นประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) สางหนี้แสนล้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จากนั้นไม่นาน ได้รับการโปรโมตจากรัฐบาลทหารรั้งเก้าอี้ใหญ่ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมคุมงานขนส่ง ระบบราง และทางน้ำ

ถึงวันนี้กว่า 9 เดือนที่ “พิชิต” ในวัย 61 ปี นั่งบัญชาการใต้ชายคากระทรวงเศรษฐกิจเกรดเอ ปฏิบัติภารกิจสุดหิน “ปลดแอกหนี้ 2 แสนล้านบาท” ของ ร.ฟ.ท.และ ขสมก. ที่แบกกันมานานนับทศวรรษ ให้สำเร็จจะเป็นไปได้หรือไม่ “รัฐมนตรีช่วยพิชิต” เปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ”

Q : การแก้หนี้ของการรถไฟฯ

หลักใหญ่ต้องหยุดขาดทุน จัดการหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท นำทรัพย์สินมีอยู่ทั่วประเทศ มีมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาทมาบริหารจัดการให้มีรายได้เพิ่ม จะตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารจัดการ มีรถไฟถือหุ้น 100% ซึ่งมีที่ดิน 39,000 ไร่

มูลค่า 300,000 ล้านบาท ที่ไม่ใช้เดินรถสามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์สร้างรายได้ให้ได้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 5% จากเดิมปีละกว่า 3,000 ล้านบาท เป็น 1 หมื่นล้านบาท

การตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ผ่านคณะอนุกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) รอเข้าคณะกรรมการ คนร.ชุดใหญ่วันที่ 11 ต.ค.นี้ ใน 2 ปี (2561-2562) จะตั้งบริษัทให้เสร็จ ดึงคนนอกเป็นมืออาชีพมาเป็นผู้บริหาร จากนั้นตั้งพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ นำสินทรัพย์ 1 ใน 3 ขายเข้ากองทุน จะปลดหนี้แสนล้านได้ใน 5 ปีตามที่ คนร.กำหนด หากสำเร็จใน 30 ปี การรถไฟฯจะมีรายได้ 630,000 ล้านบาท

Q : จะเริ่มได้เมื่อไร

ปีหน้าจะเปิดประมูลที่ดินแปลง A สถานีบางซื่อ 35 ไร่ จากนั้นสถานีมักกะสัน 497 ไร่ ที่ถูกกำหนดเป็นเกตเวย์ของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งอีอีซีถือว่าเป็นลูกค้าของรถไฟ ส่วนจะพัฒนาโดยเอกชนรายเดียวที่ได้สัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือแยกประมูล รอคณะกรรมการอีอีซีสรุป

สถานีแม่น้ำ 227 ไร่ อยู่ใกล้กับที่ดินการท่าเรือฯตรงคลองเตย 2,300 ไร่ ให้ 2 หน่วยงานหารือร่วมกันพัฒนาจะได้เกิดประโยชน์ทั้งคู่ ปัจจุบันทั้งรถไฟและการท่าเรือฯได้รับผลตอบแทนจากที่ดินน้อยมากแค่ 1% อีกทั้งยังมีที่ดินต่างจังหวัดที่มีศักยภาพ เช่น สถานีเชียงใหม่ หัวหิน สงขลา หาดใหญ่ หรือแม้แต่ย่านรัชดาภิเษก อาจจะต้องปรับอัตราค่าเช่าใหม่

ขณะเดียวกัน รถไฟต้องปรับการเดินรถที่เป็นธุรกิจหลักให้มีประสิทธิภาพ และเพิ่มรายได้จากการเดินรถจากปัจจุบันอยู่ที่ 5,000-6,000 ล้านบาท จัดตารางเดินรถและเปิดเส้นทางขนส่งสินค้าใหม่รับรถไฟทางคู่จะเสร็จปี 2563-2564

Q : ความเป็นไปได้ที่รถไฟจะเดินสายสีแดง

เป็นข้อเสนอของรถไฟต่อ คนร.จะตั้งบริษัทลูกบริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน หมือนแอร์พอร์ตลิงก์ ยังไม่สรุป แต่ก็พิจารณาหลายรอบแล้ว มีข้อท้วงติงเยอะ เรื่องความเสี่ยงในการขาดทุน เพราะปีแรกเปิดบริการจะมีผู้โดยสาร 80,000 เที่ยวคนต่อวัน และจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี

Q : ความคืบหน้าแผนฟื้นฟู ขสมก.

ยังไม่ผ่านการพิจารณา คณะกรรมการ คนร.ให้ทำเป็น action plan เสนอที่ประชุมใหญ่วันที่ 11 ต.ค.นี้ ปัจจุบัน ขสมก.ขาดทุน 5,000 ล้านต่อปี มีภาระหนี้กว่า 100,000 ล้านบาท หลักการใหญ่ที่เคยคุยกันต้องลดค่าใช้จ่ายบุคลากรปีละ 4,000 ล้านบาท ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและซ่อมบำรุงปีละ 1,700-1,800 ล้านบาท ลดดอกเบี้ย 3,000 ล้านบาทต่อปี หากลดค่าใช้จ่ายกระเป๋ารถเมล์ได้ครึ่งหนึ่งและซื้อรถใหม่จะมีกำไร ปัจจุบัน ขสมก.กำลังติดตั้งระบบอีทิกเก็ต1,600 คัน

Q : แผนเออร์ลี่กระเป๋ารถเมล์จ่ายชดเชยให้คนละ 1 ล้าน

ไม่น่าจะมากขนาดนั้น เป็นข้อเสนอของ ขสมก. ยังไม่ยุติ ตามแผนจะดำเนินการให้เสร็จ 2 ปี (2561-2562) จำนวน 4,000 คน ใช้เงิน 5,000 ล้านบาท

Q : ซื้อรถเมล์ใหม่กี่คัน

ในแผนฟื้นฟูจะซื้อ 3,000 คัน ในนี้มีรถเมล์ NGV 489 คัน วงเงิน 4,020 ล้านบาท ในวันที่ 29 พ.ย.นี้จะได้ผู้ชนะประมูลพร้อมส่งมอบรถ 20 คันแรกใน 40 วัน ที่เหลือส่งมอบ 120 วัน ขณะเดียวกัน ขสมก.กำลังรีไวส์จัดซื้อรถใหม่ในระยะยาวจะใช้ระบบไหน เช่น ไฮบริด ไฟฟ้า ดีเซล หรือผสมผสานกัน

Q : การหารายได้อื่น ๆ

นำที่ดินอู่จอดรถ 6 แห่งพัฒนาเชิงพาณิชย์ ให้เอกชนรับสิทธิ์พัฒนา 20-30 ปี มี 2 แห่งที่จะดำเนินการได้ คือ อู่บางเขน 11 ไร่ และมีนบุรี 10 ไร่ ปีหน้าจะเปิดประมูล อีก 4 แห่ง คือ แสมดำ รังสิต พระประแดง และบางบัวทอง ยังคงใช้เป็นอู่จอดรถ

Q : การปรับตัวของ บขส.สู้โลว์คอสต์

ให้ขยายธุรกิจขนส่งสินค้าและบรรจุภัณฑ์ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศมากขึ้น เช่น สปป.ลาว กัมพูชา ส่วนสถานีขนส่ง อาจจะมีบางแห่งนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์สร้างรายได้ เช่น สถานีเอกมัย

Q : แผนย้ายสถานีขนส่งไปหมอชิต

ต้องให้เสร็จใน 6 ปี จะไปใช้พื้นที่ตรงหมอชิตเก่าที่กรมธนารักษ์จะพัฒนาคอมเพล็กซ์ จัดสรรพื้นที่ 1 แสนตารางเมตรให้ บขส.ใช้เป็นสถานีจอดรับ-ส่งคน ส่วนสถานีขนส่งปัจจุบันจะลดขนาดเป็นจุดจอดรถระยะสั้น

Q : การเดินหน้าไฮสปีดเชื่อมอีอีซี

จะเห็นภาพชัดในปี 2561 ปลายปีนี้จะเริ่มประกาศทีโออาร์ ให้เอกชนลงทุนทั้งโครงการ รอผลศึกษาจากรถไฟถึงรูปแบบการเดินรถเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อตามนโยบายของอีอีซี

Q : แผนลงทุนแหลมฉบังเฟส 3

ภายในเดือน มิ.ย. 2561 รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA จะผ่าน โครงการนี้การท่าเรือฯจะลงทุน 54,000 ล้านบาท สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน จะใช้เวลา 5 ปี เมื่อถึงปีที่ 4 จะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนรับสัมปทานบริหารระยะยาว ใช้เงินลงทุนอีก 88,000 ล้านบาท

อยากให้การท่าเรือฯปรับบทบาทเป็นผู้บริหารเองแทนการให้สัมปทานเอกชน จะได้มีองค์ความรู้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เพราะธุรกิจท่าเรือเป็นธุรกิจระหว่างประเทศ ไม่ใช่ธุรกิจในประเทศ การท่าเรือฯต้องออกไปทำตลาดต่างประเทศด้วย เหมือนกับผู้บริหารพอร์ตใหญ่ ๆ ของจีน เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ ต้องทำให้ได้แบบนั้น

Q : การลงทุนโครงการใหญ่

ตามแผนปี 2559-2560 มีเงินลงทุนกว่า 2.3 ล้านล้านบาท กำลังประมูลก่อสร้าง เงินก่อสร้างจะเริ่มทยอยเข้าสู่ระบบ หลังเซ็นสัญญา อย่างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ปีนี้ประมูลเสร็จ ปีหน้าทั้งปีงบจะเริ่มเข้าระบบเศรษฐกิจ ซึ่งนักลงทุนไทยและต่างประเทศจะเห็นว่ามีความแน่นอนในเรื่องเม็ดเงินในอีกหลายปีข้างหน้า


ภาครัฐลงทุนเองไม่ถึง 15% หวังว่าจีดีพีจะกระตุ้นโดยภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีเอกชนด้วย ในอีกหลายปี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในแผนเร่งด่วน 2.3 ล้านล้านบาท จะทำให้ขนาดจีดีพีใหญ่ขึ้นมากกว่าเงินลงทุนถึง 2.5 เท่า เป็นผลกระทบอันแรกที่ได้เห็นแน่นอน ส่วนอีอีซีต้องใช้เวลา 4-5 ปี รอการก่อสร้างถนน รถไฟ ท่าเรือ ให้เสร็จ