“เศรษฐา ทวีสิน” จี้รัฐเร่งแก้เศรษฐกิจ ตั้งสเป็ก รมว.คลัง 5 กล้า

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

นับเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งระดับประเทศและระดับโลก เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ยากจะคาดเดาว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร และต่างก็ได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้าเช่นกัน

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “เศรษฐา ทวีสิน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือได้ว่าเป็นองค์กรธุรกิจแถวหน้าที่ลุกขึ้นมารับมือกับพายุเศรษฐกิจในหลากหลายแง่มุม

แนะรัฐแก้เศรษฐกิจ ถูกบ้างผิดบ้าง ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี นำเสนอวัคซีนกระตุ้นระบบเศรษฐกิจระยะสั้นและกลาง โดยมีข้อเสนอแนะ 11 ข้อ ผ่านมา 4 เดือน เศรษฐาบอกว่ายังคงพูดข้อเสนอแนะเดิม เพราะปัญหาเดิม ๆ ยังไม่ถูกจัดการ

“ผมอยากจะบอกว่า ทำเถอะครับท่านนายกฯ เพราะว่าหลาย ๆ เซ็กเตอร์เดือดร้อน ก็เข้าใจว่าท่านมีขีดจำกัด แต่ว่าวันนี้เศรษฐกิจดิ่งลงไปพอสมควร อยากให้ท่านรีบ ๆ ทำเถอะ เราต้องกล้าตัดสินใจ จะถูกบ้างผิดบ้างก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ช่วงเวลานี้คน 70 ล้านคนต้องการความชัดเจนว่า จะได้อะไรบ้างจากรัฐบาล”

เศรษฐากล่าวอีกว่า ไทยเป็นหนึ่งประเทศที่แก้ปัญาหาโควิด-19 ได้ดีที่สุดในโลก ดังนั้นรัฐบาลควรใช้โอกาสที่เราจัดการแก้ปัญหาโรคระบาดได้ดีให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

“หลังจากที่เราไม่มีผู้ติดโควิดในประเทศมานานแล้ว เราควรจะทำอะไรได้มากกว่านี้ คำว่า bubble tourism โผล่มาสองอาทิตย์ก็หาย บอกว่าจะเปิดภูเก็ตก็ถูกแรงต้าน อันนี้เป็นข้อหนึ่งที่ผมเห็นใจท่านนายกฯว่า ถ้าเปิดประเทศแล้วโควิดกลับมาใครจะรับผิดชอบ แต่ผมว่า มีหลายอย่างที่เราทำได้ วันนี้คุณยังจัดการเรื่องโควิดไม่ได้ แต่เรื่องเศรษฐกิจสามารถทำได้”

บอสแสนสิริย้ำข้อเสนอแนะในจดหมายอีกว่า คนส่วนมากในประเทศไทยประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นรัฐบาลควรออกนโยบายรับประกันราคาผลผลิตการเกษตร เพื่อให้คนมีกำลังใจในการลุกขึ้นมาทำงาน ไม่ใช่จะใช้แต่วิธีการแจกเงิน เรื่องดอกเบี้ยเป็นเรื่องถัดมาที่เขาเน้นย้ำว่า การลดดอกเบี้ยเงินกู้เป็นการใส่เงินเข้าไปในกระเป๋าประชาชนอีกทางหนึ่ง เพราะรายจ่ายหลักของคนคือ “ดอกเบี้ย” ดังนั้นจะด้วยวิธีอะไรก็ตาม รัฐบาลต้องลดดอกเบี้ยให้ได้

“สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีรัฐบาลก็ต้องช่วย สเต็ปแรกที่รัฐบาลทำมาคือ พักหนี้ก็เป็นการช่วยเหลือที่ใช้ได้ แต่ปัญหาของเอสเอ็มอีนั้นหยั่งรากลึก ทั้งการเป็น single product การไม่มีนวัตกรรมมาก่อน และอะไรหลายอย่าง ผมว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ ต้องการการแก้ไขระยะยาว ต้องการการพัฒนา ไม่ใช่แค่แช่ดอกเบี้ยอย่างเดียว แต่เขาต้องการแหล่งเงินทุนใหม่ด้วย”

ส่วนเรื่องมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เศรษฐามองว่า ไม่ประสบความสำเร็จด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งคนไม่มีเงินในกระเป๋า ไม่มีกำลังใจ-ไม่สบายใจที่จะใช้เงิน เพราะกลัวเศรษฐกิจจะแย่กว่าเดิม ส่วนคนที่มีเงินใช้จ่ายก็ติดปัญหาว่า การไปเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวนั้นเจอปัญหารถติด ดังนั้น ถ้ารัฐบาลจะออกวันหยุดเพื่อกระตุ้นให้คนท่องเที่ยว ต้องออกมาตรการอำนวยความสะดวกให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่นด้วย

ต่อนโยบายที่รัฐบาลสนับสนุนให้เอกชนจ้างงาน โดยอุดหนุนค่าจ้าง 50% นั้น ผู้บริหารแสนสิริมองว่า รัฐบาลควรจะจ้างงานบัณฑิตจบใหม่เอง หากรัฐบาลไม่จ้างคงไม่มีเอกชนที่มีความสามารถจะจ้างได้ในสถานการณ์เช่นนี้ อาจจะมีเพียงธุรกิจยักษ์ใหญ่ 1-2 เจ้าเท่านั้นที่จ้างงานได้

รัฐมนตรีคลังในสเป็กต้องมี “5 กล้า”

เศรษฐาบอกสเป็ก “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” ว่า คนที่จะมารับตำแหน่งนี้จะต้องมีความกล้า 5 กล้า คือ 1.กล้าต่อรองกับนายกฯว่าจะทำอะไรบ้าง 2.กล้าชนกับกลุ่มการเมือง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง 3.กล้าชนกับแบงก์ชาติเรื่องนโยบายการเงิน เพื่อต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 4.กล้าจะผลักดันนโยบายการคลังผ่านกลไกระบบข้าราชการที่เชื่องช้าให้มี speed to market 5.กล้าจะร่วมกับแบงก์ชาติผลักดันให้แบงก์พาณิชย์ลด net interest margin เพื่อให้ดอกเบี้ยเงินกู้ถูกลง

“รัฐมนตรีคลังคนใหม่ท่านจะเป็นใครก็ตาม ผมอยากแนะนำท่านให้กล้าจะคุยกับท่านนายกฯ ว่า ถ้าเข้ามาจะทำ 1-2-3-4-5 เป็นคนที่จะต้องกล้าทำทุกอย่าง สำคัญที่สุดคือ ‘ต้องทำเลย’ มีเรื่องที่ต้องทำเยอะมาก วันนี้ศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยถ้าเทียบกับประเทศอื่นถือว่ายังดีอยู่ ที่บอกว่าหนี้สาธารณะจะถึง 60% แล้ว ช่วงโควิดหนี้ของทุกประเทศก็ขึ้นหมด ของเราก็ขึ้นได้ การจะต่อสู้กับเศรษฐกิจเลวร้ายคุณจะต้องมีกระสุน ตอนนี้ต้องกู้ก่อน เพราะว่ารายได้ของประเทศลดลงจากการเก็บภาษีได้น้อยลง แต่ภาพรวมต้องมีการกระตุ้นเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวง”

แนะภาคธุรกิจ เก็บเงินสด ลดหนี้ ลดความคาดหวัง

ส่วนคำแนะนำสำหรับภาคธุรกิจ เศรษฐาเน้นเรื่องที่เคยพูดไปแล้วว่า “กระแสเงินสด” เป็นเรื่องสำคัญที่สุด องค์กรที่ขาดเงินสดจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ดังนั้นต้องพยายามลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ พยายามระบายสต๊อกให้แปลงสภาพเป็นเงินสดให้ได้ และเรื่องการบริหารหนี้ ต้องพยายามลดหนี้ให้เร็วที่สุด เพราะดอกเบี้ยเป็นค่าใช้จ่ายที่สำคัญอย่างหนึ่ง

“ผมว่าเรื่องเศรษฐกิจตอนนี้เปราะบางมาก เวลาจะทำสินค้าออกมาคุณต้อง make sure ว่ามันโดนใจ เข้าถึงทุกระดับ เพราะตอนนี้กำลังซื้อทุกคนตกหมด โควิดเหมือนการรีเซตทุกอย่างสมัยก่อนบริษัทเคยมีกำไรหมื่นล้าน วันนี้ต้องมีกำไร 5 พันล้าน บริษัทที่เคยกำไร 5 พันล้านต้องพอใจที่กำไร 1 พันล้านโบนัสที่เคยได้ 7 เดือน 6 เดือน ก็อาจจะเหลือ 1 เดือนหรืออาจจะเหลือ 0 เดือน มีงานทำก็ดีแล้ว ไม่ถูกลดเงินเดือนมากก็ดีแล้ว เพราะฉะนั้นการออกโปรดักต์ต้องปรับไปตามกำลังซื้อของคน”

เศรษฐาแสดงความกังวลต่อปัญหาและแนะนำอีกว่า สถานการณ์นี้น่าจะลากยาวอย่างน้อย 18-24 เดือน เพราะปัญหาครั้งนี้ไม่ใช่ปัญหาภายในประเทศ แต่เป็นปัญหาของทั่วโลก ไม่สามารถหนีไปพึ่งใครได้ ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกเยอะมาก ตอนนี้การส่งออกก็ไม่ดี ค่าเงินบาทก็แข็ง ดังนั้นการจะอยู่ได้ยาวต้องรีเซตความคิดของตัวเองว่า ต่อไปนี้อาจจะต้องทำงานหนักขึ้นในผลตอบแทนที่อาจเท่าเดิม ต้องมีมาตรฐานการประหยัด ต้องใช้เงินอย่างมีคุณค่าจริงๆ

“แสนสิริ” ปรับตัวเน้นแนวราบ-โปรดักต์ราคาถูก

เรื่องการออกโปรดักต์ เศรษฐาเปิดเผยว่า ตอนนี้แสนสิริก็เหมือนกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทุกคนที่มองไปที่แนวราบคือบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮาส์ ถ้าเป็นคอนโดฯ ต้องเน้นคอนโดฯราคาถูกยูนิตละ 1.5-2.5 ล้านบาท เพราะกำลังซื้อของคนถดถอย การทำบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮาส์เป็นโปรดักต์ที่ลดความเสี่ยง จากที่ต้องสร้างทั้งตึกก็มาสร้างตามยอดขายแต่ละเดือน

บอสใหญ่แสนสิริบอกอีกว่า การหันไปเน้นแนวราบที่ราคาถูกลง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโดยตรงนั้น “เหนื่อย” แต่คิดว่าเป็นเซ็กเมนต์ที่ยังมีโอกาสขายได้ เพราะเป็นโปรดักต์สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการที่อยู่อาศัย ถึงแม้ว่าเซ็กเมนต์นี้มี rejection rate สูงมากถึง 30-40% แต่คิดว่าเป็นเซ็กเมนต์ที่ดีที่สุด ดีกว่าตลาดบนด้วย

“ตลาดบนถ้าเป็นบ้านเดี่ยวยังมีความต้องการอยู่ ถ้าอยู่ในทำเลที่ดี แต่คอนโดฯล้นอย่างมโหฬาร อันนี้เราก็ต้องยอมรับว่าเราสร้างเยอะเกินไป แสนสิริเองก็เคยเดินนโยบายผิดพลาด ก็ต้องยอมรับครับ กำไรก็ลดน้อยลง เราก็มีสต๊อกที่สูงขึ้น แต่เราก็จัดการกับสต๊อกไปเยอะแล้ว โชคยังดีที่เซ็กเมนต์บนคนไทยยังมีอัตราการออมที่สูงอยู่ เพราะฉะนั้นถ้ามีคอนโดฯเซ็กเมนต์บนราคาดี ๆ ลดราคา ลดแลกแจกแถมเยอะ ๆ ลูกค้าก็พร้อมที่จะควักเงินสดออกมาซื้อ”

ในแง่มุมของการบริหาร การปรับองค์กรแสนสิริในช่วงโควิด เศรษฐาบอกว่า อย่างหนึ่งที่ดีใจคือทุกคนเข้าใจถึงความลึกความมโหฬารของปัญหา มีการร่วมแรงร่วมใจกันเยอะ

เรื่องการปรับองค์กรไม่ได้ทำอะไรมาก แต่ทำเรื่องการที่ต้องดิ้นรน ต้องยอมรับสภาพที่ธุรกิจจะไม่ดีไปอีกระยะใหญ่ ๆ ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่เจอปัญหาหนักและใหญ่ขนาดนี้

ชมคลิป