“ภูมิใจไทย” ลุยสร้างกลไกราคาบุกบึงกาฬเมืองหลวงยางพารา กระตุ้นดีมานด์

“อนุทิน-ศักดิ์สยาม” บุกบึงกาฬ เมืองหลวงยางพารา กระตุ้นดีมานด์สร้างกลไกราคาตลาด

“อนุทิน-ศักดิ์สยาม-มนัญญา-ทรงศักดิ์” บุกเมืองพญานาค คิกออฟโครงการแบริเออร์-หลักนำทางยางพารา ถนนสา ย222 “ท่ากกแดง-บึงกาฬ” ลุยปักหมุดด่านซ้าย อุทัยธานี เตรียมของบฯ เดินหน้า ธ.ค.-ก.พ. 2564 เผยเป็นการกำหนดกลไกราคาตลาดให้เสถียร ขอร้องชาวสวนยางอย่าปลูกเพิ่ม หวั่นซัพพลายล้น ทำราคาตก

ผู้สื่อข่าวรายงานวันที่ 26 ก.ย.2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกนะทรวงคมนาคม นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

ได้เดินทางมายัง จ.บึงกาฬ เพื่อคิกออฟเปิดโครงการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนโดยนำ ”ยางก้อนถ้วย” ผลิต ”แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต” และ ”หลักนำทางยางธรรมชาติ” บนถนนสาย 222 ตอนท่ากกแดง-บึงกาฬ กม.125+330-126+700 ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดที่ 4 ต่อจาก จ.จันทบุรี สตูล และนครพนม

 

พ่อเมืองพญานาคขอบคุณรัฐบาล

นายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า จังหวัดตั้งมา 9 ปี เมื่อปี 2554 เป็นจังหวัดชายแดนติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามลำแม่น้ำโขง ยาว 120 กม. ประกอบด้วย 8 อำเภอ มีพื้นที่ 4,305 ตารางกิโลเมตร

ห่างจากกรุงเทพมหานคร 751 กม. อยู่ตรงข้ามกับเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ มีด่านสากล ไทย – ลาว (บึงกาฬ – ปากซัน) ที่เปิดบริการขนส่งสินค้าเข้า – ออกระหว่าง ประเทศมีมูลค่าการค้าชายแดนรวมในปี 2562 จำนวน 3,277.02 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) ปี 2561 มูลค่า 24,321 ล้านบาท รายได้ประชากร 67,476 บาท ต่อคนต่อปี

ยางพาราพืชเศรษฐกิจสำคัญ

มีโครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัด แยกเป็นภาคเกษตรกรรม 41.9% ภาคอุตสาหกรรม 22.19% และภาคบริการ 22.19% โดยมีพืชเศรษฐกิจหลักส้าคัญ คือ ยางพารา มีประชากร 400,000 กว่าคน มีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 1 ล้านไร่

จังหวัดบึงกาฬ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตามแผนพัฒนาจังหวัด ปี 2561 – 2565 มีวิสัยทัศน์ คือ ศูนย์กลางยางพารา การเกษตรก้าวหน้า การค้าอินโดจีน และท่องเที่ยว วิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง มีจุดเน้นการพัฒนา 3 ด้าน คือ 1.ศูนย์กลางการแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราด้วยนวัตกรรม 2.เมืองส่งเสริมการค้าชายแดน เพื่อการค้าและการลงทุน 3.การท่องเที่ยววิถีชีวิตแม่น้ำโขง

อีกทั้งบึงกาฬยังเป็นจังหวัดที่อยู่ระหว่างการเร่งรัดการพัฒนาให้เป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดน โดยได้วางแนวทางการพัฒนาจังหวัดในอนาคตตามนโยบายรัฐบาลตามแนวทาง 3 สร้าง คือ สร้างเมือง สร้างคน
สร้างรายได้

“และขอขอบคุณรัฐบาลที่ได้สนับสนุนผลักดันโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ จ.บึงกาฬ เช่น การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิค้าไซ) โครงการก่อสร้างสนามบินบึงกาฬ การก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงจ.อุดรธานี – บึงกาฬ และการพัฒนาตามผังเมืองรวมจังหวัดบึงกาฬ ให้เป็น Land mark ซึ่งจะทำให้การพัฒนาจังหวัด เจริญเติบโตมากยิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป“

แหล่งปลูกยางก้อนถ้วย

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภายหลังทำข้อตกลงร่วมกับกระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มสหกรณ์

“จ.บึงกาฬ มีสหกรณ์ผู้ปลูกยางพารา จำนวน 41 แห่ง สมาชิกจำนวน 10,216 ราย ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่จะเป็นยางก้อนถ้วย“

ปัจจุบันสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ได้เริ่มผลิตแผ่นยางธรรมชาติ ครอบกำแพงคอนกรีต (RFB) และผลิตหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) แล้ว จานวน 7 แห่ง ทั้งนี้ จะมีการขยายผลให้สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจ ชุมชน ให้มีความสามารถในการผลิตได้เพิ่มมากขึ้นในระยะที่ 2 ที่จะดำเนินการ ในปี 2564 – 2565 ต่อไป

นายศักดิ์สยามเปิดเผยว่า ดีใจที่กลับมาบึงกาฬอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นจังหวัดที่ก่อตั้งขึ้นเป็นจังหวัดที่ 77 โดยท่านชวรัตน์ ชาญวีรกูล สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผมเคยมีโอกาสมาร่วมพิธีเปิดจังหวัดบึงกาฬ เปิดงานโอท็อปภูมิภาค ผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว กับวันนี้แตกต่างกันมาก มีการพัฒนามากมาย มีรัฐมนตรีของจังหวัดตัวเองที่ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะเป็นคนที่พัฒนาบึงกาฬให้เจริญก้าวหน้าและทันสมัย

เมืองหลวงยางพารา

“บึงกาฬเป็นจังหวัดที่ปลูกยางพารามากที่สุดในประเทศไทย เป็นเมืองหลวงของยางพารา จะต้องมีโรงงานแปรรูปยางก้อนถ้วยรับซื้อจากชาวเกษตรสวนยางโดยตรง เพื่อนำมาผลิตเป็นแบริเออร์หุ้มยางพารา และหลักนำทาง ทำให้ราคาและความต้องการใช้ยางพารามีความเสถียรมากขึ้น ซึ่งโครงการนี้จะมาช่วยดูดซัพพลายยางพาราที่เกินในตลาด ทำให้เกิดกลไกการตลาดที่สมบูรณ์ แต่ขอร้องต้องไม่มีการปลูกยางพาราเพิ่ม ไม่งั้นราคาตกอีก“

ซึ่งรัฐบาลพยายามหาวิธีดูแลพี่น้องปลูกสวนยาง แต่ที่ผ่านมาไม่มีโครงการที่จะสามารถเพิ่มราคายางพาราได้อย่างพอดี ในปี 2561 มีใช้น้ำยางพารา 8.7 หมื่นตัน ในปี 2562 ใช้ 1.2 แสนตัน ท่านนายกรัฐมนตรีประกาศปี 2562 ให้ทุกหน่วยงานราชการคิดโครงการนำยางพาราไปใช้เพื่อเพิ่มปริมาณใช้นำยางพาราใน 3 ปี ตั้งแต่ 2563-2565 จะใช้ไม่น้อย 1 ล้านตัน เฉลี่ยปีละกว่า 3 แสนตัน และชาวสวนยางจะมีรายได้กว่า 3 หมื่นล้านบาท

จ่อของบก้อนที่ 2 ลุยต่อ ธ.ค.นี้

“รัฐบาลอนุมัติงบประมาณกัอนแรกให้แล้ว 2,700 ล้านบาท เพื่อดำเนินการนำยางพารามาหุ้มแบริเออร์และหลักนำทาง จะดำเนินให้เสร็จภายในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้ในช่วง 3 เดือนนี้มีการใช้ยางพาราประมาณ 4-5 หมื่นตัน และจะของบประมาณดำเนินการต่อไปในช่วงเดือน ธ.ค.-ก.พ. 2564 ส่วนเรื่องราคายางทางรัฐมนตรีช่วยมนัญญาจะลงมาแก้ไข ต้องให้ได้ราคาไม่น้อยกว่า 28-30 บาทต่อกิโลกรัม เสร็จจากบึงกาฬ จะไปคิกออฟโครงการที่อำเภอด่านซ้าย จ.เลย เป็นพื้นที่ที่ 5 และวันที่ 30 ก.ย. จะเป็นพื้นที่ จ.อุทัยธานี เพื่อเป็นการยืนยันว่ารัฐจะทำโครงการนี้อย่างจริงจัง เพื่อสร้างเสถียรภาพราคายางพารา” นายศักดิ์สยามกล่าว

เสี่ยหนูเผยเบื้องหลังดันโครงการ

นายอนุทินกล่าวว่า โครงการยางพาราที่กระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยกันผลักดันผ่านโครงการด้านความปลอดภัยทางถนน นอกจากจะทำให้ราคายางดีขึ้น ยังทำให้ประชาชนมีรายได้

“ผมกับรัฐมนตรีศักดิ์สยาม คลานเข่าเข้าไปขอนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการโครงการนี้ จนได้รับอนุมัติงบประมาณ”

เปิดแผน3ปีใช้งบฯ8.5หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการผลักดันโครงการใน 3 ปี (2563-2565) จะใช้เงินลงทุน 85,623 ล้านบาท ตั้งเป้าผลิตแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ 12,282.735 กม. จำนวน 83,421 ล้านบาท และหลักนำทางจากยาง 1.063 ล้านต้น วงเงิน 2,202 ล้านบาท คาดจำนวนเงินที่เกษตรกรจะได้รับ 3 ปี รวม 30,108 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณน้ำยางที่ใช้ 1 ล้านตัน เฉลี่ยปีละ 300,000 ตัน

สำหรับต้นทุนการผลิต ในส่วนของแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ มีต้นทุนที่ 3,140-3,757 บาท/เมตร โดยผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับอยู่ที่ 2,189.63-2,798.10 บาท/เมตร และคาดว่าเกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์คิดเป็นสัดส่วน 70-74%

ส่วนหลักนำทางธรรมชาติ มีต้นทุนอยู่ที่ 1,607-2,223 บาท/ต้น โดยผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับอยู่ที่ 1,162.58-1,778.18 บาท/ต้น และคาดว่าเกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์คิดเป็นสัดส่วน 72-80%