ตัดถนนใหม่ “เพชรเกษม” ทะลุ “วงแหวนใต้” ทุ่ม 1.7 หมื่นล้าน

กทม.ทุ่ม 1.7 หมื่นล้าน ตัดถนนสายใหม่โซนตะวันตก “พุทธมณฑล” ทะลุ “วงแหวนใต้” ผ่ากลาง “เพชรเกษม-บางบอน-พระราม 2-สุขสวัสดิ์” ยาว 20 กม. ขีดแนวเวนคืน 450 ไร่ ย่านภาษีเจริญ จอมทอง บางขุนเทียน ราษฏร์บูรณะ ทุ่งครุ เปิดพื้นที่ใหม่ขยายเมือง ทะลวงที่ดินตาบอด เชื่อมโครงข่ายครบวงจร กลางปีหน้าออก พ.ร.ฎ. เวนคืน

แหล่งข่าวจากสำนักการโยธากรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเวนคืนที่ดิน 426 แปลงในแนวถนนพุทธมณฑลสาย 1 นอกจากจะแก้ปัญหาการจราจรบริเวณจุดตัด 8 แห่ง ได้แก่ ถนนเพชรเกษม ถนนบางแวก ถนนชมรมบางเชือกหนัง ถนนบางพรมและถนนพัฒนา ถนนบางระมาดและถนนวัดอินทราวาส ถนนบรมราชชนนี ถนนสวนผัก ถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ ยังเป็นการรองรับกับโครงข่ายใหม่ที่จะสร้างในอนาคต ซึ่ง กทม.มีแผนจะก่อสร้างถนนสายใหม่ตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร “สาย ฉ1” และ “สาย ง21” เชื่อมถนนพุทธมณฑลสาย 1 บริเวณถนนเพชรเกษม ถนนพระราม 2 ถนนสุขสวัสดิ์ และถนนกาญจนาภิเษก

เชื่อมเพชรเกษม-วงแหวนฯ

เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายถนนสายหลักในแนวเหนือ-ใต้ จากถนนเพชรเกษมถึงโครงข่ายถนนวงแหวนอุตสาหกรรมและพัฒนาพื้นที่ปิดล้อมบริเวณถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถนนสุขสวัสดิ์ ถนนกาญจนาภิเษกด้านใต้ ด้านตะวันตก และถนนเพชรเกษม รวมถึงบรรเทาปัญหาการจราจรที่หนาแน่นบนถนนสุขสวัสดิ์ แยกดาวคะนองและแยกมไหสวรรย์ ถนนพระราม 2 ถนนเพชรเกษม ถนนราชพฤกษ์ ให้สามารถออกสู่ถนนกัลปพฤกษ์ ถนนเอกชัย ถนนพุทธบูชา ถนนประชาอุทิศ และถนนกาญจนาภิเษกหรือวงแหวนด้านใต้ ช่วยในการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งบริเวณพื้นที่ฝั่งธนบุรี เพิ่มเส้นทางเลือกในการเดินทาง

“ถนนสายใหม่นี้ จะเป็นโครงการใหญ่ของ กทม.ที่จะลงทุนในอนาคต เป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ย่านฝั่งธนบุรี เชื่อมกับวงแหวนด้านใต้และวงแหวนอุตสาหกรรมได้สะดวกมากขึ้น จากการศึกษาคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 17,200 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 9,200 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 8,000 ล้านบาท”

แนวแบ่ง 2 ช่วงสร้าง 7 ตอน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า แนวเส้นทางแบ่งเป็น 2 ช่วง ในช่วงแรกเป็นถนนจากเหนือลงใต้ มีจุดเริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อระหว่างจากถนนเพชรเกษมกับถนนพุทธมณฑลสาย 1 จากนั้นแนวเส้นทางจะตัดลงใต้ผ่านถนนเทอดไท ถนนกัลปพฤกษ์ ถนนเอกชัย ถนนพระราม 2 ถนนพุทธบูชา ถนนประชาอุทิศ ไปบรรจบกับจุดตัดระหว่างถนนสุขสวัสดิ์กับถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ระยะทางประมาณ 13.5-16 กม. ส่วนช่วงที่ 2 จะเชื่อมกับโครงการในช่วงแรกและแนวถนนสาย ง21 หรือสาย ค3 เดิม แล้วไปสิ้นสุดโครงการบริเวณเชื่อมกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านใต้ ระยะทางประมาณ 4 กม. รวมระยะทางทั้งหมดกว่า 20 กม.

โดยออกแบบเป็นถนนขนาด 4-6 ช่องจราจร และก่อสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร บริเวณเกาะกลางถนน พร้อมระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง งานจราจร แบ่งการก่อสร้างเป็น 7 ตอน ได้แก่ 1.จากถนนเพชรเกษมถึงถนนกัลปพฤกษ์ ระยะทาง 3.4 กม. 2.จากถนนกัลปพฤกษ์ถึงถนนเอกชัย ระยะทาง 1.8 กม. 3.จากถนนเอกชัยถึงถนนพระราม 2 ระยะทาง 2 กม. 4.จากถนนพระราม 2 ถึงถนนพุทธบูชา ระยะทาง 3.8 กม. 5.จากถนนพุทธบูชาถึงถนนประชาอุทิศ ระยะทาง 3 กม. 6.จากถนนประชาอุทิศถึงถนนสุขสวัสดิ์ ระยะทาง 3.2 กม. และ 7.ถนนสาย ง21 จากถนนพุทธบูชาถึงถนนกาญจนาภิเษกด้านใต้ ระยะทาง 4.7 กม.

กลางปี 2564 สำรวจเวนคืน 450 ไร่

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน พ.ร.ฎ.เวนคืนผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2561 แล้ว กำหนดพื้นที่เวนคืนมีแขวงบางด้วน แขวงบางหว้า แขวงบางจาก แขวงคูหาสวรรค์ แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ แขวงบางขุนเทียน แขวงบางค้อ แขวงจอมทอง แขวงบางมด เขตจอมทอง แขวงแสมดำ แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน แขวงบางปะกอก แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ แขวงทุ่งครุ แขวงบางมด และเขตทุ่งครุ รอประกาศในราชกิจจานุเบกษาและงบประมาณเวนคืนและก่อสร้างโครงการ คาดว่า พ.ร.ฎ.จะประกาศใช้กลางปี 2564

“ปีหน้าเมื่อ พ.ร.ฎ.บังคับใช้แล้ว กทม.จะเข้าพื้นที่สำรวจการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อกำหนดแนวและยอดผู้ถูกเวนคืนที่ชัดเจน จากเดิมที่ตรวจสอบอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในแนวเขตเวนคืน มีที่ดินถูกเวนคืนมีทั้งหมด 1,887 แปลง คิดเป็นเนื้อที่ 450 ไร่ และสิ่งปลูกสร้าง อีกจำนวน 1,431 รายการ”

เจรจาปรองดองแล้ว 120 ราย

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ กทม.อยู่ระหว่างเจรจาปรองดองผู้ที่ถูกเวนคืนช่วงสุขสวัสดิ์-ประชาอุทิศ ระยะทาง 2 กม. ซึ่งมีที่ดิน 300 กว่าแปลง และสิ่งปลูกสร้าง 300 กว่ารายการ ค่าเวนคืน 2,000 ล้านบาท มีเจ้าของยินยอมให้รื้อถอนแล้ว 120 ราย และได้จ่ายค่าเวนคืนไปแล้ว 500 ล้านบาท

ล่าสุดขณะนี้ได้รื้อถอนบ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นตึกแถวและอพาร์ตเมนต์ นายสมาน ชันตะ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า พ.ร.ฎ.เวนคืนที่จะออกประกาศภายในกลางปี 2564 นั้น เพื่อให้ กทม.มีอำนาจเข้าไปสำรวจอสังหาริมทรัพย์ที่จะเวนคืน แต่การเวนคืนจริง ๆ ต้องรองบประมาณดำเนินการ รวมถึงงบประมาณก่อสร้างด้วย ซึ่งการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่จะต้องมีการเวนคืนแล้วอย่างน้อย 80% ถึงจะดำเนินการก่อสร้างได้