ผุดโครงข่ายใหม่ “ถนน-มอเตอร์เวย์” 5 โปรเจ็กต์ทางลัดเชื่อม “ภาคใต้” ไร้รอยต่อ

เดินสายมาหลายจังหวัด ล่าสุดวันที่ 23 ก.ย. 2563 “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บุกเมืองโอ่ง จ.ราชบุรี เกาะติดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งโซนตะวันตกในกลุ่ม 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ราชบุรี และเพชรบุรี เป็นเส้นทางพาดผ่านไปสู่พื้นที่ภาคใต้

หลัง “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี มีมติอนุมัติแผนพัฒนาปรับปรุงโครงข่าย เมื่อครั้งประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่หรือ ครม.สัญจรไปเมื่อเดือน พ.ย. 2562 และสั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดพัฒนาโครงการ เพื่อบรรเทาการจราจรถนนพระรามที่ 2 และถนนเพชรเกษมที่เป็นถนนสายเดียวรองรับการเดินทางไปยังภาคใต้

ต.ค.ชงมอเตอร์เวย์บ้านแพ้ว

“ศักดิ์สยาม” ฉายภาพว่า กรมทางหลวง (ทล.) มี 5 โครงการสำคัญ (ดูตาราง) จะเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางไปยังภาคใต้ มีปรับปรุงทางถนนพระรามที่ 2 ช่วงต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย เป็น 14 ช่องจราจร จะเสร็จ ธ.ค.นี้

จะสร้างมอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว 26 กม. วงเงิน 33,492 ล้านบาท จะใช้เงินกองทุนมอเตอร์เวย์มาก่อสร้าง เป็นทางยกระดับ 6 ช่องจราจรเชื่อมทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก จะเก็บเงินค่าผ่านทาง โดยใช้เทคโนโลยี AI หรือระบบ M-Flow ไร้ไม้กั้น จะเปิด PPP ให้เอกชนลงทุนงานระบบและบริหาร

“เริ่มสร้างช่วงบางขุนเทียน-ถนนเอกชัยแล้ว จะเสร็จปี 2565 ส่วนช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว อีก 16 กม. สั่งกรมทางหลวงเร่งจัดทำรายละเอียดเสนอ ครม.ต.ค.นี้ เมื่อได้รับอนุมัติจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดในปี 2567”

นครปฐม-ชะอำ สร้างทีละตอน

ยังมีมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ 109 กม. วงเงิน 79,008 ล้านบาท จะเปิดให้เอกชนลงทุน PPP มีจุดเริ่มต้นบริเวณชุมทางต่างระดับนครชัยศรีเชื่อมกับมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี แล้วมุ่งหน้าลงใต้ถึงแยกต่างระดับท่ายาง เป็นถนน 4 ช่องจราจร มีด่านเก็บเงิน 9 แห่ง เก็บค่าผ่านทางโดยระบบ M-Flow และมีที่พักริมทาง 5 แห่ง อยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการ จะก่อสร้างปี 2565-2568

“ประชาชน จ.เพชรบุรียังคัดค้าน มีแนวคิดจะแบ่งโครงการเป็น 2 ส่วน ช่วงแรกนครชัยศรี-เพชรบุรี เว้นส่วนที่ประชาชนค้านประมาณ 5 กม.ไว้ แล้วสร้างต่อจากเพชรบุรี-อ.ชะอำ ให้กรมทางหลวงทำความเข้าใจกับประชาชนอีกครั้ง หากไม่คัดค้านจะเดินหน้าทันที หากยังค้าน อาจเบี่ยงแนวใหม่ จะต้องศึกษา EIA เพิ่ม ใช้เวลาประมาณ 3 ปี”

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงกล่าวว่า เงินลงทุนมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ 79,006 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 60,709 ล้านบาท ค่าเวนคืน 18,297 ล้านบาท มีที่ดิน 3,416 แปลง 16,000 ล้านบาท สิ่งปลูกสร้าง 1,700 หลัง 1,361 ล้านบาท และต้นไม้ 735 ต้น 611 ล้านบาท โดยรัฐจะเวนคืนและให้เอกชนก่อสร้าง ติดตั้งระบบ และรับสัมปทานบริหารโครงการและพื้นที่เชิงพาณิชย์จุดพักรถ 30 ปี

เวนคืนวังมะนาวทะลวงแยก

นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า นอกจากนี้มีโครงการสร้างทางหลวงแนวใหม่ เชื่อมต่อสามแยกวังมะนาวพื้นที่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี-ทางหลวงหมายเลข 3510 พื้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี 36.8 กม. วงเงิน 3,042 ล้านบาท ได้รับงบประมาณปี 2564 ศึกษา EIA ใช้เวลา 1 ปี ในปี 2565 จะของบประมาณก่อสร้างต่อไป

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงกล่าวเสริมว่า โครงการนี้จะทะลวงจราจรต่างระดับสามแยกวังมะนาวเป็น 4 แยกต่างระดับ ลงทุน 3,042 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 2,650 ล้านบาท เวนคืน 392 ล้านบาท อยู่ระหว่างทำรายงาน EIA คาดว่าปี 2564 จะออกแบบรายละเอียดเสร็จ จากนั้นปี 2565 จะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน และเริ่มสร้างปี 2566 แล้วเสร็จปี 2568 จะเป็นเส้นทางลัดไม่ต้องผ่าน จ.เพชรบุรี

แบ่งสร้าง 3 ตอน 1.ช่วงสามแยกวังมะนาว-บ.หนองลังกา ระยะทาง 14.8 กม. ก่อสร้างเป็นทางแนวใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร รวมทางแยกต่างระดับ 2.ช่วง บ.หนองลังกา-บ.ห้วยศาลา ระยะทาง 7.1 กม. ตามแนวทางหลวงหมายเลข 3206 ขยายเป็น 4 ช่องจราจร และ 3.ช่วง บ.ห้วยศาลา-สี่แยกเข้า อ.หนองหญ้าปล้อง 14.9 กม. ตามแนวทางหลวงหมายเลข 3510 ขยายเป็น 4 ช่องจราจร

จ่อขยายสะพานแม่กลอง

นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า กรมทางหลวงยังมีโครงการปรับปรุงสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง หรือสะพานสิริลักขณ์ วงเงิน 700 ล้านบาท จากปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม เนื่องจากใช้งานมานานกว่า 65 ปี จึงต้องซ่อมบำรุง โดยเนื้องานที่จะดำเนินการคือขยายถนนจาก 1 เป็น 2 ช่องจราจร ความยาวรวม 276 เมตร ได้รับงบประมาณสำรวจออกแบบและศึกษา EIA ในปี 2564 จะก่อสร้างปี 2566 เสร็จปี 2568 ทั้งนี้ให้กรมทางหลวงไปทำการบ้านเพิ่ม หากแยกส่วนสะพานออกมาจะขยายถนนในบริเวณเดียวกันให้เป็น 10 ช่องจราจรไป-กลับได้หรือไม่

หากทุกโปรเจ็กต์ฉลุยตามที่ “ศักดิ์สยาม” วาดแผนไว้ ในอนาคตคงจะได้เห็นการเดินทางสู่ภาคใต้แบบไร้รอยต่อ และปิดมหากาพย์ถนนเจ็ดชั่วโคตรได้อย่างแท้จริง