“คมนาคม” เร่งสปีดแลนด์บริดจ์-ท่าเรือบก หนุน EEC “ประยุทธ์” กำชับต้องรอบคอบ

ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“ศักดิ์สยาม” เผยวงประชุมส่งเสริมลงทุนอีอีซี “นายกฯ” กำชับ “แลนด์บริดจ์-ท่าเรือบก” หนุนอีอีซี ต้องรอบคอบ คาดทั้ง 2 โปรเจ็กต์ศึกษาเสร็จ 1 ปี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าการประชุมแนวทางการส่งเสริมการลงทุนใน EEC ในยุค New Normal กับนักลงทุน ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2563 มีข้อสั่งการถึงกระทรวงคมนาคมใน 2 ประเด็น ได้แก่

“แลนด์บริดจ์” ขอศึกษา 1 ปี

1.โครงการศึกษารถไฟทางคู่ช่วงระนอง – ชุมพร (แลนด์บริดจ์) วงเงินศึกษา 90 ล้านบาท พลเอกประยุทธ์ให้กระทรวงคมนาคมตรวจสอบประเด็นด้านกฎหมาย และให้เร่งศึกษาให้เสร็จโดยเร็ว รวมถึงให้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความจำเป็นของโครงการนี้ด้วย คาดว่าโครงการนี้จะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี

ท่าเรือบกของบปี 64 ศึกษา

2.การศึกษาจัดทำแผนพัฒนาท่าเรือบก (dry port) มีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ดำเนินการ ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบว่า สนข. กำลังศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับทำโครงการอยู่

โดยจะใช้เวลาในปี 2564 ศึกษา 1 ปี ซึ่งการจะทำท่าเรือบกปัจจัยสำคัญคือ จะต้องมีรถไฟเข้าถึงท่าเรือบก เพื่อให้เกิดความสะดวกในการขนส่งสินค้าและเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายโลจิสติกส์เข้าด้วยกัน

เพิ่มออปชั่น MR-MAP เสริม

ดังนั้น การศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับทำท่าเรือบก จะเน้นไปที่แนวโครงการรถไฟทางคู่เฟส 1-2 ที่กำลังก่อสร้างและอนุมัติเป็นสำคัญ แต่เนื่องจากรัฐบาลนี้มีนโยบายทำแผนแม่บทบูรณาการรถไฟทางคู่-มอเตอร์เวย์ (MR-MAP) จึงเพิ่มโจทย์ให้ สนข. กลับไปคิดเพิ่ม นอกจากรถไฟเข้าถึงแล้ว ท่าเรือบกที่ศึกษาไว้จะสามารถทำมอเตอร์เวย์เชื่อมเข้าไปอีกได้หรือไม่

ทั้งนี้เส้นทางมอเตอร์เวย์ไม่จำเป็นจะต้องสร้างแบบขนานคู่กับเส้นทางรถไฟตลอดช่วง หากมีพื้นที่อ่อนไหวหรือมีพื้นที่จำกัด ก็สามารถเบี่ยงออกไปได้ โดย สนข. รับโจทย์นี้ไปแล้ว

“ท่านนายกฯ พอได้ฟังแล้วก็กำชับกับผมว่า การก่อสร้างท่าเรือบกอยากให้ดูในหลายๆ มิติให้รอบคอบ นอกจากความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ต้องดูหลายๆ มิติให้ครบถ้วน ทั้งด้านกฎหมาย สิ่งแวดล้อม ความเดือดร้อนของประชาชน คู่กันไปด้วย” นายศักดิ์สยามกล่าว

สนข.เคาะ ”บ้านโพธิ์” นำร่องท่าเรือบก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ สนข. ได้เคาะพื้นที่จะดำเนินการท่าเรือบกแล้ว โดยจะนำร่อง ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 760 ไร่ เป็นพื้นที่เหมาะจะพัฒนาโครงการ เนื่องจากอยู่ห่างจากสถานีรถไฟดอนสีนนท์ ประมาณ 1 กม. สามารถเชื่อมต่อโครงข่าย กับทางหลวงหมายเลข 315 และทางหลวงชนบทหมายเลข 3122 เพื่อเป็นประตู การค้าอีอีซีและศูนย์กลางโลจิสติกส์เชื่อมโยงการขนส่งระบบรางทั้งในประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ตลอดจนโครงการรถไฟไทย-จีน

จะใช้เงินลงทุนรวม 14,506 ล้านบาท แบ่งการพัฒนา 4 ส่วนหลัก 1.พื้นที่ส่วนกลาง ประกอบด้วย อาคารสำนักงานกลาง, โรงอาหาร, อาคารพักสินค้าตกค้าง, อาคารตรวจสอบเอกซเรย์ พร้อมด้วยจุดพัก ซึ่งประกอบด้วยปั๊มน้ำมันและปั๊มก๊าซ, ลานจอดพักรถเทรลเลอร์ และร้านค้าต่าง ๆ

2.พื้นที่สถานีขนส่งสินค้าคอน เทนเนอร์ ประกอบด้วย ลานกองตู้คอนเทนเนอร์, โรงซ่อม, ลานทำความสะอาดตู้, โรงอาหาร, อาคารปฏิบัติการ, อาคารสำนักงาน, จุดคัดแยกและบรรจุสินค้ารวมทั้งโรงพักสินค้า

3.โครงข่ายถนนเชื่อมต่อเข้า-ออกโครงการ และ service road  ประกอบด้วย ทางแยกต่างระดับขนาด 2 ช่องจราจรเชื่อมโครงการกับทางหลวงหมายเลข 315, ถนนขนาด 6 ช่องจราจร บริเวณภายในและเข้า-ออกโครงการ, ถนน บริการ ขนาด 2 ช่องจราจร สำหรับอำนวยความสะดวกกับประชาชนในพื้นที่รอบ ๆ โครงการ

และ 4.ทางรถไฟเชื่อมต่อเข้าพื้นที่โครงการและพื้นที่สถานีรถไฟ ประกอบด้วย อาคารสถานีรถไฟดอนสีนนท์ และหอสูงตรวจการณ์ พร้อมอาคารสำนักงาน โดยโครงการจะก่อสร้างทางเชื่อม รางรถไฟเข้ามาในพื้นที่ ICD เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการขนถ่ายสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ทั้งขาขึ้นและขาล่อง

รูปแบบการลงทุนโครงการ จะให้สัมปทานเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ดำเนินงาน และบำรุงรักษา ระยะเวลา 30 ปี หลังเปิดดำเนินการในปีแรกคาดการณ์มีปริมาณตู้สินค้าที่เข้ามาใช้บริการ จำนวน 500,000 ทีอียู และเพิ่มขึ้นเป็น 1.9 ล้านทีอียู ในปีที่ 30 และให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจอยู่ที่ 15%