“บิ๊กตู่” ไฟเขียวตั้ง “บริษัทลูก” บริหารที่ดินการรถไฟฯ 3.9 หมื่นไร่ ล้างหนี้แสนล้าน

แฟ้มภาพประกอบข่าว

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) แถลงผลการประชุม คนร.ครั้งที่ 4/2560 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ว่า คนร.ได้รับทราบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง ดังนี้

1.การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดย คนร.มีมติเห็นชอบจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารสินทรัพย์ของ รฟท.เพื่อบริหารที่ดินของ รฟท.ทั้งหมดกว่า 3.9 หมื่นไร่ โดยเป็นที่ดินว่างเปล่า 2.5 หมื่นไร่ คาดว่าหากสามารถบริหารที่ดินดังกล่าวได้ภายในระยะเวลา 30 ปี จะมีกำไร 3 แสนล้านบาท เพียงพอที่จะสามารถชำระหนี้ให้ รฟท.ที่มีอยู่ 1 แสนล้านบาทได้ทั้งหมด ทั้งนี้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหาองค์กร ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน พิจารณารายละเอียดของแผนธุรกิจ (Modal Business) ต่อไป

นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเดินรถและซ่อมบำรุง (Operation & Maintenance) โครงการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบภารกิจให้บริษัทลูกพัฒนาในเรื่องบุคลากรเพื่อรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง

2.บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มีผลการดำเนินงานส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนที่กำหนด รายได้รวมใกล้เคียงกับเป้าหมาย และอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Cabin Factor) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของคู่แข่ง ทั้งนี้ คนร.ได้สั่งการให้เร่งนำระบบ Revenue Management System (RMS) และระบบ Network Management System (NMS) มาใช้ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และปรับกลยุทธ์ของการบินไทยฯ เชิงรุกมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับโอกาสจากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวและการปลดธงแดงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) พร้อมทั้งกำกับดูแลคุณภาพการให้บริการให้เหมาะสมด้วย

3.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) คนร.ให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เร่งกำหนดหลักเกณฑ์และเพิ่มจำนวนเส้นทางนำร่องการประมูลเส้นทางเดินรถใหม่สำหรับผู้ประกอบการและขอให้ ขสมก.เร่งดำเนินการจัดซื้อรถ NGV จำนวน 489 คัน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2561 นอกจากนี้ ขสมก.ได้เริ่มดำเนินการติดตั้งระบบ E-Ticket และระบบตรวจสอบและติดตามการเดินรถ (GPS) ในรถโดยสารปัจจุบันแล้ว และจะได้เชื่อมโยงระบบดังกล่าว ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการปรับองค์กรให้เป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) ของ ขสมก. และจัดทำแผนและให้ความสำคัญกับบุคลากรในช่วงเปลี่ยนผ่าน

4.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือไอแบงก์ มีความคืบหน้าการสรรหาพันธมิตรอย่างมากและสามารถลดต้นทุนเงินฝากได้ดีกว่าเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาสรรหาพันธมิตรประมาณ 13 ราย โดยต้องให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2561

5.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนและเป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยมีการปล่อยสินเชื่อ SMEs เป็นไปตามเป้าหมาย มีการควบคุมค่าใช้จ่ายต่อรายได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) สุทธิสูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อย อย่างไรก็ดีเอสเอ็มอีแบงก์ยังคงรักษา BIS Ratio ได้สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด นอกจากนี้ คนร.ได้ให้เอสเอ็มอีแบงก์จัดทำแผนขับเคลื่อนองค์กรระยะยาวเพื่อสร้างความเข้มแกร่งให้กับเอสเอ็มอีแบงก์ รวมทั้งปรับองกรให้เป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Transformation)

6.บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ.ทีโอที) และ 7.บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท) ได้จัดตั้งบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) ในการดำเนินธุรกิจเคเบิ้ลใยแก้วใต้น้ำและอินเตอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์ และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) ในการดำเนินธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ แล้วและสามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2560
นายเอกนิติกล่าวว่า นอกจากนี้คนร. เห็นชอบในหลักการการจัดตั้งบริษัทในเครือของบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด จำนวน 3 บริษัท เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนของแผนงานผลิตไฟฟ้าชุมชนจากชีวมวล โดยบริษัทในเครือดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและสร้างงานสร้างอาชีพ โดยการรับซื้อไม้ยางพาราจากประชาชนในพื้นที่เป็นลำดับแรกเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงแก้ปัญหาการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ไม่เพียงพอ ลดการพึ่งไฟฟ้าที่ผลิตจากภาคกลางและการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ โดยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำกับดูแลบริษัทในเครือที่จัดตั้งขึ้นให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีต่อไป

ทั้งนี้ คนร.เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมการและสร้างความเข้าใจในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. โดยมีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ประเด็นที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ .โดยให้จัดทำแผนและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่สาธารณชน รวมทั้งประสานงานกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในชั้นกรรมาธิการ ในการสร้างการรับรู้ให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าใจว่าร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ นี้เป็นการปฏิรูประบบการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจโดยยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ และไม่ได้มีผลเป็นการแปรรูป หรือถ่ายโอนทรัพย์สินไปยังภาคเอกชนแต่ประการใด โดยเฉพาะองค์กรด้านแรงงานและประชาชนให้เข้าใจแนวทางการปฏิรูปตามร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ ดังกล่าว


นอกจากนี้ คนร.ได้เห็นชอบแนวทางการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีองค์ประกอบเทียบเคียงกับร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ มีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ในการคัดเลือกบุคคลที่มีทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และสอดคล้องกับสมรรถนะหลัก (Skill Matrix) และนำเสนอ คนร.พิจารณาต่อไป