เปิดโผ “รับเหมา” ติดบ่วงรื้อแบบ สร้างมอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-โคราช”

มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช
มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช

งานเข้า “กรมทางหลวง” อย่างจัง หลัง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคมนาคม สั่งให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มอเตอร์เวย์สาย “บางปะอิน-นครราชสีมา” กรณีมีงานงอก 17 ตอน ต้องปรับแบบก่อสร้างใหม่ ทำให้งบฯก่อสร้างบานปลายร่วม 6,000 ล้านบาท

สาเหตุเกิดจากแบบก่อสร้างที่ “กรมทางหลวง” ออกไว้นานหลายปี ไม่มีการรีเช็ก ก่อนจะเสนอขออนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี แถมยังปล่อยเลยเถิดถึงขั้นตอนเปิดประมูลและได้ผู้รับเหมาก่อสร้างจนครบทั้ง 40 สัญญา

งานนี้ “ศักดิ์สยาม” ย้ำชัด หากกรมทางหลวงเคลียร์ปัญหา 17 สัญญาไม่จบ ยังไม่ไฟเขียวเซ็นสัญญา งานติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) กับกลุ่ม BGSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ราชกรุ๊ป

“17 ตอนที่ปรับแบบใหม่ในระหว่างก่อสร้าง เช่น บางพื้นที่สภาพพื้นที่เปลี่ยนไป มีบางแปลงสำรวจผิด กรมทางหลวงอยู่ระหว่างประเมินจะมีงบประมาณเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ แต่ไม่เกินจากกรอบวงเงินที่ยังเหลือ 10,000 ล้านบาทจากการประมูลครั้งที่แล้ว ให้สรุป ธ.ค.นี้ ถ้าเป็นการทำงานเพิ่มคงไม่ให้เพิ่ม ต้องประมูลใหม่ในส่วนที่ออกแบบใหม่ ให้ดูอย่างละเอียด เพราะหากเซ็นไปแล้ว ส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ก็โดนฟ้องอีก” นายศักดิ์สยามกล่าว

เมื่อพลิกดูรายชื่อรับเหมาที่ได้งานก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ทั้ง 40 สัญญา วงเงินรวม 59,409 ล้านบาท ประกอบด้วย บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำนวน 4 สัญญา วงเงิน 6,251 ล้านบาท, บมจ.ช.การช่าง จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 3,926 ล้านบาท, บจ.กรุงธนเอ็นจิเนียริ่ง จำนวน 3 สัญญา วงเงิน 5,536 ล้านบาท, บจ.บัญชากิจ จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 3,412 ล้านบาท

บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำนวน 3 สัญญา วงเงิน 3,492 ล้านบาท, บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ จำนวน 3 สัญญา วงเงิน 2,585 ล้านบาท, บจ.ส.เขมราชอินดัสตรี้ วงเงิน 1,040 ล้านบาท, บจ.เอส เทค ซีวิล แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 3,256 ล้านบาท บจ.ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 2,432 ล้านบาท

หจก.กิจรุ่งเรืองก่อสร้าง จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 3,092 ล้านบาท, หจก.แพร่วิศวกรรมก่อสร้าง วงเงิน 1,240 ล้านบาท, บจ.ธาราวัญ วงเงิน 1,580 ล้านบาท, บจ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 3,097 ล้านบาท, บจ.แสงชัยโชค 1,385 ล้านบาท, บจ.บุญชัยพาณิชย์ (บริษัทลูกซีวิลฯ) จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 3,071 ล้านบาท, บจ.ทิพากร จำนวน 3 สัญญา วงเงิน 4,126 ล้านบาท, หจก.บุรีรัมย์ก่อสร้าง จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 3,441 ล้านบาท, หจก.เอส.พี.ที. ซีวิล กรุ๊ป วงเงิน 1,419 ล้านบาท และ บจ.ยิ่งเจริญบุรีรัมย์ จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 3,382 ล้านบาท

ปัจจุบันสร้างเสร็จแล้ว 17 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 7-12 ตอนที่ 25-31 ตอนที่ 33 ตอนที่ 35-37 ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 23 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1-6 มี บมจ.ซิโน-ไทยฯ บมจ.ช.การช่าง บจ.กรุงธนเอ็นจิเนียริ่ง และ บจ.บัญชากิจเป็นผู้ก่อสร้าง

ตอนที่ 13-24 มี บจ.ส.เขมราชอินดัสตรี้ บจ.เอส เทค ซีวิลฯ บจ.ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง บมจ.ซิโน-ไทยฯ บจ.กรุงธนเอ็นจิเนียริ่ง บจ.บัญชากิจ หจก.กิจรุ่งเรืองก่อสร้าง หจก.แพร่วิศวกรรมก่อสร้าง เป็นผู้ก่อสร้าง

ตอนที่ 32 มี บจ.ทิพากร เป็นผู้ก่อสร้าง ตอนที่ 34 มี หจก.บุรีรัมย์ก่อสร้าง เป็นผู้ก่อสร้าง ตอนที่ 38-40 มี หจก.เอส.พี.ที. ซีวิล กรุ๊ป และ บจ.ยิ่งเจริญบุรีรัมย์ เป็นผู้ก่อสร้าง

ล่าสุดงานก่อสร้างคืบหน้าแล้วประมาณ 85-90% ถึงแม้จะมีอุปสรรคระหว่างทาง แต่มีเสียงยืนยันจาก “สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง จะเปิดทดลองใช้ปลายปี 2565 และเปิดอย่างเต็มรูปแบบในปี 2566 อย่างแน่นอน