ธ.ค. “ประยุทธ์” ตัดริบบิ้นเปิดวิ่งรถไฟฟ้าสายสีทอง ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย

รถไฟฟ้าสายสีทอง

“อัศวิน” เทียบเชิญ “ประยุทธ์” ตัดริบบิ้นรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีทองกลาง ธ.ค.นี้ ไม่มีนั่งฟรีเก็บโลด 15 บาทตลอดสาย เผยคืบแล้วกว่า 96% ส่วนต่อขยาย “ประชาธิปก” รอยอดผู้โดยสารถึงเป้า 4.2 หมื่นคนเที่ยว/วันและสายม่วงใต้ลงเสาเข็ม

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 ต.ค. 2563 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง ระยะที่ 1 ช่วงสถานีกรุงธนบุรี-สถานีสำนักงานเขตคลองสาน ระยะทาง 1.8 กม.

โดยมีผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง ผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และ ผู้บริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมให้การต้อนรับ ณ สถานีกรุงธนบุรี เขตคลองสาน

สร้างคืบหน้า 96%

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ที่ กทม. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขณะนี้การก่อสร้างและติดตั้งระบบในภาพรวมมีความก้าวหน้า 96% แบ่งออกเป็นความก้าวหน้างานโยธา 98% และความก้าวหน้างานระบบการเดินรถ 92%

ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การจัดส่งขบวนรถและอุปกรณ์ต่างๆ ล่าช้า รวมทั้งมีการปรับปรุงแบบทางขึ้นลงสถานีให้ตรงตามความต้องการของชุมชน

เชิญ “บิ๊กตู่” มาเปิด เก็บค่าโดยสารทันที

ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดการเปิดให้บริการจากเดิมที่กำหนดไว้ในเดือน ต.ค. 2563 เป็นกลางเดือน ธ.ค.นี้ โดยได้เชิญ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในพิธีแล้ว และจะเก็บค่าโดยสารทันทีที่เปิดให้บริการ

“ค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายนี้จะอยู่ที่ 15 บาทตลอดสาย เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับชาวกรุงเทพฯ โดยเฉพาะประชาชนในย่านฝั่งธนฯ ที่จะมีทางเลือกในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น“

โดยเฉพาะบริเวณสถานีคลองสาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการหลายแห่ง อาทิ โรงพยาบาลตากสิน สำนักการศึกษา สำนักงานเขตคลองสาน และ สน.ปากคลองสาน จะช่วยให้การเดินทางมาติดต่อราชการของประชาชนสะดวกมากขึ้น

นอกจากนี้รถไฟฟ้าสายสีทองยังเชื่อมต่อการเดินทางระบบ ล้อ ราง เรือ รองรับผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีกรุงธนบุรี และเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีแดงในอนาคต รวมทั้งยังเชื่อมการเดินทางของประชาชนที่ใช้บริการเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย”

ต่อขยายประชาธิปกขอดูก่อน

ส่วนการก่อสร้างส่วนต่อขยายอีก 1 สถานีไปยังบริเวณประชาธิปก ระยะทาง 950 เมตร ต้องรอให้เปิดบริการสายสีทอง 3 สถานีก่อน เพื่อดูจำนวนผู้โดยสารว่าเป็นไปตามที่ประเมินไว้หรือไม่

อีกทั้งต้องรอดูว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ จะได้ก่อสร้างเมื่อไหร่ เพราะโครงการดังกล่าวจะมีผลให้รถไฟฟ้าสายสีทองมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนการก่อสร้างสูงมาก โดยคำนวณคร่าวๆ ตอนนี้อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวจาก กทม.เปิดเผยว่า โครงการนี้ กทม. ได้มอบหมายบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เป็นผู้ดำเนินการจ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นผู้เดินรถในระยะเวลาสัญญา 30 ปี ซึ่งไม่ได้ใช้งบประมาณของภาครัฐ แต่ใช้รายได้ล่วงหน้าจากการให้สิทธิ บจ.สยามพิวรรรธน์ เจ้าของโครงการไอคอนสยาม ใช้พื้นที่โฆษณาบนรถไฟฟ้า วงเงิน 2,000 ล้านบาท มาลงทุนก่อสร้างโครงการและจ้างเดินรถดังกล่าว

จอดป้าย 3 สถานี

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง มีระยะทางรวม 2.75 กิโลเมตร 4 สถานี วิ่งตามแนวถนนกรุงธนบุรี ถนนเจริญนคร และถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ระยะ

โดยในปัจจุบันเป็นการดำเนินการระยะที่ 1 ระยะทาง 1.80 กิโลเมตร ประกอบด้วย สถานีกรุงธนบุรี (G1)  สถานีเจริญนคร (G2) และสถานีคลองสาน (G3)

เป็นระบบรถไฟฟ้าเป็นระบบ Automated Guideway Transit (AGT) หรือระบบขนส่งมวลชนแบบนำทางอัตโนมัติ หรือรถไฟฟ้าระบบ Automated People Mover (APM) เป็นระบบล้อยาง

โดยรถที่นำมาใช้เป็นรถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia APM 300 ความเร็วสูงสุดที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จำนวน 3 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ ความจุผู้โดยสาร 138 คน/ตู้ ตู้รถไฟฟ้ามีความกว้าง 2.8 เมตร ความยาว 12.75 เมตร ความสูง 3.5 เมตร ประตูมีความกว้าง 1.9 เมตร ความสูงของพื้นรถ 1.1 เมตร  คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารเมื่อเปิดให้บริการ อยู่ที่ประมาณ 42,000 เที่ยว-คน/วัน