ขยาย “ชัยพฤกษ์” เป็น 10 เลน ลุยประมูลซ่อมสร้างถนน 4.8 หมื่นล้าน

เมืองโตไม่หยุด “ทางหลวงชนบท” ขยาย ”ชัยพฤกษ์” เป็น 10 เลน ลุยประมูลซ่อมสร้างถนน 4.8 หมื่นล้าน

ครบรอบ 18 ปี กรมทางหลวงชนบท สานต่อภารกิจทั่วประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจไทย กางแผนใช้งบปี’64 กว่า 4.8 หมื่นล้าน เปิดประมูลกว่า 5 พันสัญญา ขยายชัยพฤกษ์ 10 เลน เทงบหนุน EEC เปลี่ยนถนนลูกรังเป็นถนนลาดยาง เร่งโครงข่ายเชื่อมภาคใต้ แหล่งท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2563 กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ครบวันก่อตั้งครบรอบ 18 ปี โดยนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ปัจจุบันกรมมีถนนโครงข่ายในความรับผิดชอบทั่วประเทศ จำนวน 3,267 สายทาง ระยะทางรวม 47,960 กม.

ปี’63 เบิกจ่ายงบ 82%

โดยในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 45,138.6288 ล้านบาท ล่าสุดเบิกจ่ายไปแล้ว 37,426.4840 ล้านบาท คิดเป็น 82.91% มีโครงการที่ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ อาทิ ถนนทางหลวงชนบทสาย นย.3001 แยก ทล.305 – บ้านบางน้ำเปรี้ยว จ.นครนายก, ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 32.975 กม.ใช้งบประมาณรวม 2,116.695 ล้านบาท, ถนนทางหลวงชนบทสาย รย.4058 แยก ทล.3138 – ทล.344 อ.บ้านค่าย, วังจันทร์ จ.ระยอง ระยะทาง 32.807 กม.ใช้งบประมาณรวม 159.948 ล้านบาท

ถนนสาย จ1 และ จ2 ผังเมืองรวมเมืองพะเยา และสาย ค ผังเมืองรวมชุมชน มหาวิทยาลัยพะเยา และถนนส่วนต่อเชื่อมทางเลี่ยงเมือง จ.พะเยา ระยะทาง 8.899 กม.ใช้งบประมาณรวม 473.811 ล้านบาท, ถนนสาย ค ผังเมืองรวมเมืองนครสวรรค์ (บริเวณถนนมหาเทพ) จ.นครสวรรค์ ระยะทางรวม 1.855 กส.ใช้งบประมาณรวม 93.700 ล้านบาท

สะพานข้ามทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1014 แยก ทล.4 – บ้านเขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ใช้งบประมาณรวม 162.442 ล้านบาท และสะพานข้ามทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับถนนสาย พบ.1016 แยก ทล. 4 – บ้านปึกเตียน ต.หนองจอก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ใช้งบประมาณรวม 135.568 ล้านบาท

เร่งถนนเลียบชายทะเลภาคใต้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น ถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ ถนนทางหลวงชนบทสาย ชพ.4012 แยก ทล.4198 – เทศบาลปากน้ำหลังสวน อ.ทุ่งตะโก, หลังสวน จ.ชุมพร ระยะทาง 23.589 กม. ใช้งบประมาณรวม 195.478 ล้านบาท

ถนนทางหลวงชนบทสาย ชพ.4008 แยก ทล.4001 – บ้านโพธิ์แบะ อ.เมือง จ.ชุมพร ระยะทางรวม 24.569 กม. ใช้งบประมาณรวม 180.780 ล้านบาท ทั้งสองโครงการ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จกลางปี 2564

รวมทั้งยังมีโครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.7 – ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ระยะทางรวม 10.570 กม. ใช้งบประมาณรวม 1,499.2550 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จต้นปี 2564

ก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 แยก ทล.314 – ลาดกระบัง จ.ฉะเชิงเทรา, กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 20.329 กม.ใช้งบประมาณรวม 3,712.8090 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2563 เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนต่อไป

เปิดโผโครงการได้งบปี’64

สำหรับในปีงบประมาณ 2564 ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 48,789.8421 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการตามภารกิจและนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ ถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางหรือคอนกรีต ถนนเพื่อการแก้ไขปัญหาจราจรในปริมณฑลและภูมิภาค

ถนนในเขตผังเมืองรวม, ถนนสนับสนุนการท่องเที่ยว, ถนนเพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้, ถนนเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่ง, ถนนเพื่อสนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยมีการก่อสร้างจากถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางหรือคอนกรีต จำนวน 365 โครงการ ระยะทาง 834.620 กม.

สะพานคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วประเทศ จำนวน 222 โครงการความยาวรวม 18,517 เมตร ตลอดจนงานซ่อมบำรุงโครงข่ายทางหลวงชนบททั่วประเทศและอำนวยความปลอดภัยทางหลวงชนบท เป็นต้น

ขยายชัยพฤกษ์เป็น 10 เลน

ส่วนโครงการสำคัญในปีงบประมาณ 2564 เช่น ขยายถนนราชพฤกษ์ จ.นนทบุรี ระยะทาง 6.800 กม.งบประมาณ 903 ล้านบาท, ถนนสายแยก ทล.3452 – สี่แยกบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี (ตอนที่ 1) ระยะทาง 7.2 กม.งบประมาณ 900 ล้านบาท

ถนนสายแยก ทล.3452 – สี่แยกบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี (ตอนที่ 2) ระยะทาง 18.456 กิโลเมตร งบประมาณ 900 ล้านบาท, ถนนสาย สป.4002 แยก ทล.3344 – บ้านบางพลีใหญ่ อ.เมือง,บางพลี จ.สมุทรปราการ ระยะทาง 8.192 กม. งบประมาณ 793.400 ล้านบาท

ถนนสายแยก ทล.1020 – บ้านกิ่วแก้ว อ.เทิง,จุน จ.เชียงราย,พะเยา ระยะทาง 43.709 กิโลเมตร งบประมาณ 1,200 ล้านบาท, ถนนสาย มห.3019 แยก ทล.212 – บ้านบางทรายใหญ่ อ.เมือง จ.มุกดาหาร ระยะทาง 14.211 กม.งบประมาณ 804.330 ล้านบาท

ถนนสาย ข1 ผังเมืองรวมเมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ ระยะทาง 1.925 กม. งบประมาณ 158.1 ล้านบาท, ถนนสาย ข9 ค3 ผังเมืองรวมชุมชนโคกกลอย – ท้ายเหมือง จ.พังงา ระยะทาง 4.229 กม.งบประมาณ 330 ล้านบาท เป็นต้น

หนุนรัฐใช้ยางพารา

รวมทั้งการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้เน้นย้ำในเรื่องการนำยางพารามาเป็นส่วนผสม ในอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยให้มากขึ้น

เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง พร้อมส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ ซึ่งมีโครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) เป็นการร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มแผ่นยางธรรมชาติ และหลักนำทางยางธรรมชาติ มาติดตั้งใช้งานจริงบริเวณพี้นที่ดังกล่าว

เพื่อสร้างความปลอดภัย ลดความสูญเสียในการใช้รถใช้ถนน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม เพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศึกษาและวิจัยพบว่ามี 2 ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณยางพาราเป็นส่วนผสมจำนวนมาก สามารถลดความรุนแรงของการชนปะทะได้ คือ “แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต” (Rubber Fender Barrier : RFB) และ “หลักนำทางยางธรรมชาติ” (Rubber Guide Post : RGP)

และได้กำหนดแผนการดำเนินโครงการ ในปีงบประมาณ 2563-2565 มีเป้าหมายการผลิต RFB ระยะทาง 12,282.74 กม.และ RGP จำนวน 1,063,651 ต้น โดยมีปริมาณการใช้ยางพาราจำนวน 1,007,951 ตัน

ซึ่งผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับมากถึง 70-80% คิดเป็นผลตอบแทนที่ได้รับ 30,108 ล้านบาท และจะมีการตรวจสอบเพื่อทดแทนการเสื่อมสภาพ หรือมีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุปกรณ์ดังกล่าว ต้องใช้ยางพาราในทุกปี ปีละไม่น้อยกว่า 336,000 ตัน

โดยกระทรวงคมนาคมได้ลงพื้นที่ เพื่อทำพิธีเปิดโครงการนำร่องดังกล่าวฯ ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว ณ จังหวัดจันทบุรี สตูล นครพนม บึงกาฬ เลย และอุทัยธานี

นายปฐมกล่าวอีกว่า ในปี 2564 มีโครงการใหม่เตรียมจะเปิดประมูลโครงการใหม่ทั่วประเทศกว่า 5,000 สัญญา จะทยอยตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้เป็นต้นไป