ตัดถนนใหม่ 3 สายใยแมงมุม ทุ่ม 3.6 หมื่นล้าน บูม “กทม.-นนท์-นครปฐม”

สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์
สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์

ปัจจุบันการขยายตัวของเมืองแผ่ออกทางด้านข้างจาก “แม่น้ำเจ้าพระยา” จะขยายไปยังพื้นที่โซนตะวันออก-ตะวันตกมากยิ่งขึ้น ตามการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทั้งถนน มอเตอร์เวย์ ทางด่วนและรถไฟฟ้าทำให้ต้องมีการพัฒนาโครงข่ายใหม่เพื่อต่อเชื่อมการเดินทาง

ล่าสุด “ทช.-กรมทางหลวงชนบท” มีแผนจะเวนคืนที่ดินก่อสร้างถนนและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอีก 5 โครงการ ต่อเชื่อมพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร รองรับการจราจรและการขยายตัวของเมืองโซนตะวันตกเชื่อมยังโซนตะวันออก

ถนนเชื่อมสะพานนนทบุรี 1-วงแหวน

เชื่อมสะพานนนท์ 1-วงแหวน

“ปฐม เฉลยวาเรศ” อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมมีแผนจะก่อสร้างถนนและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเสริมโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่กรุงเทพฯโซนตะวันตกและปรับปรุงถนนเดิม จำนวน 5 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนประมาณ 36,783 ล้านบาท จะเป็นโครงข่ายเชื่อมแนวตะวันออก-ตะวันตก ต่อขยายจากสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมกับวงแหวนรอบกลาง คือ ถนนราชพฤกษ์ และวงแหวนกาญจนาภิเษก ที่เป็นแนวเหนือ-ใต้ ในลักษณะตารางสี่เหลี่ยมใยแมงมุม

ประกอบด้วย โครงการต่อเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานนทบุรี 1 หรือสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์กับถนนกาญจนาภิเษก วงเงิน 4,032 ล้านบาท แยกเป็นค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 15 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 2,396 ล้านบาท เป็นที่ดิน 160 ไร่ จำนวน 340 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 220 รายการ และค่าก่อสร้าง 1,621 ล้านบาท

เป็นถนนสายใหม่ ขนาด 6-8 ช่องจราจร แนวเส้นทางจะต่อขยายถนนต่อเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณถนนนนทบุรี 1 ที่เปิดใช้ไปแล้วเมื่อปี 2558 มีจุดเริ่มต้นอยู่บริเวณทางแยกต่างระดับราชพฤกษ์เดิมบริเวณแยกวัดโบสถ์ดอนพรหม ตัดตรงไปจนเชื่อมกับถนนกาญจนาภิเษก บริเวณ กม.23+300 ห่างแยกต่างระดับบางใหญ่ 3.5 กม. และห่างจากต่างระดับบางคูเวียง 2 เมตร มีระยะทาง 3.827 กม.

เปิดพื้นที่ตาบอดโซนตะวันตก

ทั้งนี้ โครงการนี้ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว และเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินแล้ว โดยในรายละเอียดจะกำหนดพื้นที่ที่จะเวนคืนท้องที่ ต.บางกร่าง อ.เมืองนนทบุรี ต.บางเลน และ ต.บางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี พ.ศ. … หลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในปี 2564 กรมได้งบประมาณสำรวจแล้ว จากนั้นในปี 2565 จะของบประมาณเวนคืนที่ดินคาดว่าจะเริ่มประมูลก่อสร้างในปี 2566 แล้วเสร็จในปี 2568

จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรของพื้นที่ จ.นนทบุรี และกรุงเทพฯโซนตะวันตกได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบนถนนราชพฤกษ์ที่มีปริมาณจราจรเพิ่มขึ้น รวมถึงรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นจากการเจริญเติบโตของเมืองและลดขนาดพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่ (super block) ของพื้นที่ในกรอบถนนบางกรวย-ไทรน้อย ถนนนครอินทร์ ถนนบางใหญ่-บางคูลัด และถนนกาญจนาภิเษก และยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม

เร่งเวนคืนนครอินทร์-ศาลายา

นายปฐมกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มีโครงการถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์-ศาลายา จะใช้เงินลงทุน 9,200 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 4,600 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 4,600 ล้านบาท มีที่ดินถูกเวนคืน 1,370 แปลง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และสิ่งปลูกสร้าง 87 หลัง ซึ่งกรมได้รับงบประมาณปี 2564

สำรวจอสังหาริมทรัพย์แล้ว จะเริ่มเวนคืนในปี 2565 และก่อสร้างในปี 2566 แล้วเสร็จในปี 2568-ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินให้ ครม.อนุมัติ คาดว่าจะมีการพิจารณาภายในวันที่ 12 ต.ค.นี้ หากไม่ทันน่าจะเป็นครั้งถัดไป

รูปแบบเป็นถนนตัดใหม่ขนาด 6 ช่องจราจร พร้อมทางต่างระดับ 2 แห่ง ก่อสร้างตามแนวตะวันตก-ตะวันออก เป็นพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 90 ตร.กม. จะพาดผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ ได้แก่ อ.บางกรวย อ.บางใหญ่ ของ จ.นนทบุรี และ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ระยะทางรวม 12 กม.

เปิดโผแนวเส้นทาง

แนวเส้นทาง (ดูแผนที่) มีจุดเริ่มต้นบนทางหลวงชนบท สาย นฐ.5035 ช่วงด้านเหนือของเดอะรอยัลเจมส์กอล์ฟแอนด์สปอร์ตคลับ ห่างจากทางหลวงชนบท สาย นฐ.3004 (ศาลายา-บางภาษี) ประมาณ 1 กม. จากหมู่บ้านอาภากร และหมู่บ้านอาภากร 3 ไปทางทิศใต้ประมาณ 250 เมตร ทางทิศตะวันออกใกล้คลองนราภิรมย์ และทางแยกต่างระดับศาลายา สภาพการใช้ที่ดินโดยรอบเป็นอาคารพาณิชย์ ที่อยู่อาศัยและที่ว่าง

ตัดผ่านทางหลวงชนบท สาย นบ.5014 ข้ามคลองสามท้าว ตัดทางหลวงชนบท สาย นบ.1001 ข้ามคลองจีนบ่าย คลองขุนเจน โดยแนวเส้นทางจะอยู่ทางทิศเหนือของศูนย์พัฒนาชีวิตใหม่ แล้วแนวจะเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามคลองลาดละมุด ผ่านทางหลวงชนบท สาย นบ.5035 ใกล้กับทางแยกเข้าวัดบางม่วง ข้ามคลองโสนน้อย ผ่านทางหลวงชนบท นบ.1001 บริเวณซอยอินทนิล ผ่านพื้นที่โล่งด้านหลังหมู่บ้านศุภาลัยการ์เด้นวิลล์ ข้ามคลองบางนาและคลองประปา ก่อนเบี่ยงขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือผ่านพื้นที่ระหว่างหมู่บ้านมัณฑนา กับโครงการบ้านเอื้ออาทร บางกรวย (วัดพระเงิน)

โดยแนวจะอยู่ด้านทิศใต้ของวัดสุนทรธรรมิการาม ข้ามคลองหัวคู และเข้าบรรจบกับถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก บริเวณ กม.ที่ 11+997 เป็นจุดเชื่อมทางแยกต่างระดับบางคูเวียง ซึ่งสภาพการใช้ที่ดินปัจจุบันบริเวณโดยรอบจุดสิ้นสุดโครงการ มีอาคารพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย (หมู่บ้านกฤษณา) และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ คือ พลัสมอลล์ โลตัส

“ถนนสายนี้จะคู่ขนานกับสายนนทบุรี 1-วงแหวนฯ โดยมีสะพานพระราม 5 เป็นตัวเชื่อมการเดินทาง เมื่อเปิดใช้จะช่วยเพิ่มเติมโครงข่ายใหม่และเสริมประสิทธิภาพเส้นทางคมนาคม การจราจรที่ติดขัดพื้นที่กรุงเทพฯโซนตะวันตก ทั้งถนนกาญจนาภิเษก ถนนบรมราชชนนี”

ขยายแน่กัลปพฤกษ์-พุทธสาคร

นายปฐมกล่าวอีกว่า อีกโครงการส่วนต่อขยายถนนกัลปพฤกษ์-ถนนพุทธสาคร ระยะทาง 13.6 กม. วงเงิน 7,364 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 6,014 ล้านบาท ค่าเวนคืน 1,350 ล้านบาท มีที่ดินถูกเวนคืน 316 แปลงวงเงิน 1,140 ล้านบาท อาคารสิ่งปลูกสร้าง ถูกเวนคืน 137 หลัง วงเงิน 210 ล้านบาท เป็นถนนตัดใหม่ขนาด 6 ช่องจราจร เชื่อมกับถนนเดิม ทำให้จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดโครงการ จากเดิมเป็น 3 แยก จะเป็น 4 แยก เปิดพื้นที่ตาบอดให้มีการพัฒนา

แนวเส้นทางจะเริ่มต้นบริเวณจุดเชื่อมต่อถนนกัลปพฤกษ์ตัดกับถนนกาญจนาภิเษก มีจุดตัด 5 แห่ง ที่ถนนบางบอน 3, 4 และ 5 และถนนสาธารณะอีก 2 แห่ง และบรรจบกับจุดที่ถนนพุทธสาคร ตัดกับถนนเศรษฐกิจ ซึ่งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดโครงการออกแบบเป็นทางแยกต่างระดับ เชื่อมกับถนนสายหลักได้ทุกทิศทาง โดยไม่มีสัญญาณไฟจราจร จุดตัด 5 แห่งออกแบบเป็นสะพานข้ามทางแยก โดยด้านล่างจะเป็นทางแยกสัญญาณไฟจราจรพร้อมทางกลับรถ

“โครงการยังไม่ได้ขอจัดสรรงบประมาณ รออนุมัติอีไอเอและร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ต้องทำให้จบก่อนถึงจะเสนอขออนุมัติจาก ครม.เพื่อทำการสำรวจการเวนคืนที่ดินได้ คาดว่าจะตั้งงบประมาณในปี 2566 คงทำไม่ทันในปี 2565 เพราะกว่าการดำเนินการจะจบใช้เวลาเป็นปี แต่ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ก็ต้องสร้างเพราะช่วยบรรเทาจราจรบนถนนพระราม 2 และโดยรอบ ซึ่งถนนพุทธสาครจะต่อเชื่อมกับถนนพุทธมณฑลสาย 4 และถนนเศรษฐกิจ”

สะพานสนามบินน้ำ
สะพานสนามบินน้ำ

ปัดฝุ่นสะพานสนามบินน้ำ

นายปฐมกล่าวอีกว่า กรมยังได้งบประมาณปี 2564 จำนวน 930 ล้านบาท ขยายถนนชัยพฤกษ์ช่วงจากสะพานพระราม 4-กาญจนาภิเษก ระยะทางประมาณ 12 กม. จาก 6 ช่องจราจร เป็นถนน 10 ช่องจราจร เนื่องจากปัจจุบันการจราจรหนาแน่นมาก จากการที่เมืองมีการขยายตัวมายังโซนนี้ จะเริ่มประมูลและก่อสร้างภายในสิ้นปี 2563 นี้ แล้วเสร็จปลายปี 2565

อีกทั้งกรมยังได้งบประมาณปี 2564 เพื่อศึกษารีวิว โครงการก่อสร้างถนนและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสนามบินน้ำ โดยแนวคาดว่าจะไม่ต่างจากแนวเดิมที่ศึกษาไว้ แต่จะตัดสร้างช่วงแนวตะวันตก จากถนนกาญจนาภิเษกใกล้กับสถานีศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร (เดโป้) รถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) ข้ามถนนบางกรวย-ไทรน้อย ถนนราชพฤกษ์ แล้วสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสนามบินน้ำมาสิ้นสุดที่ถนนติวานนท์ ระยะทางประมาณ 13 กม. วงเงินลงทุน 15,257 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 4,199 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 11,058 ล้านบาท