ผลสำรวจรถไฟทั่วประเทศมีจุดตัด 2,684 แห่ง ผงะเป็น “ทางลักผ่าน” 621 แห่ง

เปิดข้อมูลเครื่องกั้นถนนจุดตัดรถไฟทั่วประเทศ พบจุดลักผ่านอื้อ 621 จุด สายใต้เสี่ยงสุด 424 จุด กรมรางเตรียมจ้างที่ปรึกษาทำโมเดลแก้ปัญหาจุดตัดถนนและทางรถไฟ ลดอุบัติเหตุในระยะยาว ด้าน”รองปลัดคมนาคม”แถลงด่วนวันนี้‪บ่าย 3 โมง‬

จากกรณีอุบัติเหตุรถไฟชนรถบัสโดยสาร บริเวณสถานีรถไฟคลองแขวงกลั่น ม. 7 ต.บางเตย อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2563 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 20 ราย โดยสาเหตุหนึ่งมาจากจุดที่เกิดเหตุเป็นทางลักผ่าน ไม่มีการทำที่กั้นรถไฟอย่างถูกต้องนั้น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” เปิดเผยข้อมูลสรุปเครื่องกั้นถนนเสมอระดับทางที่ตัดผ่านทางรถไฟตามเส้นทางรถไฟ จากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

ซึ่งสำรวจเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2562 พบว่า ในปี 2562 มีจุดตัดรถไฟทั่วประเทศทั้งสิ้น 2,636 จุด แบ่งเป็นเส้นทางรถไฟสายเหนือ 433 จุด , เส้นทางรถไฟสายอีสาน 561 จุด, เส้นทางรถไฟสายตะวันออก 440 จุด และเส้นทางรถไฟสายใต้ 1,202 จุด

ส่วนเครื่องกั้นทางรถไฟบริเวณจุดตัดนั้น ปัจจุบันในประเทศไทยแบ่งได้คร่าวๆ 3 แบบ โดยแบบที่ 1 มีพนักงานควบคุม (Class A. Manual Control) โดยเครื่องกั้นในลักษณะนี้ประกอบด้วยเครื่องกั้น 4 รูปแบบ

ได้แก่ 1.ควบคุมผ่านกล้องวงจรปิดโดยใช้ระบบไฟฟ้า , 2.เครื่องกั้นที่ทำงานด้วยไฟฟ้า, 3. เครื่องกั้นที่ทำงานมือหมุน และ 4.แบบเข็น ซึ่งในแบบที่ 1 นี้ทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 426 จุด แบ่งเป็นเส้นทางรถไฟสายเหนือ 95 จุด , เส้นทางรถไฟสายอีสาน 92 จุด , เส้นทางรถไฟสายตะวันออก 91 จึด และเส้นทางรถไฟสายใต้ 148 จุด

แบบที่ 2 ไม่มีพนักงานควบคุม (Class B. Automatic Control) แบ่งได้ 2 แบบ คือ 1. เครื่องกั้นชนิดคานอัตโนมัติ และ 2. เครื่องกั้นชนิดไฟสายอัตโนมัติ ซึ่งในแบบทีี 2 นี้ทั่วประเทศมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 973 จุด แบ่งเป็นเส้นทางรถไฟสายเหนือ 167 จุด, เส้นทางรถไฟสายอีสาน 288 จุด, เส้นทางรถไฟสายตะวันออก 122 จุด และเส้นทางรถไฟสายใต้ 396 จุด

และแบบที่ 3 เป็นป้ายจราจรที่ไม่มีระบบป้องกัน ซึ่งในรูปแบบนี้ทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 201 จุด แบ่งเป็นเส้นทางรถไฟสายเหนือ 18 จุด, เส้นทางรถไฟสายอีสาน 51 จุด, เส้นทางรถไฟสายตะวันออก 47 จุด และเส้นทางรถไฟสายใต้ 85 จุด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้ยังระบุต่ออีกว่า ยังมีจุดลักผ่านที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก ร.ฟ.ท.ให้ติดตั้งเป็นจุดตัดผ่านรถไฟอีก 620 จุด แบ่งเป็นเส้นทางรถไฟสายเหนือ 69 จุด, เส้นทางรถไฟสายอีสาน 73 จุด, เส้นทางรถไฟสายตะวันออก 54 จุดและเส้นทางรถไฟสายใต้ถึง 424 จุด

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมการขนส่งทางราง กำลังเปิดประมูลจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำโครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนทางรถไฟ โดยปัจจุบันมีจุดตัดทางถนนและทางรถไฟทั่วประเทศทั้งสิ้น 2,684 แห่ง เป็นจุดตัดต่างระดับ 406 แห่ง จุดเสมอระดับ 2,278 แห่ง โดยจุดตัดระดับดินได้รับอนุญาตมี 1,657 แห่ง จุดตัดเสมอระดับประเภทลักผ่าน 621 แห่ง

ทั้งนี้จากสถิติในช่วงระหว่างปี 2558-2562 พบว่ามีอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ เกิดขึ้น 383 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 138 ราย มีผู้บาดเจ็บ 371 ราย โดยในกรณีเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ส่งผลให้รถจักรหรือรถดีเซลรางได้รับความเสียหาย และตกราง ส่งผลกระทบต่อการเดินรถเนื่องจากต้องปิดซ่อมแซมทางรถไฟที่ได้รับความเสียหาย และเก็บกู้รถที่ตกราง

ส่งผลกระทบต่อการให้บริการผู้โดยสารและสินค้า ในภาพรวมของประเทศ สร้างความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สินและงบประมาณภาครัฐ และความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางถนนและทางรถไฟจะเพิ่มสูงขึ้น หากมีการพัฒนาระบบโครงข่ายระบบรางมากขึ้น

“ให้ที่ปรึกษาจัดทำแผนปฎิบัติการแก้ปัญหาอุบัติเหตุจุดต้ดทางถนนและทางรถไฟในระยะเร่งด่วน และออกแบบรายละเอียดการปรับปรุงกายภาพจุดต้ดทางถนนและทางรถไฟสำหรับจุดตัดที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำหรือที่มีความเสี่ยงที่จะต้องดำเนินการปรับปรุงไม่น้อยกว่า 34 แห่ง ที่สามารถนำไปใช้ในการก่อสร้างได้ จะมีประมาณค่าก่อสร้างและค่าอุปกรณ์ รวมถึงนำเสนอรูปแบบนวัตกรรมที่ช่วยแก้หรือลดปัญหา”


ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเวลา ‪15.00 น.‬ นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมจะจัดแถลงข่าวชี้แจงประเด็นนี้อีกครั้ง