ส่องสถาปนิก 2564-2565 ปรับตัว 360 องศาบนแรงกระเพื่อมโควิด

ภาพ Pixabay

โควิดเอฟเฟ็กต์ทำให้บิ๊กอีเวนต์วงการออกแบบสถาปัตยกรรมของเมืองไทยต้องว่างเว้นการจัดงาน 1 ปี เปลี่ยนมาจัดแบบย่อส่วนเป็น “ASA Building and Construction Forum 2020” แทนเมื่อวันพฤหัสบดี 8 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา หนึ่งในไฮไลต์มีการเสวนา “ทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563-2565” โดยมีวิทยากรรับเชิญที่เกี่ยวข้อง

รออนาคตไทยแลนด์เดสติเนชั่น

เริ่มจาก “ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า โลกเคยเจอปัญหาไข้หวัดสเปนระบาด (มีคนล้มตาย 500 ล้านคน) เมื่อนำโรคระบาดโควิด-19 เทียบกับไข้หวัดสเปน ปัจจุบันโลกมีประชากร 7,000 ล้านคน ติดเชื้อ 34 ล้านคน (ณ 8 ตุลาคม 2563) แต่ส่งผลกระทบอย่างมากมายมหาศาล

ก่อนโควิดเมกะเทรนด์โลกมุ่งไปในแนวทางการสร้างอินฟราสตรักเจอร์ โดยเฉพาะโครงการ One Belt One Road ของจีน คำถามคือหลังโควิดเมกะเทรนด์จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าการก่อสร้างแนวดิ่ง เส้นทางรถไฟฟ้า โปรเจ็กต์เมกะซิตี้-สมาร์ทซิตี้จะเกิดขึ้นแน่นอน

“แลนด์สเคปธุรกิจเปลี่ยน สินค้าคงทนกลุ่มก่อสร้าง บ้าน รถยนต์ จะโตปี 2563 คาดเศรษฐกิจติดลบ 7-7.5% ปีหน้า growth engine มีอะไรบ้าง”

มุมมองปีหน้าดีกว่าปีนี้ อาทิ แนวโน้มการบริโภคฟื้นกลางปีหน้า ผู้ประกอบการฟื้นไตรมาส 2/64 การก่อสร้างน่าจะฟื้นดีขึ้นปลายปี 2564-2565 นั่นหมายถึงความคาดหวังว่ารายได้จะกลับมาเท่าเดิมในยุคก่อนโควิดต้องรอถึงปี 2565 วันนี้สิ่งยากที่สุดคือการหาบิสซิเนสโมเดลใหม่

Advertisment

เมกะเทรนด์อีกเรื่องคือต่างชาติทั่วโลกมองประเทศไทยเป็นเดสติเนชั่นที่คนอยากมาลงทุน-ท่องเที่ยว-ออฟฟิศ เฉลี่ยต่างชาติใช้ชีวิตในเมืองไทย 1 คนอยู่ที่ 1 ล้านบาท ถ้าดึงมาเพิ่มได้ 10,000 คนจะเพิ่มได้ปีละ 10,000 ล้านบาท

รัฐเป็นเจ้าภาพเอกชนเป็นเจ้ามือ

ถัดมา the man behind “รังสิน กฤตลักษณ์” ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โควิดเป็นช่วงเวลาปิดร้านเพื่อซ่อม-สร้าง ช่วงนี้ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานรัฐบาลต้องเร่งรีบลงทุนเพราะใช้เวลานานในการก่อสร้าง

Advertisment

คำถามคือการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศต้องใช้เงินมหาศาล โมเดลนำเสนอคือ “ภาครัฐเป็นเจ้าภาพ ภาคเอกชนเป็นเจ้ามือ”

“หลังโควิดจะมีการขนส่งทั้งของและคนมหาศาล โลจิสติกส์เป็นการลงทุนที่สำคัญ ในด้านงบประมาณประเทศไทยต้องปรับทัศนคติใหม่ ต้องมาช่วยระดมคิดกันว่าทำยังไงได้ ถ้าปรับหน้าที่และบทบาทให้ภาครัฐเป็นเจ้าภาพ ภาคเอกชนเป็นเจ้ามือ จะทำให้สามารถขับเคลื่อนได้เลย บทบาทภาครัฐเป็น regulator ก็อย่าไปแข่งกับเอกชน บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนอินฟราสตรักเจอร์สร้างเสร็จเขาขนออกนอกประเทศไม่ได้นะครับ ต้องปรับมุมมองใหม่ เป็นเรื่องที่ฝากรัฐบาลครับ”

หนึ่งตำบล หนึ่งโบราณสถาน

“รังสิน” นำเสนอโมเดลโปรโมตการท่องเที่ยวระดับฐานราก โดยทำโครงการโอท็อปด้านการท่องเที่ยว “หนึ่งตำบลหนึ่งโบราณสถาน” ซึ่งพบว่าโบราณสถานอายุ 700 ปีมีจำนวนมากแต่ปัญหาก็เยอะ

“โรงภาษีร้อยชักสามมีอายุร้อยปีแล้ว ถูกใช้งานเป็นอย่างอื่น แต่ตัวโบราณสถานทรุดโทรมไป วันนี้เรามีโอกาสเข้าไปพัฒนาแค่ค่าพัฒนาให้กลับมาเหมือนวันแรกใช้เงิน 400 ล้านค่าบูรณะ ต้องเอาฐานรากใหม่ไปสอดใต้ตึกเพื่อเสริมความแข็งแรง เหมือนทำอาคารซ้อนอาคาร ในอนาคตถ้าสร้างเสร็จพื้นที่ริมน้ำจะยาว 80 เมตร ยังมีปัญหาอีกตอนน้ำท่วมใหญ่เจ้าพระยามีการยกเขื่อนสูง 120 ซม. บังตึกจึงต้องยกตึกให้สูงขึ้นไปอีก ไม่ได้พูดให้ตื่นเต้นแต่ต้องการให้เห็นว่าโบราณสถานค่าพัฒนาสูงมาก ค่าดูแลก็สูง”

โมเดล 1 ตำบล 1 โบราณสถาน ข้อจำกัดงบประมาณแผ่นดินถูกนำไปใช้พัฒนาด้านอื่น เป็นไปได้หรือไม่รัฐบาลดึงเอกชนมาช่วยสนับสนุน โดยรัฐซัพพอร์ตมาตรการภาษีเพื่อให้แจ้งเกิดโครงการได้

การลงทุนรัฐพระเอกกระตุ้น ศก.

คิวของ “ภาคภูมิ ศรีชำนิ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดประเด็นว่าโควิดทำให้จีดีพีตกต่ำแต่การลงทุนภาครัฐ ไตรมาส 2/63 บวก 10% แสดงว่าเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“เอกชนต้องห่วงสภาพคล่อง เซฟตัวเองก่อน รัฐลงทุนแล้วจะไปยังไงต่อ ใช้เวลาเท่าไหร่คนจะมีกำลังอุปโภคบริโภคเหมือนเดิม ในด้านอุตฯก่อสร้างในอีก 2 ปีหน้าเชื่อว่าเอกชนยังรอดูอยู่ ช่วงนี้ภาครัฐต้องลงทุนมากขึ้นแน่นอน”

แนะลงทุน R&D ขนานใหญ่

“ดร.ปริญญ์ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า โควิดต้องทำวิกฤตเป็นโอกาส จุดโฟกัสอยู่ที่การยกระดับวิจัยและพัฒนา (R&D-research & development)

มุมมอง 1.คนไทยชอบมองการวิจัยและพัฒนาเป็นคอสต์ ไม่มองเป็นการลงทุน ทำให้ประเทศไทยมีงานด้านนี้น้อยมาก 2.นักลงทุนเริ่มมองคุณภาพมากกว่าปริมาณ เช่น เราบอกจีดีพีประเทศสำคัญ ถ้าโฟกัสแต่จีดีพีเราตั้งเป้าผิดเพราะทำให้เกิดภาวะรวยกระจุกจนกระจาย มีความเหลื่อมล้ำสูง ต้องคิดใหม่ว่ามีตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น UN มี 17 ข้อ (UN sustainable development goal) สามารถนำมาปรับใช้ได้

“ในยุคที่รัฐบาลลดภาษีนิติบุคคล (corporate tax) จาก 30% เหลือ 20% พวกเรา บริษัททำอะไร สิ่งที่ทำคือจ่ายปันผลพิเศษแทนที่จะเอาส่วนต่างที่ประหยัดภาษีมาลงทุนกับ R&D มิติที่อยากเห็นบริษัทไทยทำมากขึ้น อยากให้คิดถึงมิติโลกที่เราจะโตระยะยาว สร้างคนจริง สร้างแรงงานจริง ทุกวันนี้สกิลเลเบอร์ยังเห็นน้อย อาจเพิ่มแน่แต่มีตัวชี้วัดเพราะไทยกำลังนับถอยหลังสู่สังคมสูงวัย แรงงานต่างด้าวในอนาคตมีน้อยลง ซึ่งประเทศลุ่มน้ำโขงโตกว่าเรา สถาบันการศึกษาไม่ง่าย เด็กเรียนจบใบปริญญาที่เป็น “มูลค่าใบเบิกทาง” อาจจะน้อยลง ทักษะเป็นสิ่งสำคัญมาก มหา’ลัย ภาครัฐต้องคิดถึงเรื่องนี้”

1 สถาปนิกออกแบบได้ทุกงาน

ตบท้ายด้วย “ชนะ สัมพลัง” นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ชูประเด็นการดีไซน์สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ พิสูจน์มาแล้วจากบางโปรเจ็กต์ที่ทำเลไม่เด่นแต่ตัวสร้างมูลค่าให้ทำเลคือการออกแบบ

“คนทั่วไปอาจไม่คิดขนาดนั้น แต่เบื้องหลังคนออกแบบมีสตอรี่ไลน์หมดเลย เป็นตัว draw คนก่อนเห็นของจริง ตัวอย่าง ทำโรงแรมหนึ่งต้องพูดถึงการอนุรักษ์เต่า สามารถนำเรื่องราวเล่าผ่านฟีเจอร์ได้ คอมมิวนิตี้มอลล์บางที่กลายเป็น popular check point ดังนั้น ช่วงโควิดน่าจะเกิดปัญหาที่เรียนรู้มา”

สำหรับมุมมองวงการสถาปนิก ต้องมองสองเรื่อง 1.เรื่องที่จะเห็นหลังจากนี้คือ “สภาพแวดล้อมใหม่” หลังยุคโควิด กับ 2.”สภาพคล่องการเงิน”

ยกตัวอย่าง กลุ่มบริษัท สถาปนิก A49 มีพนักงาน 600 คน โควิดทำให้การบริหารรายจ่ายต่อเดือนเรียกว่าหนัก บริษัทมีแผนธุรกิจ 1-2-3-4 รองรับการเคลื่อนตัว ปรับแผนการออกแบบ ปรับแผนงาน มีบริษัทมัลติพาส ทำบ้าน โรงแรม สนามบินได้หมด มีความยืดหยุ่นในการทำงานสูง แต่หลายบริษัทในประเทศไทยชำนาญด้านเดียว เช่น ชำนาญแต่คอนโดมิเนียม แต่วันนี้คอนโดฯหยุดหมด คำถามคือจะมูฟยังไง

“ช่วงล็อกดาวน์มีหลายโปรเจ็กต์ที่ผมทำงานกับต่างชาติ โควิดเป็น shocking situation หลายบริษัทไทยทำงานกับต่างชาติ เพราะไทยเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่นอกประเทศคือทะเลกว้างใหญ่ ต้องการคน ต้องการดีไซเนอร์เยอะ ถ้าเราทำได้ รู้เทคโนโลยี จะสามารถขยายศักยภาพไทยได้ดีมาก ๆ”

นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯกล่าวด้วยว่า ตลาดงานออกแบบในต่างประเทศเปิดกว้างอีกมาก มีความต้องการทักษะที่มากกว่าเป็นนักออกแบบ แต่สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย เช่น ทำงานกับอินเดีย จีน คนละแบบ เคยมีบางโปรเจ็กต์เร่งงานโดยมีข้อจำกัดเวลา โดยเจ้าของโครงการแจ้งว่าถ้าสถาปนิกไทยไม่สามารถทำได้มีสถาปนิกจีนหรืออินเดีย 1 ล้านคนที่รอคิวทำแทน

ในด้านคุณภาพสถาปนิกไทย มองว่าสถาบันการศึกษาเมืองไทยสอนเข้มข้น คนจึงมีคุณภาพ เพียงแต่ต้องต่อยอดต้องฝึกฝนตนเองและทักษะ เรียนรู้จากประสบการณ์ จะทำให้งานสถาปนิกนั้นมีคุณค่ามากขึ้น

สิ่งที่บริษัทสถาปนิกไทยต้องปรับตัว สำคัญที่สุดนาทีนี้คือต้องรับงานได้หลากหลาย ออกแบบได้ทั้งที่อยู่อาศัยและคอมเมอร์เชียล จะทำให้มีภูมิคุ้มกันเวลาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ