ทอท.รีโนเวต “สุวรรณภูมิ” ทุ่ม 3 หมื่นล้านพลิกวิกฤต

ผู้โดยสารสุวรรณภูมิยอดวูบ 90% ทอท.ทุ่ม 3 หมื่นล้าน ลุยซ่อมสร้างรันเวย์-แท็กซี่เวย์ ปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร ห้องน้ำใหม่ รองรับผู้โดยสารหลังเปิดประเทศ เสร็จ ต.ค. 65 เตรียมประมูลซ่อมถาวรทางวิ่ง ทางขับ 4.7 พันล้าน รีบจ่ายชดเชยผลกระทบเสียงหมื่นล้าน สร้างรันเวย์ 3 รับผู้โดยสาร 90 ล้านคนต่อปี

น.ท.สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดเผย“ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินทั่วโลก เพราะไม่มีการเดินทาง รวมถึงสนามบินสุวรรณภูมิด้วย ผู้โดยสารหายไปร่วม 90% คาดว่าผู้โดยสารจะกลับมาเป็นปกติเท่ากับปี 2562 มีผู้โดยสารอยู่ที่ 64.84 ล้านคนต่อปี ได้เร็วสุดภายในเดือน ต.ค. 2565

เจอโควิดเร่งลงทุน

ผลการดำเนินการในช่วง 11 เดือน ตั้งแต่ ต.ค. 2562-ส.ค. 2563 มีสายการบินประจำให้บริการ 111 สายการบิน มีเที่ยวบินที่ทำการบินขึ้น-ลงรวม 201,456 เที่ยวบิน ลดลง 42.18% มีผู้โดยสารใช้บริการรวม 30.10 ล้านคน ลดลง 49.81% มีปริมาณการขนส่งสินค้า 1 ล้านตัน ลดลง 22.68%

“จะอาศัยช่วงโควิดพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ซ่อมแซมและเร่งก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ภายในสนามบินสุวรรณภูมิที่เปิดใช้มา 14 ปี เพื่อเตรียมพร้อมรับผู้โดยสารที่จะกลับมาเป็นปกติอีก 2 ปีข้างหน้า ให้ผู้โดยสารจะผ่านเข้าออกได้เร็วขึ้น มีบริการที่จะสะดวกและทันสมัย”

ซ่อมถาวรทางวิ่ง ทางขับ

น.ท.สุธีรวัฒน์กล่าวอีกว่า ในเร็ว ๆ นี้จะซ่อมทางขับ (แท็กซี่เวย์) พื้นที่ส่วนประชิดอาคารและพื้นที่บริเวณหัวท้ายทางวิ่ง (รันเวย์) มีพื้นที่กว่า 7.7 แสนตารางเมตร ให้ใช้ได้ในระยะยาว 10-20 ปี ซึ่งครั้งนี้จะเป็นซ่อมถาวร เปลี่ยนจากพื้นผิวแอสฟัลต์ (ยางมะตอย) เป็นผิวคอนกรีต จะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,700 ล้านบาท

ล่าสุดปรับกรอบเวลาดำเนินการให้เร็วขึ้น จากเดิมแบ่งเป็น 4 ระยะ จะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. 2568 ปรับลดเหลือ 2 ระยะ จะแล้วเสร็จในเดือนมิ.ย. 2566 จะเปิดประมูลในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2563 แบ่งเป็น 2 สัญญาโดยสัญญาที่ 1 จะเริ่มดำเนินการในเดือน มี.ค. 2564-มี.ค. 2565 และสัญญาที่ 2 เริ่มดำเนินการในเดือน มิ.ย. 2565-มิ.ย. 2566

“วิธีการเราจะทยอยปิดพื้นที่ทีละส่วนในการซ่อมแซม จะไม่ปิดถาวรเลยทีเดียวเพื่อไม่ให้กระทบการให้บริการ ซึ่งปัจจุบันยังมีเที่ยวบินที่มาใช้บริการอยู่”

รีโนเวตอาคาร-ห้องน้ำ

น.ท.สุธีรวัฒน์กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน เพื่อลดความแออัด เช่น ปรับปรุงเคาน์เตอร์ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) วงเงินกว่า 1,000 ล้านบาท จากเดิมขาเข้ารองรับได้ 6,000 คนต่อชั่วโมง เป็น 8,200 คนต่อชั่วโมง และขาออกจากรองรับผู้โดยสารได้ 4,500 คนต่อชั่วโมง จะให้รับได้ 7,600 คนต่อชั่วโมง

เป็นการเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารถือวีซ่า VOA ยังติดตั้งตู้คีออสก์ (kiosk) ให้ผู้โดยสารเช็กอินด้วยตัวเอง วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563-ต.ค. 2564 ติดตั้งระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (CUPPS) เป็นระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง วงเงิน 8,619 ล้านบาทและทยอยปรับปรุงห้องน้ำใหม่ทั้งหมดให้สวยงาม วงเงินกว่า 100 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในปี 2566
ลุยสร้างรันเวย์ 3

“ตอนนี้กำลังเตรียมพื้นที่ก่อสร้างรันเวย์เส้นที่ 3 มี บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 9,700 ล้านบาท จะสร้างเสร็จในปี 2566 มีความยาว 4,000 เมตร ขนานกับรันเวย์ฝั่งตะวันตก จะเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร 90 ล้านคนต่อปี และ 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จะดำเนินการคู่ขนานกับการจ่ายชดเชยเสียงอีก 1 หมื่นล้านบาท”

น.ท.สุธีรวัฒน์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารมาใช้บริการเพิ่มเป็น 64 ล้านคนต่อปี เกินขีด
ความสามารถ 45 ล้านคนต่อปีไปแล้ว แม้ว่าในปี 2565 การพัฒนาเฟสที่ 2 จะแล้วเสร็จ เช่น เปิดบริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) จะทำให้รองรับได้ 60 ล้านคนต่อปี ก็ยังไม่เพียงพอต้องเดินหน้าพัฒนาระยะที่ 3 มีสร้างรันเวย์เส้นที่ 3 และอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้านเหนือ จะรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี

เฟส 2 เปิด ต.ค. 65

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กล่าวว่า ความคืบหน้าการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ในส่วนของอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 คืบหน้า 97% ระบบรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) คืบหน้า 72% กำลังทยอยรับรถให้ครบปลายปี 2563 เริ่มทดสอบและให้บริการในเดือน เม.ย. 2564 ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าคืบหน้า 75.5%

งานอาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออก ขณะนี้กำลังก่อสร้างโครงสร้างชั้นใต้ดินและพื้นชั้น 2, 3, 4 ของอาคารสำนักงาน และพื้นชั้น 6 จะแล้วเสร็จภายในปี 2563 และจะมีงานระบบประกอบอาคารของอาคารจอดรถ จะเสร็จสิ้นในเดือน เม.ย. 2564 คาดว่าจะทดสอบเตรียมความพร้อมจะทำการทดสอบระบบการปฏิบัติงานต่าง ๆ ร่วมกันแล้วเสร็จในเดือน เม.ย. 2565 เป็นช่วงพอดีกับที่คาดว่าธุรกิจการบินจะกลับมาเป็นปกติ

สภาพัฒน์ตีกลับ

สำหรับความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ด้านทิศเหนือ (north expansion) วงเงิน 42,084 ล้านบาท ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ตีกลับโครงการ และให้ ทอท.พัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิตามแผนแม่บทเดิม คือ ขยายอาคารผู้โดยสารปัจจุบันด้านตะวันออกและด้านตะวันตก เพื่อรองรับผู้โดยสารได้ฝั่งละ 15 ล้านคนต่อปีแทน เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรหนาแน่น

“ทอท.จะทำหนังสือชี้แจงสภาพัฒน์ถึงเหตุผลและความจำเป็น เพราะวันที่สภาพัฒน์พิจารณา ไม่ได้เชิญ ทอท.ไปชี้แจง หากชี้แจงแล้ว ถือว่าหมดหน้าที่ของ ทอท. ส่วนสภาพัฒน์จะพิจารณาเป็นอย่างไร ก็ว่ากันตามนั้น เราถือว่าดำเนินการอย่างเต็มที่แล้ว”

อาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือที่ ทอท.เสนอให้สภาพัฒน์พิจารณา จะรับผู้โดยสารในและต่างประเทศได้ 40 ล้านคนต่อปี มีพื้นที่อาคาร 348,000 ตร.ม. ช่องตรวจคนเข้าเมืองขาเข้า 82 เลน ขาออก 66 เลน สายพานลำเลียงกระเป๋า 17 สายพาน อาคารจอดรถ 3,000 คัน ประตูทางออกอาคารผู้โดยสาร 14 ประตู หากได้รับอนุมัติจากสภาพัฒน์ จะเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติเพื่อประมูลก่อสร้างต่อไป