ITD ลุยเดโป้ “ไฮสปีดไทย-จีน” สายสีแดง-ทางคู่สายใต้ “งบบาน-ล่าช้า”

รถไฟฟ้าสายสีแดง

“บอร์ดรถไฟ” เคาะ “ITD” สร้างเดโป้ไฮสปีดไทย-จีน 6.5 พันล้าน ขยายสัญญาระบบ 90 วัน หวั่น “จีน” ไม่พร้อมเซ็น 28-29 ต.ค.นี้ ลุ้น “บิ๊กป้อม” เคาะ EIA ก่อนลุยตอกเข็ม ผงะงบฯสายสีแดง “ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต” บานไม่หยุด ยืดทางคู่ “ประจวบฯ- ชุมพร” อีก 15 เดือน เลื่อนเปิดปี’66

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.วันที่ 15 ต.ค. 2563 เห็นชอบผลประมูลรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา งานสัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ที่มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด6,573 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 16.16% หรือ 1,091 ล้านบาท หลังจากนี้จะเซ็นสัญญา เพราะไม่ติดรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

“งานโยธา 14 สัญญา เหลือสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ยังไม่ประมูล อยู่ระหว่างการออกแบบโครงสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน”

ส่วนสัญญาอื่น ๆ ก่อสร้างแล้ว 2 สัญญาได้แก่ สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. แล้วเสร็จ 100% และสัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. มี บจ.ซีวิลเอ็นจิเนียริงเป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 39.29% ล่าช้ากว่าแผน 47.98% รอเซ็นสัญญา 9 สัญญา อาทิ สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า รวม 30.21 กม. มี บจ.ไทยเอ็นจิเนียริ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 9,330 ล้านบาท ซึ่งสัญญานี้อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง EIA และมีการอุทธรณ์ผลการประมูลด้วย

นอกจากนี้บอร์ดยังมีมติขยายเวลาสัญญา 2.3 งานวางรางและระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท ของรถไฟไทย-จีน ออกไปอีก 90 วัน จากเดิมวันที่ 31 ต.ค.นี้ เป็นเดือน ม.ค. 2564 โดยเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 10/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินการ โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พิจารณาตามขั้นตอน จะเร่งให้ได้ก่อนวันที่ 31 ต.ค.นี้

“สาเหตุที่ยืดเวลามาจากการที่บอร์ดเห็นว่าการกำหนดวันเซ็นสัญญาวันที่ 28-29 ต.ค.นี้ยังไม่แน่นอน เพราะโควิด-19 ยังแพร่ระบาด ต้องรอดูท่าทีของประเทศจีน ว่าพร้อมเซ็นสัญญาตามวันเวลาดังกล่าวหรือไม่”

ส่วนการพิจารณาเปลี่ยนแปลงรายละเอียดรายงาน EIA ช่วงบางซื่อ-ชุมทางบ้านภาชี รอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะประชุมเพื่อพิจารณาในสัปดาห์หน้า

บอร์ดยังอนุมัติปรับกรอบวงเงินลงทุนรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต ที่เพิ่มอีก 3,143 ล้านบาท จากภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนำเข้า และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ทำให้วงเงินรวมของโครงการที่ ครม.เคยอนุมัติไว้ 93,950 ล้านบาท เพิ่มเป็น 97,093 ล้านบาท

โดยวงเงินที่เพิ่มขึ้นแบ่งเป็นช่วงบางซื่อ-รังสิต 2,255 ล้านบาท และบางซื่อ-ตลิ่งชัน 887 ล้านบาท จะเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาและเสนอที่ประชุม ครม.อนุมัติต่อไป ซึ่งวงเงินดังกล่าวยังไม่รวมค่างานก่อสร้างเพิ่มเติม (VO) 10,345 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการสูงสุด

และบอร์ดยังเห็นชอบอนุมัติขยายเวลาสัญญาก่อสร้างงานโยธารถไฟทางคู่สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 2 สัญญา อีก 15 เดือน ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย ระยะทาง 88 กม. วงเงิน 6,500 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าเคเอส-ซีเป็นผู้ก่อสร้าง จากวันที่ 31 ต.ค. 2563 เป็นวันที่ 30 ม.ค. 2565 และช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร ระยะทาง 80 กม. วงเงิน 6,000 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าเอสทีทีพี (ซิโน-ไทยฯ-ไทยพีค่อน) เป็นผู้ก่อสร้าง จากวันที่ 31 ม.ค. 2564 เป็นวันที่ 30 ม.ค. 2565

เนื่องจากแบบเดิมไม่สอดคล้องกับการเข้าพื้นที่ก่อสร้างจริง เกิดการทับซ้อนกับระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งต้องวางแผนในการปรับขยับเนื้องานทั้งสองแบบไม่ให้ทับซ้อนกัน จะกระทบกับภาพรวมของการเปิดให้บริการล่าช้าออกไปประมาณ 1 ปี หรือขยับไปเปิดในปี 2566