TREA Academy รวมพลังอสังหาฯต่างจังหวัด หลักสูตรสอนกลยุทธ์ผ่าทางตันยุคโควิด

ไตรมาส 4/63 บททดสอบชีวิตเขย่าวงการดีเวลอปเปอร์ก่อนหน้านี้ช่วงที่ผ่านมา 9 เดือนแรกปี 2563 ภาคธุรกิจที่อยู่อาศัยเผชิญปัจจัยกระทบหนักหนาสาหัสอย่างมาตรการ LTV-loan to value+สถานการณ์โควิดมาแล้ว

ผู้ประกอบการแทบทุกรายกล่าวตรงกันว่า ภาวะเศรษฐกิจภาพรวมน่าจะผ่านจุด “ตกท้องช้าง” หรือจุดต่ำสุดไปแล้ว ความหมายคือผ่านจุดพีกของผลกระทบในช่วงล็อกดาวน์ประเทศ (2 เมษายน-18 พฤษภาคม 2563)

ความหวังที่จะกลับมาซื้อง่าย-ขายคล่องได้เหมือนยุคก่อนโควิดมีหลายสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจพยากรณ์ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี (2564-2565)

ล่าสุดมีคลื่นแทรกจากสถานการณ์การเมืองที่กล่าวได้ว่า บรรยากาศไม่เป็นมิตรต่อการทำธุรกิจแต่อย่างใด จึงไม่แปลกที่เริ่มได้ยินเสียงรำพึงรำพันในท่วงทำนอง…ยุคโควิด ธุรกิจอาจต้องพักร้อนยาว

หนึ่งในความพยายามประคับประคองตัว ประคับประคองกิจการของมวลหมู่สมาชิกให้อยู่รอดปลอดภัยเป็นของสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย (TREA-The Thai Real Estate Association)

พี่ช่วยน้อง TREA Academy

ถือฤกษ์บ่ายพฤหัสบดี 15 ตุลาคม 2563 เปิดตัว TREA Academy หลักสูตรอบรมอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นความร่วมมือของคนกันเองระหว่างสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยร่วมกับ 13 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัด

ประกอบด้วย สมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนนทบุรี สมุทรสาคร ระยอง ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี เชียงใหม่ พิษณุโลก สงขลา ภูเก็ต และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ 3 จังหวัดชายแดนใต้

สำหรับหลักสูตรระยะสั้นหัวละ 3 หมื่นบาท “ต่อยอดการพัฒนาอสังหาฯ ปรับกลยุทธ์สู้วิกฤตในปี 2021” อบรม 29-31 ตุลาคม 2563 จำนวน 40 ที่นั่ง ณ โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยท์ เทอร์มินอล 21 และ ห้อง Cage ห้างสรรพสินค้า W District แลกกับฟังผู้บริหารบิ๊กวงการ อาทิ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, แสนสิริ, ควอลิตี้ เฮ้าส์, เปี่ยมสุข, รุ่งกิจ เรียลเอสเตท ฯลฯ มีโปรแกรมเยี่ยมชมโครงการ The Forestias by MQDC มูลค่า 1.25 แสนล้านบาท

ไฮไลต์หัวข้ออบรม ได้แก่ ภาพรวมและทิศทางอสังหาฯหลังโควิด, การดีไซน์แบบและราคาเพื่อสนองความต้องการได้อย่างแม่นยำ ภายใต้โมเดลธุรกิจสร้างเสร็จก่อนขาย, การเอาตัวรอดในภาวะวิกฤตสำหรับรายกลางและรายเล็ก, กรีน คอมมูนิตี้ แมนเนจเม้นท์ การบริหารชุมชนน่าอยู่ยั่งยืน, แบรนด์สำคัญอย่างไรกับธุรกิจอสังหาฯ, การสร้างวัฒนธรรมในองค์กรและการดูแลลูกค้า

และหลักสูตรระยะยาวหัวละ 9.8 หมื่นบาท “TREA Academy” กำหนดอบรม 6 พฤศจิกายน 2563-6 กุมภาพันธ์ 2564 ณ เกษรวิลเลจ และโรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยท์ เทอร์มินอล 21 นาน 3 เดือนเต็ม มีจำนวน 70 ที่นั่ง

หัวข้ออบรมเทคนิคและกลยุทธ์ลงทุนอสังหาฯ, วางแผนการเงินและภาษี, การวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไข, การทำและการสร้างแบรนด์ ไฮไลต์มีการเวิร์กช็อปแบบเข้มข้นสู่การระดมทุนกอง REIT หรือในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดทริปดูงาน The Forestias by MQDC กับท่าเรือโอเชี่ยนมารีนา ยอร์ช คลับ ณ หาดจอมเทียน

ระยองมีอีอีซีแต่ก็ต้องเพลย์เซฟ

ก่อนหน้านี้ “ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอบทความพาดหัวข่าว “ขอคิดด้วยคน 10 นายกอสังหาฯต่างจังหวัด โรดแมปซ่อมเศรษฐกิจ-พัฒนาเมือง ฝากการบ้าน ครม.ประยุทธ์ 2/2” (ฉบับ 27 สิงหาคม 2563)

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการบรรยายสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยโดยตัวแทน 13 จังหวัด เริ่มจาก “เปรมสรณ์ ศรีวิบูลย์ชัย” นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ระยอง ระบุยุคโควิด ภาพรวมระยองยังไม่ค่อยดี สินค้าบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮมมีความต้องการสูง ปีนี้ไม่มีการเปิดคอนโดฯใหม่ โครงการเดิมยอดขายชะลอตัวลง

“ลูกค้ามีดีมานด์เยอะแต่ช่วงล็อกดาวน์ติดปัญหาวิสิตไซต์ไม่ได้ หลังจากนั้น เมื่อทำได้ปรากฏว่าการตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น เหมือนกับทำการบ้านมาก่อน ปัญหากู้ไม่ผ่านทำให้ผู้ประกอบการต้องนำสินค้ากลับมาขายหลายรอบ”

ข้อสังเกต เดือนตุลาคม 2563 ปัญหาแบงก์คุมเข้มสินเชื่อเริ่มกลับมาเข้มงวดแบบเข้มข้นอีกครั้ง อาจเป็นเพราะใกล้กำหนดเดดไลน์หมดอายุมาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงิน ซึ่งมีข้อกังวลปัญหาหนี้เสีย (NPL) จะกลับมาสูงกว่าปกติ

การปรับกลยุทธ์มองว่าน่าจะเหมือนกันทั่วประเทศ คือ การลดราคา มีของแถม จึงเป็นจังหวะของผู้ซื้อ ผู้ประกอบการต้องเซฟตัวเองอาจชะลอก่อสร้างในบางเฟสที่ไม่มียอดซื้อ ชะลอเปิดโครงการเนื่องจากเป็นช่วงที่แบงก์ก็คุมเข้มโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์

ชลบุรีแนะอบรมเปิดโลกกว้าง

“มีศักดิ์ ชุณหรักษ์โชติ” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี กล่าวว่า ชลบุรีเป็นเมืองอุตสาหกรรม เมืองท่องเที่ยว ยุคโควิดทำให้การเติบโตค่อนข้างชะลอตัว พัทยามีผลกระทบชัดเจน ศรีราชาเป็นทำเลซื้อลงทุนปล่อยเช่าป้อนคนทำงานใน EEC

“อุตสาหกรรมทยอยลดเวลาทำงานจึงกระทบแรงงานระดับโรงงาน กำลังซื้อตลาดล่างสินค้าทาวน์โฮมยอดขายหายไป 70-80% ส่วนคอนโดฯชะลอตัวตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว”

เทรนด์ที่เห็นมองว่าการทำอสังหาฯวันนี้ยากกว่ายุค 3-5 ปีก่อนหน้า สถานการณ์เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะมีปัจจัยโควิดหรือไม่ก็ตาม อนาคตจะยากกว่าวันนี้ ดีเวลอปเปอร์ต้องเตรียมตัวรับมือ ต้องมีความรู้ ความใส่ใจ ทำสินค้ามีรายละเอียดมากขึ้น การก่อสร้างแนะนำใช้ระบบสำเร็จรูปพรีแคสต์ การออกแบบภายนอก-ภายในบ้าน ควบคุมต้นทุนก่อสร้างที่ยังสามารถบริหารจัดการได้อีกหลายจุด

“อนาคตอสังหาฯเลี่ยงไม่พ้นระบบการเงิน การลงทุน เช่น กอง REIT (กองทรัสต์เพื่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์) แนวโน้มมีเรื่องอื่น ๆ เพิ่มเติมได้อีก จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเยอะมาก ต้องเข้าไปให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มต้น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าไม่ได้ศึกษาคิดว่าอนาคตจะเสียเปรียบคนที่ให้ความสำคัญ”

สงขลายึดที่มั่นแลนด์แบงก์

“ศุภชัย รุจิเรืองโรจน์” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์สงขลา ให้ภาพตลาดพื้นที่ว่าสงขลาและจังหวัดชายแดนใต้ ด้านการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวมาเลเซียมาเที่ยวเยอะแต่ไม่นิยมซื้ออสังหาฯในสงขลา จึงได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวน้อย

“ผลกระทบก่อนหน้าเป็นเรื่องราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ LTV ค่าเงินบาทแข็งทำให้กำลังซื้อชะลอตัว ยุคโควิดที่เป็นปัจจัยกระทบใหม่ในปีนี้สงขลาจึงซอฟต์แลนดิ้ง ไม่เหมือนภูเก็ตที่ผลกระทบโควิดเหมือนตกจากที่สูง เรายังพอรับมือได้ โชคดีที่เป็นฮับของ 7 จังหวัดรอบข้างทำให้มีดีมานด์ซื้อเข้ามาเสริม”

การปรับตัวเรื่องหลัก คือ ภาคการเงิน ลูกค้ากู้ยาก ผู้ประกอบการต้องดาวน์ไซซ์กิจการ ลงทุนเฉพาะโปรดักต์ที่หาลูกค้าเจอ วันนี้อาจมีรายได้น้อย กำไรน้อย ต้องปรับตัวอยู่กับปัจจุบันตรงนี้ไปก่อน

“ยุคหลังโควิดจะมีผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้น ทุกวันนี้เจอคนซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรในอดีต เริ่มรู้สึกว่ามีภาระภาษีที่ดินกับโควิดน่าจะปล่อยยาก โครงการของผมที่เปิดขายไม่มีรายใหญ่มาแข่งเพราะที่ดินแพงมากและอยู่ในมือแลนด์ลอร์ดท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่”

คมคิดที่ฝากไว้ คือ “การเตรียมตัวยุคโควิดเหมือนสตาร์ตรถไว้ก่อน รอเหยียบคันเร่งตอนทุกอย่างกลับมาปกติ”

จับตาพูลวิลล่าบนเกาะภูเก็ต

“พัทธนันท์ พิสุทธิ์วิมล” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต ให้ข้อมูลรัว ๆ ยุคโควิดมีผลกระทบหนักมาก สินค้าที่อยู่อาศัยทุนโลคอลเน้นจับลูกค้าคนท้องถิ่นราคาต่ำ 3 ล้านบาท ยอดขายเคย 100% ปีนี้เฉลี่ยเหลือ 50% ถือว่าพออยู่ได้ กลุ่มราคา 10-20 ล้านลูกค้ามีกำลังซื้อแต่รอสูตร

“ของดี-ราคาถูก-ต่อรองได้”

ตลาดที่คิดว่าบูมในอนาคต “พูลวิลล่า” เพราะไทยมีชื่อเสียงที่ควบคุมและป้องกันโควิดได้ดี ทำให้มีดีมานด์ลูกค้าต่างชาติต้องการซื้ออสังหาฯเป็นบ้านหลังที่ 2 มากขึ้น

เซ็กเตอร์น่าเป็นห่วงมอง 2-3 เรื่อง

1.ห้องชุดที่ขายแบบรับประกันผลตอบแทนค่าเช่า เปิดขายเมื่อ 2 ปีที่แล้วเริ่มทยอยก่อสร้างเสร็จปีนี้ แผนธุรกิจคาดว่ามีรายได้จากการเช่าของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ จีน รัสเซีย ยุโรป ปัญหาเมื่อไม่มีลูกค้าเจ้าของโครงการต้องควักเงินจ่ายผลตอบแทนตามที่การันตีไว้

2.โครงการอยู่ระหว่างก่อสร้าง ลูกค้าส่วนใหญ่เริ่มชะลอการจ่ายดาวน์ ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มชะลอก่อสร้างเหมือนกัน 3.โครงการก่อสร้างใกล้เสร็จ เหลืองวดสุดท้าย เตรียมตัวโอนแต่ลูกค้าต่างชาติบินมาโอนไม่ได้ ทำให้ขาดสภาพคล่องต้องปรับกลยุทธ์ชะลอการตกแต่งภายใน

4.หนักสุด คอนโดฯสร้างเสร็จและจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดแล้ว เพิ่งเริ่มโอนไม่กี่ห้อง เจอโควิดต่างชาติบินมาโอนไม่ได้ เจ้าของโครงการต้องชำระค่าส่วนกลางแทนเพราะลูกค้ายังไม่ได้รับโอนสิทธิ การจ่ายค่าส่วนกลางจึงเท่ากับเป็นค่าใช้จ่ายที่เปรียบเสมือนเลือดไหลออกเรื่อย ๆ

“ภูเก็ตคิดว่าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นเท่าไหร่จนกว่าโควิดจบ ต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาพื้นที่ได้และต้องไม่มีการระบาดรอบ 2 ในไทย ปีนี้ไม่มีโครงการไหนเปิดราคา 50-60 ล้าน แต่มีเปิด 10 ล้าน ไซซ์โครงการเล็กลงเพื่อให้ปิดการขายเร็ว”

นนทบุรีจี้ปลดล็อกผังเมืองใหม่

“เลิศมงคล วราเวณุชย์” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์นนทบุรี เซอร์ไพรส์ด้วยข้อมูลยอดโอนจริงไม่ต่ำกว่าเดิม เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังโต 15% ไตรมาส 2/63 ยังรักษาระดับการโต จะมีเหตุสะดุดก็คือปัญหาผังเมืองใหม่

ประเด็นผังเมืองใหม่จะทำคอนโดฯในซอยไม่ได้ เส้นถนนบางบัวทอง ราชพฤกษ์ ต้องใช้ถนนกว้าง 10-12 เมตรจึงจะทำบ้านจัดสรรได้ พื้นที่พัฒนาได้น้อยลงสวนทิศทางการเติบโตของทำเลเพราะเส้นราชพฤกษ์ไม่มีไฟแดงทำให้ขับรถเข้าสาทรได้เลย

อินฟราสตรักเจอร์อื่น ๆ กำลังสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู กำลังจะมีถนนวงแหวนรอบที่ 3 ซึ่งวิ่งบรรจบกับโครงการก่อสร้างสนามบินจังหวัดนครปฐมที่บางเลน โปรเจ็กต์ที่รัฐบาลวางแผนลงทุน 4-5 แสนล้านบาท

“ปัจจัยเอื้อจริง ๆ ที่นนทบุรีได้รับ คือ ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯแพงมาก คอนโดฯเดินไปถึงสถานีได้ราคาต่ำ 2 ล้านไม่มีแล้ว บ้านเดี่ยวต่ำ 5 ล้านก็ไม่มี กำลังซื้อเลยไหลมานนท์ ตัวที่จะฉุดหรือทำให้อสังหาฯไปต่อได้ก็คือ ผังเมืองใหม่ที่อยากให้ทบทวน ให้สามารถใช้พัฒนาโครงการได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”

สมุทรสาครเร่งสร้างต่ำ 3 ล้าน

“วีระกิตติ์ เอกอัครวิจิตร” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์สมุทรสาคร ดูเหมือนอารมณ์เบิกบานได้มากกว่าจังหวัดอื่น ๆ จากเหตุผลเศรษฐกิจหลักเป็นเมืองอุตสาหกรรมอาหาร 80% กลายเป็นเติบโตดีในยุคโควิดด้วยซ้ำไป

“ยอดขายช่วงโควิดดีกว่าช่วงปกติเพราะคนว่างจาก WFH-work from home ก็เลยวิสิตไซต์เยอะเพิ่มขึ้น 100% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2562 อีกเหตุผลอาจเป็นเพราะจำนวนผู้ประกอบการมีไม่เยอะ การแข่งขันไม่รุนแรงมาก”

สินค้าขายได้หลัก ๆ คือ ทาวน์โฮมราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เหมือนหนังคนละม้วนกับเพื่อนดีเวลอปเปอร์เพราะต้องเร่งสร้างเพื่อให้ทันโอนก่อนมาตรการลดค่าโอน-จำนองจาก 3% เหลือ 0.01% หรือล้านละ 3 หมื่น เหลือล้านละ 300 บาท จะหมดอายุ 24 ธันวาคม 2563 นี้

โคราชห่วงปากช่องน้ำท่วมขัง

“วีรพล จงเจริญใจ” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์นครราชสีมา กล่าวว่า อสังหาฯในโคราชมี 2 สปอตหลัก คือ ตลาดเขาใหญ่-ปากช่อง เวทีแข่งขันของกลุ่มทุนส่วนกลาง เจาะขายลูกค้าคนกรุงเทพฯ ซื้อเป็นบ้านตากอากาศ ช่วงบูมมากมีซัพพลายราคา 10-20 ล้านบาทเสนอขายจำนวนมาก

กับตลาดในอำเภอเมือง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การแข่งขันของทุนโลคอล ข้อดีคือจับลูกค้าเรียลดีมานด์คนท้องถิ่น จึงมีการซื้อจริง-โอนจริง (แน่นอนว่ามีบิ๊กแบรนด์ทุนเมืองกรุงเข้าไปพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีการลงทุนของกลุ่มโกลเด้นแลนด์กับ CPN Residence ในเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป)

นอกจากเป็นเมืองประตูสู่ภาคอีสาน โคราช ยังอิงเศรษฐกิจหลักจากภาคเกษตร การบริการ ค้าปลีก การลงทุนของรัฐ ช่วงปกติก็ดีไม่โดดเด่น แต่เวลาย่ำแย่ก็ไม่ได้แย่เท่าคนอื่น

แต่ปากช่องจะเหนื่อยเลย เช่น แอลฯ ตองดาวน์สามสิบเอร์

“ดูจากข่าวน้ำท่วมโคราช แต่จริง ๆ เป็นน้ำหลากบนทำเลเขาใหญ่ คนที่เศร้ากว่า คือ ปากช่อง เพราะน้ำขังนานกว่า โดยรวม ๆ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีลูกค้าวิสิตไซต์เยอะขึ้น”

สูตรการปรับตัวยังคงเป็น “ไม่สร้างซัพพลายใหม่ ระบายสต๊อกสะสม รักษาแคชโฟลว์”

ขอนแก่นต้องอึดรอยุคหลังโควิด

“ธนะ ศิริธนชัย” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ขอนแก่น บอกว่า ด้วยความที่เป็นหัวเมืองเศรษฐกิจหลักภาคอีสานตอนบน นักธุรกิจจึงมีภูมิต้านทานแรงเหวี่ยงเศรษฐกิจพอสมควร

ปัจจัยโควิดทำให้ยอดโอนลดลงตามส่วน ปัญหายอดปฏิเสธสินเชื่อค่อนข้างสูง คำปลอบใจเพื่อนผู้ประกอบการด้วยกัน คือ “ถ้าเราปรับตัวได้ อึด ๆ ไว้หน่อย ทำใจนิดนึง รอฟื้นตัวหลังยุคโควิด”

อุดรฯบ้านบีโอไอเวิร์กมาก

“พันโทวรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี หัวเมืองเศรษฐกิจอีสานตอนบนตีคู่มากับขอนแก่น ระบุว่า ตลาดอสังหาฯยังอยู่ในมือทุนท้องถิ่นเป็นหลัก บิ๊กแบรนด์เมืองกรุงมีแต่น้อยกว่า

“4-5 ปีที่แล้วแบรนด์ใหญ่มาทำคอนโดฯ ปัจจุบันปิดการขายได้บ้างแต่เหลือขายก็มี ตอนเศรษฐกิจปกติกลุ่มขายดีราคา 3-5 ล้าน ตอนนี้ขายดีลดระดับเหลือราคา 1-2 ล้าน ข้อสังเกตคือผู้ประกอบการเริ่มทำบ้านบีโอไอและประสบความสำเร็จ”

โดยสรุป กลยุทธ์ปี 2563 พัฒนาโครงการด้วยกรอบของความระมัดระวัง ตั้งการ์ดสูงเหมือนขอนแก่น

โควิดแจ้งเกิดทาวน์โฮมเชียงใหม่

“อัญชนา วัลลิภากร” ผู้ก่อตั้งเว็บ bania.com ขึ้นเวทีในฐานะเลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ ระบุว่า ปัจจัยโควิดทำให้เป็นครั้งแรกที่ตลาดเชียงใหม่มีทาวน์โฮมแข่งขันมากขึ้น ราคาเฉลี่ยทั้งตลาดเลยลดต่ำลง กลุ่มราคาขายดีเป็นสินค้าไม่เกิน 3 ล้านบาท

กรณีลูกค้าคนไทยกลยุทธ์ผู้ประกอบการเน้นการพูดคุยและใช้มาตรการโปรโมชั่นส่วนลดเพิ่มเพื่อปิดการขาย ส่วนลูกค้าคนจีนใช้วิธียืดเวลา รอการกลับมาอีกครั้ง ถัวเฉลี่ยราคาลด 10% กว่า ไม่รุนแรงเหมือนในกรุงเทพฯ

พิดโลกคอนโด 6 หมื่นไม่แข่งใคร

“ยศวัจน์ รุ่งคณาวุฒิ” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์พิษณุโลก แชร์ประสบการณ์เจ้าของคอนโดฯที่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 1 ยูนิต แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกสั่งล็อกดาวน์ทั้งโครงการ 3 ตึก วิกฤตกลายเป็นโอกาส

“ผมเป็นผู้ประสบภัยโควิดในภาคอสังหาฯ โครงการมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศโดยไม่ต้องจ่ายค่าโฆษณา ตอนถูกสั่งปิดการเข้า-ออกทั้งโครงการสิ่งที่เราทำได้ คือ ส่งบริการอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตต่าง ๆ ให้กับลูกบ้าน ยิ่งทำให้ได้ใจและขายดี”

ข้อมูลจำเพาะ ตลาดพิษณุโลกมีลูกค้าเรียลดีมานด์ที่แข็งแกร่งเพราะเป็นเมืองศูนย์ราชการและเกษตรกรรม การไม่มีส่วนผสมของลูกค้าต่างชาติกลายเป็นความโชคดีในนาทีนี้ เพราะทำให้ผลกระทบโควิดมีน้อยมาก

“ทำคอนโดฯขายตารางเมตรละ 6 หมื่นบาท วันนี้ถ้าทำระดับบนแล้วโปรดักต์ให้ดีไปเลย ไม่ต้องแย่งลูกค้าใคร”

 

ตลาดนัด 1,000 โครงการ 11.11 อสังหาฯมาร์เก็ตเพลซ

เวลาสุกงอมสำหรับการตลาดต้นทุนต่ำบนแพลตฟอร์มดิจิทัล “TREA-สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย” โดย “พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์” ทำงานแข่งกับเวลา ทางหนึ่งเปิดหลักสูตรฝึกปรือกลยุทธ์ผู้ประกอบการ อีกทางหนึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการขายระบายสต๊อกสินค้าบ้าน-คอนโดมิเนียม

นำไปสู่กิจกรรมการตลาดเทรดบนช่องทางออนไลน์ ใช้ชื่อเรียบง่าย “อสังหาฯมาร์เก็ตเพลซ”

ดีเดย์วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ถอดรหัสเป็นคำฮิต 11.11

“โควิด-19 มีผลกระทบอย่างมากต่ออสังหาริมทรัพย์ แม้ไม่รุนแรงเท่าธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม สายการบิน ส่งออก เราประสบปัญหายอดขายลดลง มีซัพพลายคงเหลือจำนวนมาก แบงก์เข้มงวดสินเชื่อสร้างปัญหากระแสเงินสดหมุนเวียนในธุรกิจ”

บทสรุปของโจทย์อสังหาฯยุคโควิด “อสังหาฯมาร์เก็ตเพลซ” คาดหวังว่าจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้ “วินวินเกม”

ในขาผู้ประกอบการเป็นตัวช่วยส่งเสริมและเพิ่มช่องทางขายสินค้าไปสู่ลูกค้าเป้าหมายโดยตรง

ในขาผู้บริโภคเปิดโอกาสให้เข้าถึงข้อมูลที่อยู่อาศัย “ทุกประเภท ทุกทำเล ทุกราคา” ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และโครงการในต่างจังหวัดทั่วไทย

เป็นแพลตฟอร์มแมตชิ่งผู้ซื้อพบผู้ขาย ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

คำถามคือ how to ในการปลั๊ก-อินอสังหาฯมาร์เก็ตเพลซเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภค “อดิเรก แสงใสแก้ว” เลขาธิการ TREA แจกแจงว่าจะเริ่มต้นด้วยเฟสแรก เปิดตัวบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย “เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์”

หลังจากนั้น วางแผนขยายแพลตฟอร์มไปบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นในเฟสต่อ ๆ ไป

“อสังหาฯมาร์เก็ตเพลซเป็นทั้งบริการพิเศษเสริมการขายและการตลาด เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ของสมาคมและเครื่องมือในการเพิ่มสมาชิกใหม่ให้กับสมาคมอสังหาฯต่างจังหวัด บ้าน-คอนโดฯ ที่นำเสนอให้ลูกค้านักเลงคีย์บอร์ดช็อปปิ้งต้องเป็นสินค้าของสมาชิกสมาคมและ 13 สมาคมต่างจังหวัด มีทั้งที่อยู่อาศัยเพื่อขายหรือเช่า อาคารพาณิชย์ คอมมิวนิตี้มอลล์ โรงงาน โรงแรม จุดเน้นต้องเป็นโครงการได้รับอนุมัติสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เป็นต้น”

ทั้งนี้ TREA ตั้งเป้าช่วงเปิดตัวมาร์เก็ตเพลซ มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 300 บริษัท ไม่ต่ำกว่า 1,000 โครงการ