จับเข่าคุย “ศิริพร” นักการเงินอสังหาค่าย “ศุภาลัย” ดูบัญชีเงินสดทุกวัน

จับเข่าคุย CFO อสังหาริมทรัพย์ Mission Possible ยุคโรคระบาดโควิด 2564-2565 กลยุทธ์การเงินคือหัวใจ

ไตรมาส 4/63 กับช่วงเวลาแห่งการนับถอยหลังเพื่อจบปีแห่งมหาวิกฤตโรคระบาดโควิด บนความหวังจะมีข่าวดีสำหรับวงการธุรกิจให้ชื่นใจกันบ้าง แต่เหตุการณ์การเมืองโค้งสุดท้ายก็สร้างภาวะ new normal กลายเป็นโรคแทรกซ้อนทางเศรษฐกิจขึ้นมาอย่างคาดไม่ถึง

นักธุรกิจเบอร์ใหญ่ “อธิป พีชานนท์” มองข้ามชอตแนวโน้มปี 2564 การเมืองภายในประเทศมีผลกระทบอย่างสูงในด้านจิตวิทยา 2 ระดับ

แบ่งเป็นระดับผู้บริโภค เดิมเคยคาดหวังว่าประเทศไทยสามารถควบคุมและป้องกันการระบาดโควิดได้ดี จะเป็นแต้มต่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นในโลก ความเชื่อมั่น กำลังซื้อน่าจะฟื้นตัวเร็ว ล่าสุดการเมืองสไตล์ไทย ๆ ทุบมู้ดผู้บริโภคไปเรียบร้อยแล้ว มองว่าการซื้อสินค้าคงทนอย่างรถยนต์ ที่อยู่อาศัย น่าจะชะลอตัวยาว

อีกส่วนคือระดับผู้ประกอบการ จีดีพีประเทศไทยที่พึ่งพิงการส่งออกสัดส่วน 70% กำลังถูกท้าทายครั้งสำคัญจากความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในเมืองไทย เพื่อสร้างงาน-สร้างอาชีพ-สร้างเศรษฐกิจให้กับคนไทย

ล่าสุดการเมืองสไตล์ไทย ๆ ทุบมู้ดผู้ประกอบการต่างชาติไปเรียบร้อยแล้วความหวังที่จะดึงดูดให้เข้ามาลงทุนด้วยเม็ดเงินก้อนโต ๆ เพื่อสร้างปาฏิหาริย์ให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เคยคาดหวังว่าจะมาปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เริ่มอับแสงลง

ศิริพร วังศพ่าห์
ศิริพร วังศพ่าห์

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ CFO-ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงินของบริษัทอสังหาริมทรัพย์มหาชนในตลาดหลักทรัพย์ กับภารกิจที่แบกไว้เต็มสองบ่าในฐานะที่กลยุทธ์การเงินกลายเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เกมธุรกิจที่ต้องวางหมากอย่างรอบคอบรัดกุมเพราะเดิมพันด้วยความอยู่รอดทั่วทั้งองค์กร

theme คำถามหลัก ในฐานะ CFO บริษัทอสังหาริมทรัพย์ บริหารจัดการอะไรบ้าง ในไตรมาส 4/63 ที่เป็นเป้าหมายให้องค์กรประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจภายใต้สถานการณ์โควิด-19

“ศิริพร วังศพ่าห์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบัญชี-การเงิน บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)

Q : การบริหารการเงินช่วงเศรษฐกิจขาลง

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ที่ผ่านมาบริษัทได้พัฒนาที่อยู่อาศัย ส่งมอบผลิตภัณฑ์ทั้งบ้าน และคอนโดมิเนียม ที่สะดวกสบาย สวยนาน ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น การบริหารจัดการกระแสเงินสดจึงเป็นเรื่องสำคัญในอันดับต้น ๆ ที่จะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน

ศุภาลัยมีประสบการณ์เคยผ่านวิกฤตปี 2540 ทำให้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บริษัทจึงดำเนินนโยบายที่มีความระมัดระวังมากขึ้น มีการเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญอันดับต้น ๆ คือเรื่องการบริหารการเงิน

โดยนโยบายหลักของบริษัทคือ โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทเกือบทุกโครงการจะต้องขอสินเชื่อโครงการกับธนาคารไว้ทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า หากเกิดภาวะวิกฤตอะไรขึ้นมา บริษัทจะยังคงสามารถขอสินเชื่อกับธนาคารเพื่อนำเงินมาบริหารจัดการสร้างโครงการได้ต่อจนจบ และสามารถส่งมอบบ้านหรือคอนโดมิเนียมให้กับลูกค้าได้ตามคำมั่นสัญญาที่เราได้ให้ไว้กับลูกค้า

ต้องขอขอบคุณธนาคารพาณิชย์หลาย ๆ ธนาคารที่เป็นพันธมิตรกับศุภาลัย และอนุมัติสินเชื่อให้กับบริษัทเป็นอย่างดีเสมอมา

Q : มีการระดมทุนผ่านบอนด์

การออกหุ้นกู้และตั๋วเงินก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการบริหารจัดการกระแสเงินสดและต้นทุนทางการเงิน เพราะมีข้อดีที่แตกต่างไปจากการขอสินเชื่อโครงการ บริษัทจึงพยายามบริหารสัดส่วนของการออกหุ้นกู้ ตั๋วเงิน และสินเชื่อโครงการให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์

ซึ่งจากการบริหารจัดการนี้สามารถทำให้ศุภาลัยมีต้นทุนทางการเงินที่เรียกได้ว่าอยู่ในระดับต่ำ คือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2% เท่านั้น สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ทำให้ในปีนี้บริษัทสามารถออกหุ้นกู้ได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม และกันยายน 2563

Q : ยุคโควิดบริหารเงินสดยังไง

ในส่วนของการบริหารกระแสเงินสดของบริษัทนั้น เราวางแผนกันตั้งแต่ภาพรวมล่วงหน้าเป็นปี และลงรายละเอียดทุกวัน โดยบริหารแบบนี้มาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อให้มั่นใจว่าในระยะสั้นและระยะยาว บริษัทจะต้องไม่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างเด็ดขาด

การบริหารเงินต้องมีการวางแผนมาโดยตลอด จะมาทำเฉพาะเมื่อตอนที่เกิดภาวะวิกฤตไม่ได้ และก็คงจะไม่ทันการณ์ อย่างเช่นในช่วงโควิด-19 นี้ จะเห็นว่าศุภาลัยไม่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องแต่อย่างใด

บริษัทยังสามารถจ่ายเงินเดือนพนักงาน จ่ายเงินผู้รับเหมา และคู่ค้าของบริษัทได้อย่างครบถ้วน และตรงต่อเวลา

ในทางตรงข้าม ศุภาลัยเป็นบริษัทแรกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาตรการพักชำระค่างวดผ่อนดาวน์ให้ 3 เดือน โดยจำนวนเงินที่เว้นระยะเวลาการพักชำระค่างวดผ่อนดาวน์ 3 เดือนนี้จะนำไปรวมชำระในวันที่โอนกรรมสิทธิ์ เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มที่ประสบภาวะวิกฤตโควิด-19

จากมาตรการนี้จะเห็นได้ว่าในขณะที่บริษัทอื่น ๆ ต้องการหาเงินสดมาไว้สำรองในมือ แต่ศุภาลัยยินดีที่จะสละเงินสดในส่วนนี้ไปให้ลูกค้าที่ประสบปัญหาโควิด-19 ได้มีเงินสดสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อไว้ใช้จ่ายยามจำเป็นก่อน

ทั้งนี้ก็เพื่อให้พวกเราทุกคนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปด้วยกัน โดยที่ถึงแม้ว่ากระแสเงินสดที่บริษัทจะได้รับจะน้อยลงไปบ้าง แต่การช่วยลูกค้าให้อยู่รอดไปได้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า

Q : สถานการณ์เน็ตเกียริ่ง

สถานการณ์ในตอนนี้คิดว่าบริษัทได้ผ่านจุดต่ำที่สุดมาแล้วในไตรมาสที่ 2/63 โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (net gearing ratio) อยู่ที่ร้อยละ 62 ซึ่งถือเป็นไตรมาสที่บริษัทมีภาระหนี้สูงที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

แต่เมื่อเทียบกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ 10 รายล่าสุด ยังถือว่าศุภาลัยมีภาระหนี้สินที่ต่ำที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรม และยังคงมีวงเงินสินเชื่อที่พร้อมเบิกใช้ได้อีกประมาณ 20,000 ล้านบาท

Q : บทบาท CFO ในฐานะกองหนุน

จะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่างานการเงินจะเป็นงานหลังบ้าน แต่เป็นหลังบ้านที่ต้องมีความแข็งแกร่ง ต้องไม่ให้ด่านหน้าที่ต้องลุยไปข้างหน้ามีความกังวล เพราะจริง ๆ แล้วในทุกภาวะวิกฤต จะมีโอกาสซ่อนอยู่ให้กับคนที่มีความพร้อมเสมอ

เช่น ในสถานการณ์นี้หากบริษัทต้องการซื้อที่ดินเพื่อรองรับการเติบโตไปข้างหน้าก็สามารถทำได้ เพราะมีวงเงินที่พร้อมใช้สำหรับการเดินหน้าซื้อที่ดินในทำเลศักยภาพได้ตามที่ต้องการ

รวมถึงการก่อสร้างต้องไม่มีการหยุดชะงัก เพื่อให้สามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ตรงตามเวลาที่กำหนด และก็จะได้รับกระแสเงินสดกลับมาเพื่อใช้หมุนเวียนต่อไป

โดยเฉพาะไตรมาส 4/63 เป็นช่วงที่ศุภาลัยจะมีคอนโดมิเนียมพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ค่อนข้างมาก และการโอนกรรมสิทธิ์โครงการแนวราบที่เพิ่มขึ้นจากยอดขายที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ก็จะยิ่งเป็นส่วนที่ช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน