ลุยประมูลซ่อมสร้างถนนหมื่นโครงการ อัดแสนล้านปั๊มเศรษฐกิจ

2 กรมถนน “ทางหลวง-ทางหลวงชนบท” กดปุ่มประมูลโครงการปี”64 เทกระจาดหมื่นสัญญากว่าแสนล้านซ่อมสร้างถนนทั่วไทย ตัดแบ่งสัญญาตั้งแต่ 10 ล้านยัน 1,000 ล้านบาท เร่งเซ็นสัญญาให้จบ ธ.ค.นี้ หวังหมุนเงินกระตุ้นระบบเศรษฐกิจโค้งท้ายปี”63 สมาคมรับเหมากระทุ้งรัฐเปิดประมูลงานใหม่ ต่อลมหายใจรายย่อย จี้ “ประยุทธ์-อาคม” ลงทุนเร่งเซ็นสัญญางานเก่าตกค้าง ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ แก้แรงงานขาด 2 แสนคน ออกมาตรการช่วยพยุงธุรกิจ

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีงบประมาณ 2564 กรมได้รับจัดสรรวงเงินทั้งสิ้น 125,946.92 ล้านบาท แยกเป็นรายจ่ายลงทุน 120,258.39 ล้านบาท หรือ 95.48% รายจ่ายประจำ 5,688.53 ล้านบาท หรือ 4.52% โดยเป็นงบฯลงทุนรายการใหม่ จำนวน 4,603 รายการ วงเงิน 57,668.31 ล้านบาท หรือ 47.95% รายการผูกพันเดิม จำนวน 332 รายการ วงเงิน 48,233.49 ล้านบาท หรือ 40.11% งานดำเนินการเอง จำนวน 299 รายการ วงเงิน 9,752.92 ล้านบาท หรือ 8.11% ค่าที่ดิน จำนวน 19 รายการ วงเงิน 3,532.88 ล้านบาท หรือ 2.94% และรายการที่เบิกลักษณะงบฯประจำ จำนวน 33 รายการ วงเงิน 1,070.79 ล้านบาท หรือ 0.89%

ทางหลวงลุยสร้างถนนใหม่

ทั้งนี้ในรายการประมูลใหม่ 4,603 รายการ แยกเป็นงานปีเดียว 4,282 รายการ วงเงิน 46,058.11 ล้านบาท หรือ 79.87% งานผูกพันใหม่จำนวน 89 รายการ วงเงิน 10,850.4 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษา 67 รายการ วงเงิน 490.36 ล้านบาท หรือ 0.85% และค่าครุภัณฑ์ 165 รายการ วงเงิน 269.43 ล้านบาท หรือ 0.47%

“มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ 83 โครงการ วงเงิน 10,674 ล้านบาท เป็นโครงการเกิน 1,000 ล้านบาท 11 โครงการ ส่วนโครงการผูกพันจะสร้างจุดจอดพักรถ 6 แห่ง ที่เหลือเป็นงานก่อสร้างปีเดียว 3,577 สายทาง สิ่งก่อสร้าง 705 โครงการ กรมอยู่ระหว่างประมูล จะให้เซ็นสัญญาให้หมดในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อเบิกจ่ายงบฯเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ”

แบ่งถนนชนบท 10-1,000 ล้าน

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2564 กรมได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 48,789.8421 ล้านบาท มีงบฯลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท จะเปิดประมูลก่อสร้าง จำนวน 5,000 สัญญา ราคาเฉลี่ยต่อสัญญาตั้งแต่ 10-1,000 ล้านบาท จะทยอยประมูลปลายปี 2563 คาดว่าเซ็นสัญญาและเริ่มเบิกจ่ายในเดือน มี.ค. 2564

โดยงบฯจะดำเนินการโครงการถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางหรือคอนกรีต 365 โครงการ ระยะทาง 834 กม., ถนนแก้ไขปัญหาจราจรในปริมณฑลและภูมิภาค, ถนนในเขตผังเมืองรวม, ถนนสนับสนุนการท่องเที่ยว, ถนนเพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้, ถนนเชื่อมต่อระบบขนส่ง, ถนนสนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และซ่อมบำรุงโครงข่ายทางหลวงชนบททั่วประเทศ

เปิดโผโครงการสำคัญ

ส่วนโครงการสำคัญ เช่น ขยายถนนชัยพฤกษ์ จ.นนทบุรี ระยะทาง 6.8 กม. วงเงิน 903 ล้านบาท, ถนนสายแยก ทล.3452-สี่แยกบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี (ตอนที่ 1) ระยะทาง 7.2 กม.

วงเงิน 900 ล้านบาทถนนสายแยก ทล.3452-สี่แยกบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี (ตอนที่ 2) ระยะทาง 18.456 กม. วงเงิน 900 ล้านบาท, ถนนสาย สป.4002 แยก ทล.3344-บ้านบางพลีใหญ่ อ.เมือง, บางพลี จ.สมุทรปราการ ระยะทาง 8.192 กม. วงเงิน 793.4 ล้านบาทถนนสายแยก ทล.1020-บ้านกิ่วแก้ว อ.เทิง, จุน จ.เชียงราย, พะเยา ระยะทาง 43.709 กม. วงเงิน 1,200 ล้านบาท, ถนนสาย มห.3019 แยก ทล.212-บ้านบางทรายใหญ่ อ.เมือง จ.มุกดาหาร ระยะทาง 14.211 กม. วงเงิน 804.330 ล้านบาท

ถนนสาย ข1 ผังเมืองรวมเมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ ระยะทาง 1.925 กม. วงเงิน 158.1 ล้านบาท, ถนนสาย ข9 ค3 ผังเมืองรวมชุมชนโคกกลอย-ท้ายเหมือง จ.พังงา ระยะทาง 4.229 กม. วงเงิน 330 ล้านบาท เป็นต้น

รับเหมาจี้ “บิ๊กตู่-อาคม” ลงทุน

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2564 จะประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 ต.ค.

2563 ที่ผ่านมา แต่จนถึงปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทยังไม่เปิดประมูลใหม่ โดยเฉพาะโครงการมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท

“งานที่ทยอยประมูลและเซ็นสัญญาในช่วงที่ผ่านมา เป็นงานเก่าที่ค้างมาตั้งแต่ปี 2562-2563 รวม 50-60 งาน วงเงินรวมประมาณ 700-800 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้การลงทุนในเนื้องานของรัฐยังไม่คึกคักเท่าไหร่”

แรงงานหาย 2 แสนคน

นายอังสุรัสมิ์กล่าวอีกว่า ขณะที่สถานการณ์แรงงานรับเหมาก่อสร้าง ปัจจุบันยังทรงตัว เนื่องจากไม่มีงานใหม่เปิดประมูล ซึ่งจะสอดคล้องกับจำนวนแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันหายไปจากระบบประมาณ 200,000 คน ซึ่งส่วนมากเป็นแรงงานต่างด้าวแทบทั้งหมด ทำให้สถานการณ์ยังทรงตัว ประกอบกับรัฐบาลยังไม่มีนโยบายชัดเจนว่าจะมีมาตรการกักตัวแรงงานต่างด้าวที่จะเข้าประเทศอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการรอความชัดเจนจากรัฐบาลอยู่นานมาก

“ถ้ายังคงสภาพปัญหาแบบนี้ไปเรื่อย ๆ งานก่อสร้างที่กำลังดำเนินการก็จะล่าช้าตามไปด้วย ส่วนแรงงานในประเทศ มีแนวโน้มจะกลับไปทำงานในภูมิลำเนามากขึ้น เพราะได้อยู่กับครอบครัวและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าเข้ามาทำงานเขตเมือง”

วอนปล่อยของเก่า-เร่งของใหม่

นายอังสุรัสมิ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจย่ำแย่ทั่วประเทศ รัฐบาลต้องช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยการออกมาตรการเยียวยาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน แต่อยากฝากถึงรัฐบาล โดยเฉพาะนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าควรจะพิจารณามาตรการและโครงการด้านการลงทุนควบคู่ด้วย โดยขอให้ “ปล่อยงานเก่า-เร่งของใหม่” โครงการเก่า ๆ ที่ผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ขอให้เร่งกระบวนการลงนามในสัญญา

ส่วนงานใหม่ที่รอลงทุนขอให้เร่งกระบวนการพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น รูปแบบลงทุน, รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA), ความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะการลงทุนของรัฐบาลเป็นอีกขาหนึ่งที่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้

“รัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนใหม่ ถือเป็นคนคุ้นเคยที่รู้งานเกี่ยวกับกระทรวงคมนาคมดีอยู่แล้ว จึงอยากให้ช่วยเร่งรัดโครงการด้วย อย่างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รอเซ็น 7-8 สัญญา ซึ่งตอนนี้ EIA ผ่านการพิจารณาแล้ว จึงอยากให้เร่งกระบวนการลงนามในสัญญาโดยเร็ว”

นายอังสุรัสมิ์กล่าวและว่า ขณะเดียวกัน ขอให้รัฐบาลเร่งพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการตามที่สมาคมยื่นหนังสือไปก่อนหน้านี้ เพราะตอนนี้รัฐบาลมีมติเพียงเรื่องเดียวคือ ไม่ต้องจ่ายค่าปรับกรณีก่อสร้างล่าช้า แต่ข้อเสนออื่น ๆ ยังไม่ได้รับการตอบรับ เช่น การขอขยายเวลาก่อสร้างโดยมีเงื่อนไขจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเวลา 6-12 เดือน และมาตรการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว เป็นต้น