Green Taskforce โมเดลต้นแบบ “อนันดา” กรีน เออร์เบิน ลิฟวิ่ง

Green Taskforce โมเดลต้นแบบ “อนันดา” กรีน เออร์เบิน ลิฟวิ่ง ปอดของเมืองเริ่มต้นในคอนโดมิเนียม

ครั้งแรกของเมืองไทยกับศูนย์ research ที่เรียกว่า “Green Taskforce”

และอาจกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกของวงการอสังหาริมทรัพย์ก็ว่าได้ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง “อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” ร่วมกับ “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ในโครงการ “Green Taskforce-ศูนย์ทดลองพืชพันธุ์ประกอบอาคาร”

เป้าหมายต้องการให้เป็นปอดของเมือง ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มต้นไม้ให้กับเมือง

ต้นทางมาจาก “โก้-ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) พยายามผลักดันให้มีพื้นที่สีเขียวในเมืองเพิ่มมากขึ้น วิธีการก็ต้องเพิ่มต้นไม้ในเมืองให้มากขึ้นโดยไม่มีทางลัดทางอื่น

โดยสาระสำคัญ Green Taskforce มี 4 เรื่องด้วยกัน คือ 1.ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ 2.ลดการใช้พลังงานในอาคาร 3.ลดอุณหภูมิในอาคาร และ 4.ลดปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ที่กำลังเป็นภัยคุกคามคนไทยในปัจจุบัน

นำไปสู่สมการแนวคิดที่อนันดาฯต้องการผลักดันให้คอนโดฯทำหน้าที่สวนในเมืองหรือปอดของคนกรุงเทพฯ

ปฏิวัติวงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

ปัจจุบันบริษัทมีคอนโดฯสะสมในพอร์ตเกือบ 50 โครงการ กระจายทำเลเกาะแนวรถไฟฟ้าทั่วกรุง

โจทย์ คือ ถ้าหาก 1 โครงการมีปริมาณต้นไม้เพิ่มมากขึ้น คอนโดฯในเมืองก็จะทำหน้าที่เป็นปอดของเมืองได้โดยปริยาย ผลประโยชน์ย่อมตกอยู่กับเจ้าของอาคารชุด และเป็นประโยชน์ให้กับเมืองโดยตรง

ล่าสุด อนันดาฯเพิ่มดีกรีการให้ความสำคัญโดยมีการตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องต้นไม้โดยเฉพาะ เรียกชื่อว่า “ANANDA Green Taskforce”

1 ปีวิจัยสวนแนวตั้ง “Bludeck”

นโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวของอนันดาฯมีการเปิดความร่วมมือกับพันธมิตร “มก.-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ร่วมกับทีมวิจัย “คณะเกษตรศาสตร์ มก.” ในฐานะผู้นำด้านต้นไม้ กับ “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มก.” ศึกษาการทำอาคารเขียว อาคารประหยัดพลังงาน

แน่นอนว่าพาร์ตเนอร์ชิประหว่างอนันดาฯกับ ม.เกษตรฯเป็นการศึกษาวิจัยเพื่อสังคม โดย “ชานนท์” กำลังพูดถึงการทำแล็บทดลองปลูกพันธุ์พืชประกอบอาคาร “Bludeck” testing site ย่านกิ่งแก้ว 19 บนพื้นที่ 2,500 ตารางเมตร

ที่ผ่านมาลองผิดลองถูกกับพันธุ์พืช 47 สายพันธุ์ โดยทีมงานใช้เวลาทดลองปลูกจริง-วิจัย-เก็บตัวอย่างเพื่อทดสอบว่ามีการเติบโตได้ดีจริง ๆ หรือไม่

ที่สำคัญเวลา 1 ปีเพื่อต้องการพิสูจน์ว่าต้นไม้แต่ละชนิดที่เป็น “ไม้เลื้อย-ไม้พุ่ม-ไม้ยืนต้น” ต้องดูแลกันอย่างไรเพื่อให้เป็นปอดในคอนโดฯ

บทสรุปเบื้องต้น งานวิจัยสวนแนวตั้งมี 6 จุดด้วยกันที่จะทำหน้าที่ปอดธรรมชาติ ประกอบด้วย 1.green wall กำแพงสีเขียว พันธุ์ไม้เลื้อยทั้งเลื้อยขึ้นและเลื้อยลง

2.climbing plants ไม้เถา 3.roof plants พืชหลังคา 4.shrub plants ไม้พุ่ม 5.terrace plants พืชระเบียง และ 6.indoor plants พืชในร่ม

“การทำสวนแนวตั้ง ต้องเริ่มคิดตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบโครงการ เพราะจะมีผลระยะยาวถึงการดูแลรักษาในอนาคต หลังจากส่งมอบพื้นที่ส่วนกลางให้กับนิติบุคคลว่าจะต้องสามารถดูแลรักษาได้จริงต่อไป”

งานวิจัยล้ำ ๆ จาก CBIT

ทั้งนี้ โครงการศูนย์ทดลองพืชพันธุ์ประกอบอาคาร Green Taskforce มุ่งเน้นที่จะทำให้พืชประกอบอาคารสามารถอยู่รอดในสภาวะแวดล้อมจริง ๆ

ซึ่งปกติสถาปนิกเลือกใช้พืชหลายประเภท แต่ปัจจัยพื้นฐานอาจทำให้พืชไม่สามารถอยู่รอดได้จริง ๆ อีกประเด็นหนึ่งยังมีคำถามว่าพืชที่สามารถช่วยสิ่งแวดล้อมภายในอาคารและภายนอกอาคารจะมีการวัดค่าอย่างไร

เรื่องนี้มีคำตอบ “ดร.กันติทัต ทับสุวรรณ” หัวหน้าโครงการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า โครงการนี้เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ซึ่ง 6 เดือนแรกเป็นการเก็บข้อมูลที่ไซต์ วัดการเจริญเติบโต วัดอัตราการปกคลุมของพืช

หลังจากนั้น เข้ามาใช้ห้องปฏิบัติการในศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางอาคาร หรือ CBIT-Center of Building Innovation and Technology ของคณะสถาปัตยกรรมอีก 4 เดือน เพื่อทดลองการคายออกซิเจน การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ การดูดซับสารอินทรีย์ระเหยง่าย การดักจับฝุ่น การลดอุณหภูมิการปกคลุมของพืช

“โครงการนี้เริ่มตั้งแต่การเลือกพืชพันธุ์ การเก็บข้อมูลที่ไซต์ จากนั้นนำไปที่ CBIT เพื่อศึกษาพืชพันธุ์ว่าลดอุณหภูมิพื้นผิวได้เท่าไหร่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประหยัดพลังงานของอาคาร รวมถึงพืชแต่ละประเภทช่วยลดฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ได้ไหม รวมทั้งเวลาเข้าไปในอาคารใหม่ ๆ จะมีพวกสารเคมี สารอินทรีย์ระเหยง่าย ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่เป็นสารอาหารของพืช จึงต้องมาศึกษาพืชพันธุ์ต่าง ๆ ว่าจะดูดซับสารอินทรีย์ระเหยง่ายได้เท่าไหร่”

โจทย์วิจัย “พฤติกรรมพืช”

บนดาดฟ้าของคณะสถาปัตยกรรมถูกใช้เป็นสถานที่ทดลองการลดความร้อนของผนังโดยพืช ซึ่งพืชเป็นลักษณะ green wall “เลื้อยลง เลื้อยขึ้น ปกคลุมผนัง” เพื่อทดสอบการลดอุณหภูมิของผิวผนังและด้านหลังผนัง เช่น ต้นเหลืองชัชวาลที่แดดส่องเข้าแล้ว แสงแดดบางส่วนที่เรียกว่า “solar radiation” จะถูกสะท้อนไปยังชั้นบรรยากาศ

และถ้ามีน้ำและแร่ธาตุเพียงพอพืชจะสังเคราะห์แสงและมีการใช้ความร้อน หรือที่เรียกว่า “latent heat-ความร้อนแฝง” ที่จะทำให้อากาศรอบตัวพืชมีอุณหภูมิลดลง

ส่วน green roof พืชปกคลุมหลังคาจะใช้ “ผกากรองเลื้อย-ริบบิ้นชาลี” และพืชที่ใช้ในโครงการบ่อย ๆ คือ “หญ้ามาเลเซีย” ส่วนพืชปกคลุมดินจะใช้ “ถั่วบราซิล” ที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันสะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์ไปยังชั้นบรรยากาศ เป็นตัวช่วยในการลดอุณหภูมิโดยรอบ

ส่วนโจทย์ในเรื่องปัญหาฝุ่นจิ๋ว การทดลองในโครงการนี้ได้ออกแบบกล่องเพื่อทดลองพืชต่าง ๆ ในการดูดซับ PM 2.5 ซึ่งใช้ธูปเป็นสารตั้งต้นของ PM 2.5

โดยควันที่ระเหยของธูปจะมีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีการใช้ธูป 5 ก้าน แต่ละก้านมีน้ำหนักเท่ากัน น้ำหนักรวม 2.50-2.54 กรัม โดยตั้งธูปไว้แล้วให้พัดลมพัดผ่านตัวพืชไป โดยใช้พืชในอาคาร ไม้ริมระเบียง ไม้พุ่มในการทดสอบ

Footprint Replacement

“ผลดีของผู้อาศัย การปลูกพืชในอาคารทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น ทั้งการเพิ่มออกซิเจนเข้าไป การดูดซับสารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือพวกสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ซึ่งสารเหล่านี้ถูกใช้ในการสังเคราะห์แสงของพืช อีกอย่างหนึ่งการปลูกพืชไว้รอบ ๆ อาคารฝุ่นที่เข้ามาในอาคารจะลดลง เพราะในใบพืชมีความขรุขระ มีขน หรือถ้าใบเรียบก็จะมีการดักจับในลักษณะของไฟฟ้าสถิตดักจับฝุ่น PM 2.5 ได้ดี”

“ดร.กันติทัต” กล่าวด้วยว่า ผลดีในระดับเมือง การปลูกพืชช่วยลดอุณหภูมิพื้นผิว ความร้อนที่ปล่อยออกมาโดยตัวอาคารทำให้อุณหภูมิลดลง จะลดสิ่งที่เรียกว่า “urban heat island-ปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง” ภาพที่เห็นได้ชัดในกรุงเทพฯที่อุณหภูมิสูงกว่ารอบ ๆ เมือง

พอใช้พืชในการปกคลุมพื้นผิวแล้วอุณหภูมิจะลดลง สภาพสิ่งแวดล้อมในเมืองดีขึ้น รวมทั้งฝุ่นที่ถูกดักจับโดยพืชก็จะถูกเก็บไว้ด้วยพืช ชะล้างด้วยฝน ลงสู่ระบบระบายน้ำต่อไป ไม่ได้วนเวียนในอากาศ

“โดยปกติแล้วเราสร้างอาคารจะเหมือนการเอาผืนป่าออกไป เราเลยแทนป่าไว้ที่อาคาร ไม่ว่าจะเป็นหลังคา ภายในอาคาร รอบอาคาร ซึ่งเรียกว่า ‘footprint replacement’ ซึ่งเป็นการช่วยในระดับเมือง ผลเสียจะเป็นในเชิงค่าดูแล เนื่องจากพืชต้องการระบบการรดน้ำ การให้ปุ๋ย ที่จะเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณา แต่ทางโครงการสามารถบริหารน้ำ ปุ๋ยในพืชแต่ละชนิดได้ก็จะลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้”

จุดพลุครั้งแรกของเมืองไทย

ปฏิบัติการ ANANDA Green Taskforce มีตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จ เช่น แอชตัน จุฬา สีลม มีต้นไม้มากขึ้น มีสวนส่วนกลางมากขึ้นในบริเวณที่สามารถ “เติมเต็ม-ต่อยอด” ได้ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณด้านหน้าโครงการ บริเวณที่จอดรถ

หรือโครงการไอดีโอ โอทู บางนา ซึ่งมีพื้นที่ส่วนกลางมากถึง 10 ไร่ จนได้รับรางวัลด้านการออกแบบต่าง ๆ

“อนันดาฯมีศูนย์ research ด้านนี้เป็นรายแรกของอสังหาฯ จะมีการนำต้นไม้พันธุ์ไม้เหล่านี้มาปลูกในโครงการใหม่ ๆ ของบริษัท จุดเน้นคือเราจะทำทุกโครงการที่พัฒนาใหม่ต่อจากนี้ไป” พันธสัญญาของ CEO อนันดาฯ