สต๊อกอยู่ในระดับสูง แต่เริ่มเห็นทางออก

บ้าน คอนโด ธุรกิจ อสังหา

เก็บตกงานสัมมนาแห่งปีของ “REIC-ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์”

หนึ่งในไฮไลต์เป็นช่วงเวลาของ “เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด

โดยส่องงบการเงิน บมจ. อาทิ เสนา ดีเวลลอปเม้นท์, เอพี (ไทยแลนด์), แสนสิริ, LPN, ศุภาลัย, ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้, เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น, พฤกษา เรียลเอสเตท, อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และควอลิตี้ เฮ้าส์

จุดโฟกัสเน้นปีโควิด 2563 ทำเลกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ณ ไตรมาส 1/63 มีโครงการอยู่ระหว่างขาย 609,636 ล้านบาท เป็นแนวราบ 339,710 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 269,926 ล้านบาท

 

ไตรมาส 2/63 สถิติยุบตัวลงเล็กน้อยอยู่ที่ 578,323 ล้านบาท โดยคอนโดฯเหลือ 254,392 ล้านบาท แนวราบอยู่ที่ 323,931 ล้านบาท

การเปิดตัวโครงการใหม่ ณ ปี 2562 มี 201 โครงการ ประเมินสิ้นปี 2563 คาดว่าลดเหลือ 170 โครงการ ต่ำสุดในรอบ 10 ปี

และคาดว่ายอดเปิดตัวโครงการใหม่จะต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 10 ปีเช่นกัน

ในด้านแบ็กล็อก (ยอดขายรอโอน) ณ ไตรมาส 1/63 มี 284,002 ล้านบาท ไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 270,888 ล้านบาท

แบ่งมารับรู้รายได้หรือถึงกำหนดโอน 1 แสนล้านบาท ที่เหลือทยอยส่งมอบในปี 2564-2567

รายละเอียดของแบ็กล็อกมีตัวเลขที่แกะยากมากเพราะโครงการร่วมทุนหรือ JV-joint venture แจ้งแค่บรรทัดสุดท้ายว่าแบ่งกำไรกันเท่าไหร่

พบว่าแบ็กล็อก 2.7 แสนล้านบาทดังกล่าว แยกเป็นแนวราบ 3.8 หมื่นล้านบาท

กับคอนโดฯซึ่งมี 2 พอร์ต คือ พอร์ตที่บริษัทพัฒนาเอง มีจำนวน 1.21 แสนล้านบาท กับพอร์ต JV อีก 1.1 แสนล้านบาท

สถิติของเอเซีย พลัส ชี้ให้ดูว่า ณ ครึ่งปีหลัง 2563 แบ็กล็อกที่ไม่รวมโครงการร่วมทุนที่สร้างเสร็จพร้อมรับรู้รายได้ (ถ้าลูกค้ารับโอน) อยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท

เมื่อรวมกับผลงานครึ่งปีแรก จะทำให้มีสัดส่วน 82% ของเป้ารายได้ขายอสังหาฯ ปีนี้ที่ตั้งเป้าไว้ 2 แสนล้านบาท

ภายใต้สถานการณ์โควิด หลายธุรกิจยกธงขาวจากผลกระทบโรคระบาด แต่ประสิทธิภาพทำกำไรของธุรกิจที่อยู่อาศัยถือว่า “ก็ยังมีกำไร”

นำไปสู่บทสรุปของการจั่วหัวว่า “สต๊อกอยู่ในระดับสูง แต่เริ่มเห็นทางออก”