รถไฟไทย-จีนเดินหน้าก่อสร้างช่วงภาชี-โคราช 5 สัญญา 4 หมื่นล้าน

“ประยุทธ์” ปิดดีลซื้อระบบ 5 หมื่นล้าน รถไฟไทย-จีน “กทม.-โคราช” ร.ฟ.ท.เผยงานรอสางเพียบ ปีนี้ส่งมอบแบบ ก่อนออก NTP พ.ย.เซ็นรับเหมา 5 สัญญา 4 หมื่นล้าน “เนาวรัตน์ฯ-กรุงธนฯ-นภาก่อสร้าง” รอลุ้นที่เหลือติดอุทธรณ์ EHIA “ศักดิ์สยาม” หวั่นกระทบเป้าเปิดปีྀ ทุ่ม 2.5 แสนล้าน ลุย “โคราช-หนองคาย” เชื่อมไฮสปีดลาว-จีน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้เซ็นสัญญา 2.3 ระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนแล้ว เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หลังจากนี้จะเป็นส่งมอบหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP)

ทั้งนี้ ได้หารือร่วมกับฝ่ายจีนยังมีอุปสรรคเริ่มต้นงาน คืองานโยธาที่ยังล่าช้า ติดรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และมีอุทธรณ์ผลการประมูลบางสัญญา อีกทั้งเพิ่งสร้างเสร็จสัญญาเดียว ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. อาจกระทบเป้าเปิดให้บริการในปี 2568 ส่วนจะส่งหนังสือ NTP ได้เมื่อไหร่ รอผู้เกี่ยวข้องพิจารณา

ขณะเดียวกันในเดือน พ.ย.จะเร่งเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เพื่อเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีของระบบรางทั้งหมด และฝึกอบรมบุคลากร โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม วางหลักสูตรรับนักศึกษาต่อไป

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า การออก NTP สัญญา 2.3 แบ่ง 3 ฉบับ 1.ออกแบบระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้า และขบวนรถ 700 ล้านบาท 2.ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้า และผลิตขบวนรถ 48,933 ล้านบาท และ 3.งานฝึกอบรมบุคลากรและการถ่ายทอดเทคโนโลยี 1,000 ล้านบาท

“เริ่มออก NTP งานออกแบบภายในปีนี้ เพราะการออกแบบงานระบบต่าง ๆ และขบวนรถต้องใช้เวลา 10-12 เดือน”

ส่วน NTP งานติดตั้งระบบต่าง ๆ ต้องรองานออกแบบเสร็จก่อนจึงจะออกได้ ขณะที่งานฝึกอบรมบุคลากรไม่ต้องรอให้ทั้ง 2 งานเสร็จ ขึ้นอยู่กับจัดตั้งสถาบันฝึกอบรม ซึ่งกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เพิ่งได้งบประมาณศึกษารูปแบบการจัดตั้งองค์กรจะดำเนินการในรูปแบบใด จะใช้เวลา 2 ปี

สำหรับงานโยธา 14 สัญญา มี 9 สัญญาที่รอเซ็นผู้รับเหมา วงเงิน 95,674.16 ล้านบาท ในเดือน พ.ย.เซ็น 5 สัญญา 40,275 ล้านบาท ได้แก่ สัญญา 3-2 อุโมงค์มวกเหล็ก-ลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. มี บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการก่อสร้าง 4,279 ล้านบาท

สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 21.6 กม. มี บจ.กรุงธนเอนยิเนียร์ก่อสร้าง 9,838 ล้านบาท สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. มี บจ.บีพีเอ็นพี (BINA จากมาเลเซีย-นภาก่อสร้าง) ก่อสร้าง 9,848 ล้านบาท สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK ก่อสร้า ง 7,750 ล้านบาท และสัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. มี บจ.ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง ก่อสร้าง 8,560 ล้านบาท

ส่วนสัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. มี บจ.ไทยเอ็นจิเนียริ่ง เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 9,330 ล้านบาท ยังติดอุทธรณ์ผลประมูล และอีก 4 สัญญา 39,494.16 ล้านบาท รอเปลี่ยนแปลงรายงาน EIA หลังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบให้กลับไปใช้รายงาน EIA เดิม ที่ไม่ขยายสถานีอยุธยาออกนอกแนวเขตทางรถไฟ

“สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท้วงติงแม้ใช้ EIA เดิม แต่ที่ตั้งสถานีอยุธยาอยู่ในเขตขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ต้องทำ EHIA จะศึกษาเพิ่มเติม 3-4 เดือน”

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับช่วงนครราชสีมา-หนองคาย 355 กม. ลงทุน 252,347 ล้านบาท จะไปเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน อยู่ระหว่าง ร.ฟ.ท.ออกแบบรายละเอียด จะเสร็จในเดือน มี.ค. 2564 จากนั้นเสนอ ครม.อนุมัติโครงการในปี 2565 เปิดบริการในปี 2570