ปิดตำนาน “รถเมล์ร้อน ขสมก.” โละเส้นทางให้เอกชน-ปลดหนี้ 1.2 แสนล้าน

เริ่มทยอยปิดบริการอย่างต่อเนื่อง สำหรับ ”รถร่วม” และ ”รถเมล์ครีมแดง” ภายใต้การบริหารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

ล่าสุดถึงคิวปิดฉากสาย 29 “หัวลำโพง-ม.ธรรมศาสตร์รังสิต” และ สาย 207 ”ม.รามคำแหง 1-วิทยาเขตราม 2” ยุติการวิ่งเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา

เซ็งลี้สัมปทาน-เส้นทางให้เอกชน

โดย ”ขสมก.” จะถ่ายโอนสายรถเมล์ดังกล่าวให้เอกชนที่ได้รับให้อนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เดินรถแทน เป็นการปฎิรูปเส้นทางรถเมล์ ซึ่งอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ

สำหรับ ”สาย 29” จะส่งมอบให้บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด ที่เริ่มเข้ามารับสัมปทานวิ่งรถโดยสารปรับอากาศให้กับ ขสมก. ร่วม 31 เส้นทางในปัจจุบัน เช่น สาย 52 ขณะที่ ”สาย 207” ให้ บริษัท ฉมาพันธ์ การเดินรถ จำกัด โดยมีผลวันที่ 1 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา

และหลังจากนี้จะเริ่มเห็นการปิดฉาก ”รถเมล์ร้อน” ขวัญใจรากหญ้า และผู้มีรายได้น้อย ออกมาอีกเรื่อยๆ

และอีกไม่นานในระบบจะไม่มีรถร้อนที่เก็บค่าโดยสาร 8 บาท จะมีแต่รถโดยสารปรับอากาศที่เก็บค่าโดยสารตามระยะทาง และเหมาจ่าย 30 บาทนั่งได้ตลอดวัน ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม

ADVERTISMENT

บิ๊ก ขสมก. เผยมีเลิกวิ่งอีกแน่นอน

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะมีสายรถเมล์ที่จะเลิกวิ่งแบบสาย 29 และ 207 แน่นอน เพียงแต่ว่าตอนนี้สายทางต่าง ๆ ที่มีการแบ่งสายตามแผนปฏิรูปเส้นทาง 269 สายเดิม เป็นของ ขสมก. จำนวน 137 เส้นทาง และเอกชน 132 สาย ยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่า เส้นทางที่แบ่งให้เอกชนเดินรถมีสายใดที่เอกชนมีความพร้อมจะให้บริการโดยที่ไม่ขาดช่วง

“ขสมก. และกรมการขนส่งทางบกในฐานะเป็นเรกูเรเตอร์ กำลังหารือร่วมกันอยู่ ในการจัดเส้นทางเดินรถ เพื่อให้ตอบโจทย์การให้บริการและสอดรับกับแผนฟื้นฟูกิจการที่กำลังจะเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ”

จ่อขอ “ขนส่ง” กลับมาวิ่ง 3 สาย

อย่างไรก็ตาม ยังมีสายรถเมล์บางสายที่ ขสมก. เห็นควรว่า จะกลับมาวิ่งให้บริการอีกครั้ง เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่ามีการให้บริการไม่เพียงพอ เบื้องต้นมี 3 สาย ที่ ขสมก. กำลังเจรจากับกรมการขนส่ง เพื่อขอกลับมาให้บริการ ได้แก่ สาย 7 คลองขวาง – หัวลำโพง, สาย 7ก. พุทธมณฑลสาย 2 – พาหุรัด และ สาย 80ก. หมู่บ้าน วปอ.11 – สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ เป็นต้น

ปฎิรูปใหม่ 162 เส้นทาง

ด้านแหล่งข่าวจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การบอกเลิกสายรถเมล์ของ ขสมก. ในขณะนี้ยังไม่มีการร้องขอเข้ามาเพิ่มเติม ประกอบกับตอนนี้กระทรวงคมนาคมกำลังเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ซึ่งจะผนวกกับการปฏิรูปเส้นทางเดินรถเมล์ใหม่อีกรอบจาก 269 เส้นทางเหลือ 162 เส้นทางให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบภายในเดือน พ.ย. นี้ จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีการบอกเลิกเส้นทางอีกกี่สาย

ส่วนเมื่อมีการใช้แผนปฏิรูปเส้นทาง 162 เส้นทางแทนแผนเดิมจะมีผลอย่างไรนั้น เชื่อว่าเมื่อ ครม.อนุมัติแผนฟื้นฟูแล้ว จะต้องมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านแผนปฏิรูปเส้นทางก่อน ซึ่งกรมการขนส่งทางบก และ ขสมก.จะหารือร่วมกันอีกครั้ง เพื่อให้การเดินรถส่งผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด ยืนยันว่าจะไม่มีการเลิกใช้แผนปฏิรูป 269 เส้นทางเดิมแบบฉับพลัน

“การที่ ขสมก. จะขอกลับมาวิ่งให้บริการสาย 7, 7ก. และ 80ก. อีกครั้งนั้น ก็ได้รับการร้องขอเพียงสายเดียวคือสาย 7 ส่วนสาย 7ก. และ 80ก. ยังไม่มีหนังสือเข้ามา ซึ่งจริง ๆ แล้วสาย 7 ที่ ขสมก. ขอเข้ามา เป็นสายที่ขสมก. บอกเลิกเส้นทางและแจ้งมายัง ขบ.เองตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งหาก ขสมก. คาดการณ์ได้ตั้งแต่แรกว่าสายนี้เอกชนจะให้บริการประชาชนไม่เพียงพอ ก็สามารถเดินรถไปพลางก่อนได้“

“อาคม” โอเคแล้วแผนฟื้นฟู

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คาดว่าแผนฟื้นฟู ขสมก.น่าจะเสนอได้อย่างเร็วที่สุดประมาณวันที่ 10 พ.ย. นี้ ซึ่งเป็นการประชุมครม.ภายหลังการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.ภูเก็ต

สาเหตุที่ยังไม่เสนอ ครม.พิจารณาได้ เนื่องจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ยังรวบรวมความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ครบถ้วน เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง

ครม.ไฟเขียวเปิดประมูลหารถใหม่ทันที

“หลังจาก ครม.อนุมัติ ขสมก. จะเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดประมูลให้เอกชนจัดหารถใหม่ จะทำได้ทันที เพราะขสมก. ได้ทำร่างทีโออาร์ไว้แล้ว รถชุดแรก 400 คัน จะเริ่มเข้ามาภายในเดือน มี.ค. 2564“

สำหรับการจัดการปัญหาหนี้สินของ ขสมก. กว่า 1.27 แสนล้านบาท ได้เข้าหารือกับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ซึ่งโดยภาพรวมไม่มีข้อท้วงติง

แนวทางแผนฟื้นฟู ขสมก.ฉบับใหม่ กระทรวงการคลังจะสนับสนุนค่าบริการสาธารณะ (PSO) ให้ ขสมก.เป็นระยะเวลา 7 ปี รวมวงเงิน 9,674 ล้านบาท และรัฐต้องรับภาระหนี้สินของ ขสมก. ทั้งหมด 127,786.109 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.หนี้จากพันธบัตร 64,339.160 ล้านบาท หนี้จากสินเชื่อเงินกู้ระยะยาว 63,446.949 ล้านบาท เพื่อให้ ขสมก.เลี้ยงตัวเองได้ใน 7 ปี

ในการสร้างรายได้ ขสมก.จะปรับรูปแบบการดำเนินการใหม่ในการจัดหารถใหม่ โดยเช่ารถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,511 คัน และจ้างเอกชน เดินรถให้บริการ เป็นรถโดยสารไฟฟ้า (EV) หรือรถโดยสาร NGV จำนวน 1,500 คัน

“จากเดิมที่ซื้อรถ เปลี่ยนเป็นเช่าแทนโดยจ้างเอกชนวิ่งตามระยะทาง ในโครงข่ายหลักจำนวน 162 เส้นทาง จะเปิดประมูลเอกชนรายไหนให้ค่าเช่าถูกสุดจะเป็นผู้ชนะประมูล จะแบ่งเป็นหลายสัญญา และให้ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี เพื่อป้องการผูกขาด“

คิดค่าตั๋วเหมาจ่าย 30 บาท/วัน

ขณะที่ค่าโดยสารให้คิดแบบเหมาจ่ายไม่จำกัดเที่ยวและเส้นทาง ในราคา 30 บาท/วัน แต่ถ้าหากใครไม่ต้องการจะใช้ตั๋ววันก็มีตั๋วประเภทรายเที่ยวจำหน่ายในราคาเที่ยวละ 15 บาท พร้อมกันนี้จะมีการจัดจำหน่ายตั๋วเดือนแบ่งเป็น 2  ประเภท คือ ตั๋วสำหรับนักเรียน-นักศึกษา จำหน่ายใบละ 630 บาท/เดือน เฉลี่ย 21 บาท/คน/วัน และบุคคลทั่วไป 720 บาท/เดือน เฉลี่ย 24 บาท/คน/วัน

“จากการศึกษาปัจจุบันผู้ใช้บริการกว่า 95% มีการเดินทางไกลและต้องจ่ายค่าโดยสารสูงกว่า 30 บาท/วัน ขณะที่เส้นทางของรถเอกชนร่วมบริการ 54 เส้นทางเอกชนจะเข้าสู่ระบบเดียวกัน รับจ้าง ขสมก.วิ่งตามระยะทาง เก็บค่าโดยสาร 30 บาท ประชาชนได้ประโยชน์ และ ขสมก.จะไม่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงเหมือนในอดีต เพราะเอกชนจะรับความเสี่ยงทั้งหมด“

รีดไขมันองค์กรโละ 5 พันคน

นอกจากนี้จะต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ จะเปิดเออร์ลี่รีไทร์พนักงาน จำนวน 5,301 คน จาก 13,963 คน เหลือจำนวน 8,662 คน จะใช้งบประมาณดำเนินการ 4,560 ล้านบาท จะของบประมาณในปี 2565 เพื่อให้อัตรากำลังคน:รถ 1 คัน ให้เหลือ 2.75 คน/รถ 1 คัน จากเดิมที่มีอัตรากำลังคน 4.65 คน/รถ 1 คัน

ขณะเดียวกัน ขสมก. จะหารายได้อื่นเพิ่มเติม จากการพัฒนาที่ดินในมือ เป็นพื้นที่อู่รถเมล์ ในรูปแบบ TOD หรือการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน เหมือนสถานีรถไฟฟ้า ที่บริเวณอู่บางเขน 11 ไร่ อยู่ในแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว และอู่มีนบุรี 14 ไร่ อยู่ในแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีส้ม นับเป็นทำเลมีศักยภาพจะนำมาเปิดประมูลให้เอกชนพัฒนาสร้างรายได้ในระยะยาว

หากทำได้ตามนี้ ”ศักดิ์สยาม” การันตี จะทำให้ ขสมก.พ้นจากภาวะขาดทุนและมีผลการดำเนินงานจากขาดทุนทุกปี พลิกฟื้นเป็นบวกได้ภายใน 7 ปี หรือภายในปี 2572

ก็ได้แต่หวังว่าการเขย่าแผนฟื้นฟู ขสมก. เพื่อนำไปสู่การยกเครื่อง ”ระบบรถเมล์ประเทศไทย “ จะเป็นครั้งสุดท้ายจริง ๆ