“คมนาคม” งัด 4 ประเด็นค้าน “มหาดไทย” ต่อสัมปทาน BTS

“ศักดิ์สยาม”ยันไม่ได้ขวาง “มหาดไทย-คลัง” ต่อสัญญา BTS แจงเป็นความเห็นเพิ่มประกอบ ครม.ให้สมบูรณ์ เผย 4 ประเด็นที่ต้องชัด “ทำตามกฎหมาย ค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท แพงไป รัฐเสียโอกาสใช้สินทรัพย์ รอป.ป.ช.ชี้มูลจ้างเดินส่วนต่อขยาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่17 พ.ย.2563 การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทางกระทรวงการคลังได้นำผลเจรจาสัมปทานสายสีเขียวทั้งโครงการระหว่างกระทรวงมหาดไทยโดยกรุงเทพมหานคร(กทม.) กับบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTSC) ที่เจรจาแล้วเสร็จตามคำสั่งคสช.

โดยจะขยายสัมปทานให้ 30 ปีหลังสัมปทานเดิมสิ้นสุดวันที่ 4 ธ.ค.2572 ถึงปี 2602 โดยเอกชนจะรับภาระหนี้ค่าก่อสร้างสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและหมอชิต-คูคตที่กทม.รับโอนโครงการมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)และค่าใช้จ่ายอื่นกว่า1แสนล้านบาทแทนกทม.

ทั้งนี้ที่ประชุมครม.รับทราบ แต่ให้ทำข้อมูลเพิ่มเติมเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาต่อไป เนื่องจากวันที่ 16 พ.ย.2563 กระทรวงคมนาคมโดยกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ทำความเห็นประกอบการเสนอครม. 4 ประเด็น จากการศึกษาข้อมูลมาแล้ว

หวั่นทำไม่ถูกกฎหมาย

1. ความครบถ้วนตามหลักการพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562) การดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 ที่ให้ถือว่าการดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับดังกล่าว เป็นการทำตามพ.ร.บ.ร่วมทุนนั้น พบว่า การดำเนินการตามคำสั่งฉบับดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากมีการเจรจา

ดังนั้น กระทรวงคมนาคมเห็นว่า สมควรให้เจรจาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลและความรอบคอบในการวิเคราะห์โครงการในเชิงผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) และอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) รวมไปถึงแหล่งที่มาของเงินทุน ปริมาณผู้โดยสารและค่าโดยสารที่เป็นธรรมก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 และมาตรา 27 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561

ค่าโดยสาร65 บาทแพงไป

2.ค่าโดยสารที่เหมาะสม กระทรวงคมนาคมเห็นว่าอัตราค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท มีราคาสูงกว่าราคาโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จึงเห็นว่าการพิจารณาค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อประชาชน สมควรพิจารณาภายใต้ข้อเท็จจริงดังนี้

ควรคิดค่าโดยสารที่ถูกที่สุดสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากปัจจุบันต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าถึง 130 บาท/วัน หรือประมาณ 35% ของรายได้ขั้นต่ำ 300 บาท

ควรวิเคราะห์ต้นทุนที่แท้จริงและลดหรืองดค่าแลกเข้าต่างๆ เพื่อให้อัตราค่าโดยสารสูงสุดที่กำหนดไว้ที่ 65 บาทมีการปรับลดลงมา ซึ่งรถไฟฟ้าเส้นนี้ถือเป็นเส้นทางหลักอยู่แล้วย่อมมีผู้โดยสารใข้บริการมากขึ้นในอนาคต

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวผ่านจุดคุ้มทุนมาแล้ว โดยมีผู้ใช้บริการมากถึงวันละ 800,000-1,000,000 เที่ยวคน/วัน (ตัวเลขก่อนโควิดระบาด) แต่เก็บค่าโดยสารสูงสุดมากถึง 65 บาท เมื่อเทียบกับสายสีน้ำเงินที่มีผู้ใช้บริการประมาณ 300,000 คน/วัน แต่เก็บค่าโดยสารสูงสุดเพียง 42 บาทเท่านั้น จึงเชื่อว่าอัตราค่าโดยสารดังกล่าววสามารถลดราคาลงได้อีก

รัฐเสียประโยชน์ไม่ได้ทรัพย์สิน

3. การใช้สินทรัพย์ของรัฐภายหลังรับโอนจากเอกชนเมื่อหมดสัญญาสัมปทานปี 2572 กรณีนี้อาจทำให้สินทรัพย์ที่รัฐควรจะได้รวม 68.25 กม. ประกอบด้วย 1)สินทรัพย์เดิมของรัฐ 23.5 กม. 2) สินทรัพย์ของบจ.กรุงเทพธนาคม 12.75 กม.(ส่วนต่อขยายสายสีลม)

และ 3) สินทรัพย์ที่ได้รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 32 กม. (ส่วนต่อขยายเขียวเหนือ-เขียวใต้) อาจจะทำให้รัฐไม่ได้รับประโยชน์ได้ จึงควรพิจารณาก่อนว่า รัฐจะได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาดังกล่าวเท่าไหร่ อย่างไร เพื่อไม่ให้ฝ่ายรัฐสูญเสียประโยชน์

รอป.ป.ช.ตัดสินการจ้างวิ่ง

และ 4.ประเด็นด้านกฎหมาย ควรรอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลกรณี กทม.จ้างบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช – แบริ่ง ( ลาซาล) และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงตากสิน – วงเวียนใหญ่ก่อน เพราะหากต่อสัญญาไป อาจจะมีผลกระทบย้อนหลังได้

ศักดิ์สยามยันไม่ได้ขวาง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ”ว่า กรณีที่กระทรวงคมนาคมเสนอความเห็นการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย เพียงแต่เป็นการเพิ่มเติมในสิ่งที่ไม่ได้มีการทำข้อมูลให้ครบ หากหน่วยงานที่เสนอเรื่องให้ครม.พิจารณา เพิ่มเติมข้อมูลให้ครบถ้วน ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล


“ไม่ใช่ความขัดแย้งกัน อย่าไปมองแบบนั้น ถ้าสื่อมองแบบนี้ กรณีที่เสนอแผนฟื้นฟูขสมก.ไม่ผ่านก็มองได้ไหมว่า กระทรวงการคลังขัดแย้งกับกระทรวงคมนาคม มันก็ไม่ใช่ เป็นเรื่องของการทำหน้าที่” นายศักดิ์สยามกล่าว