เปิดค่าโดยสารรถไฟฟ้า “BTS-MRT” ใครถูกใครแพง

ผลเจรจาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ที่เสร็จสิ้นไปแล้ว

มีเรื่องการปรับโครงสร้างค่าโดยสารใหม่ ค่าแรกเข้าครั้งเดียว 15 บาท เก็บสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย และปรับค่าโดยสารขึ้นทุก 2 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI)

จากค่าโดยสารในปัจจุบันที่บีทีเอสเก็บช่วงได้สัมปทานเดิม 16-44 บาท และ กทม.เก็บส่วนต่อขยายเดิม 15 บาท ส่วนต่อขยายใหม่หมอชิต-คูคต เก็บ 15-60 บาท และแบริ่ง-สมุทรปราการอีก 15-39 บาท รวมระยะทาง 68.25 กม. จำนวน 59 สถานี ค่าโดยสาร 158 บาท

ถึงแม้ว่าราคาสูงสุดจะลดลงมาจาก 158 บาท เหลือ 65 บาท แต่ยังมีเสียงติงว่าแพง ล่าสุด ”ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคมนาคมก็หยิบประเด็นนี้บรรจุใน 4 ประเด็น ที่ทำเป็นข้อมูลเพิ่มเติมถกกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 พ.ย. 2563 หลังกระทรวงมหาดไทยเสนอเป็นวาระจรเพื่อทราบ

โดยคมนาคมระบุค่าโดยสารที่เหมาะสม กระทรวงคมนาคมเห็นว่าอัตราค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท มีราคาสูงกว่าราคาโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จึงเห็นว่าการพิจารณาค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อประชาชน สมควรพิจารณาภายใต้ข้อเท็จจริง

ควรคิดค่าโดยสารที่ถูกที่สุดสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากปัจจุบันต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าถึง 130 บาท/วัน หรือประมาณ 35% ของรายได้ขั้นต่ำ 300 บาท

ควรวิเคราะห์ต้นทุนที่แท้จริงและลดหรืองดค่าแลกเข้าต่าง ๆ เพื่อให้อัตราค่าโดยสารสูงสุดที่กำหนดไว้ที่ 65 บาทมีการปรับลดลงมา ซึ่งรถไฟฟ้าเส้นนี้ถือเป็นเส้นทางหลักอยู่แล้ว ย่อมมีผู้โดยสารใข้บริการมากขึ้นในอนาคต

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวผ่านจุดคุ้มทุนมาแล้ว โดยมีผู้ใช้บริการมากถึงวันละ 800,000-1,000,000 เที่ยวคน/วัน (ตัวเลขก่อนโควิดระบาด) แต่เก็บค่าโดยสารสูงสุดมากถึง 65 บาท เมื่อเทียบกับสายสีน้ำเงินที่มีผู้ใช้บริการประมาณ 300,000 เที่ยวคน/วัน แต่เก็บค่าโดยสารสูงสุดเพียง 42 บาทเท่านั้น จึงเชื่อว่าอัตราค่าโดยสารดังกล่าววสามารถลดราคาลงได้อีก

จากประเด็นนี้ ลองมาดูค่าโดยสาร 2 รถไฟฟ้า เริ่มจาก ”บีทีเอส“ ในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นแบบบัตรโดยสารเที่ยวเดียวใช้เดินทางได้ 1 เที่ยวระหว่างสถานี ตามอัตราค่าโดยสารที่กำหนด 16-44 บาท

ยังมีบัตรประเภท 1 วัน ราคา 140 บาท ใช้เดินทางภายในวันที่ซื้อหรือลงทะเบียนโดยไม่จำกัดจำนวนเที่ยวและระยะทาง

ยังมีบัตรประเภทบุคคลทั่วไปที่จำกัดเที่ยว โดย 15 เที่ยว 465 บาท เฉลี่ย 31 บาท/เที่ยว, 25 เที่ยว 725 บาท เฉลี่ย 29 บาท/เที่ยว, 40 เที่ยว 1,080 บาท เฉลี่ย 27 บาท/เที่ยว และ 50 เที่ยว 1,300 บาท เฉลี่ย 26 บาท/เที่ยว

สำหรับนักเรียน นักศึกษา 15 เที่ยว 360 บาท เฉลี่ย 24 บาท/เที่ยว, 25 เที่ยว 550 บาท เฉลี่ย 22 บาท/เที่ยว, 40 เที่ยว 800 บาท เฉลี่ย 20 บาท/เที่ยว และ 50 เที่ยว 950 บาท เฉลี่ย 19 บาท/เที่ยว

สำหรับ ”รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน” มีระยะทาง 48 กม. จำนวน 38 สถานี เก็บค่าโดยสาร 16-42 บาท โดยตรึงราคานี้ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 จะปรับค่าโดยสารเพิ่ม 1 บาท ในอัตรา 17-42 บาท ปัจจุบันมีบัตรเที่ยวเดียว บัตรชนิดเติมเงิน ไม่มีรายเดือนหรือแบบจำกัดเที่ยว

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ได้มีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการคงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ในอัตราปัจจุบัน คือ เริ่มต้น 16 บาท สูงสุด 42 บาท (ค่าโดยสารสูงสุดคิดที่ 12 สถานี จากจำนวนทั้งสิ้น 38 สถานี) ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ระหว่าง รฟม. กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ได้กำหนดให้มีการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารใหม่ทุก ๆ ระยะเวลา 24 เดือน (2 ปี) โดยใช้วิธีคำนวณบนพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค

ซึ่งอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ครบกำหนดการบังคับใช้ตามสัญญาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา

สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทเด็ก อายุไม่เกิน 14 ปี (วันเกิดครบรอบ 14 ปี) และมีความสูงระหว่าง 91 – 120 เซ็นติเมตร และผู้สูงอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จะได้รับส่วนลด 50% สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทนักเรียน/นักศึกษา ที่มีอายุเกินวันเกิดครบอายุ 14 ปี แต่ไม่เกินวันเกิดครบ 23 ปี จะได้รับส่วนลด 10% จากอัตราค่าโดยสารดังกล่าว

สำหรับอัตราค่าโดยสารใหม่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึง ก.ค.2565 โดยอัตราค่าโดยสารใหม่คือเริ่มต้น 17 บาท สูงสุด 42 บาท จะปรับ 1 บาทมีสถานีที่ 1, 4, 7, และ 10

หากนั่งต่อสายสีม่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ที่ รฟม. ลดราคาจาก 14-42 บาทเหลือเพียง 14-20 บาทตลอดสาย และจะเสียค่าสูงสุด 48 บาท จากเดิม 70 บาท โดย รฟม. ยังลดราคาไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

ส่วนการทำโปรโมชั่น เช่น บัตรรายเดือน ทาง BEM ขอให้ปริมาณผู้โดยสารนิ่งก่อน เนื่องจากขึ้น ๆ ลง ๆ และมีโควิด ปัจจุบันผู้โดยสารวันทำการเฉลี่ย 3.6 แสนเที่ยวคน/วัน ยังต่ำกว่าประมาณการที่ต้องได้ 6 แสนเที่ยวคน/วัน จึงทำให้คิดค่าเฉลี่ยต่อเที่ยวยาก

ทั้งนี้ การลดราคาของสายสีม่วง รฟม. ใช้เงินปลอดภาระผูกพันของ รฟม. ในปี 2563 มีอยู่ประมาณ 400 ล้านบาทรับภาระไปก่อน ยังไม่ได้ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยสายสีม่วงนี้ รฟม. จ้าง BEM เดินรถให้ระยะเวลา 30 ปี