มอเตอร์เวย์ “พัทยา-อู่ตะเภา” ฟรีถึงปี’64 ดึงเอกชนลงทุนจุดพักรถ

“กรมทางหลวง” เลื่อนเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ “พัทยา-มาบตาพุด” เป็นต้นปี’64 เริ่มต้น 10-130 บาท ดึงเอกชนร่วม PPP จุดพักรถ 30 ปี “ศรีราชา-บางละมุง” ชง “ศักดิ์สยาม” ไฟเขียว ธ.ค.นี้ กลางปีหน้ากดปุ่มประมูล

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาตรวจ
ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง พ.ศ. …ฉบับใหม่เสร็จแล้ว และได้ส่งกลับมาที่กรม ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้มีความเห็นเพิ่มเติม

“จะเสนอร่างกฎกระทรวงให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณาเพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ส่วนจะมีผลทำให้ต้องเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. เมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับการกำหนดเงื่อนไขในการประกาศใช้กฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งจะต้องรอให้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาก่อนคาดว่าเริ่มเก็บค่าผ่านทางได้ช่วงต้นปี 2564”

สำหรับอัตราค่าผ่านทางแบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.รถยนต์ไม่เกิน 4 ล้อ ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ (ด่านอู่ตะเภา-ด่านลาดกระบัง) ค่าผ่านทางอยู่ที่ 10-130 บาท ส่วนฝั่งขาออก (ด่านลาดกระบัง-ด่านอู่ตะเภา) ค่าผ่านทางอยู่ที่ 25-130 บาท

2.รถยนต์ไม่เกิน 6 ล้อ ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ ค่าผ่านทางอยู่ที่ 15-210 บาท ส่วนฝั่งขาออกค่าผ่านทางอยู่ที่ 45-210 บาท 3.รถยนต์เกิน 6 ล้อขึ้นไป ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ ค่าผ่านทางอยู่ที่ 20-305 บาท และฝั่งขาออกค่าผ่านทางอยู่ที่ 60-305 บาท

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างจุดพักรถ (rest area) ขณะนี้ประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าต่ำกว่าที่ก่าหนดในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 และ 2563 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว

กรมเตรียมจะเสนอกระทรวงคมนาคม ขอความเห็นชอบรูปแบบกาารลงทุนโครงการก่อสร้างจุดพักรถ จำนวน 2 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณทางแยกไป อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พื้นที่รวม 100 ไร่ แบ่ง 2 ฝั่งขาเข้า-ขาออก ฝั่งละ 50 ไร่ วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท และจุดที่ 2 บริเวณด่านบางละมุง พื้นที่รวม 50 ไร่ แบ่ง 2 ฝั่งขาเข้า-ขาออก ฝั่งละ 25 ไร่ วงเงินประมาณ 900 ล้านบาท

“ที่ดินทั้ง 2 แห่งได้ทำรั้วกั้นพื้นที่ไว้แล้ว ไม่ติดเวนคืนและรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)”

สำหรับรูปแบบการลงทุนที่กำหนดไว้จะเป็น PPP net cost ระยะเวลาสัญญา 30 ปี แยกเป็น 2 สัญญา คือ สัญญา rest area ศรีราชา และสัญญา rest area บางละมุง โดยเอกชนจะต้องเป็นผู้ออกแบบแผนพัฒนาจุดพักรถทั้งหมด

และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดกรมทางหลวง เรื่องมาตรฐานและลักษณะที่พักริมทางในเขตทางหลวงพิเศษ และทางหลวงสัมปทาน 2560 เช่น มีที่จอดรถไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่ทั้งหมด มีพื้นที่พาณิชย์ไม่เกิน 15% เป็นต้น

“คาดว่าจะเสนอคมนาคมปลายเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. และคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือบอร์ด PPP เห็นชอบ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการ”

ทั้ง 2 โครงการจะเดินหน้าไปพร้อมกัน คาดว่าจะเริ่มออกประกาศทีโออาร์ได้ในช่วงกลางปี 2564 และจะได้ตัวเอกชนร่วมลงทุนและดำเนินการก่อสร้างทั้ง 2 โครงการปลายปี 2564