กรรมาธิการคมนาคม ค้านต่อสัมปทานสายสีเขียวควรเก็บค่าตั๋วแค่ 45 บาท

“โสภณ ซารัมย์” นั่งหัวโต๊ะกรรมาธิการคมนาคม ถกปมสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไม่เห็นด้วยต่อสัญญา 30 ปี อ้าง กทม.แจงฟังไม่ขึ้นหลายประเด็นและประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ชี้ค่าโดยสาร 65 บาทแพงไป ควรเก็บแค่ 45 บาท ส่วนการให้เอกชนแบกหนี้แสนล้านไม่จำเป็น “คลัง” ค้ำประกัน-หาเงินกู้ให้ได้ ชี้กระบวนการแก้สัญญาเป็นการซ้อนของเก่า-ใหม่ ยัน กทม. บริหารเองได้ ไม่ควรยกของดีให้เอกชน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 26 พ.ย. 2563 ที่สัปปายะสภาสถาน นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้ามาชี้แจงกรณีต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวแล้ว ในเบื้องต้น คณะกรรมาธิการมีมติไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาดังกล่าวระหว่าง กทม. และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)

หลังจากนี้จะเสนอมติคณะกรรมาธิการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และหากสมาชิกสภาเห็นว่า ประเด็นนี้สำคัญจะขอตั้งเป็นญัตติ เพื่อตรวจสอบโครงการ และอาจจะพิจารณาตั้งเป็นกระทู้ถามในสมัยประชุมสามัญ แต่หากสมาชิกสภายังเห็นว่าไม่เพียงพอ อาจจะนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนจะตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาอีกหรือไม่ อยู่ที่ญัตติของสภา และคณะกรรมาธิการชุดนี้มีอำนาจศึกษาอยู่แล้ว ซึ่งทั้งหมดเป็นกระบวนการปกติของรัฐสภา

“ได้สอบถาม กทม. ถึงการต่อสัญญาดังกล่าวว่ามีเหตุผลอะไรถึงพิจารณาต่อสัมปทานดังกล่าว ประชาชนและรัฐได้อะไร และถ้าหากไม่ต่อสัญญา ประชาชนและรัฐจะเสียประโยชน์อะไร ซึ่งคำขี้แจงของ กทม.และกระทรวงคมนาคมมีความขัดแย้งกัน อีกทั้ง กทม.ก็ชี้แจงฟังไม่ขึ้น”

แนะเก็บสูงสุด 45 บาทพอแล้ว

โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 65 บาท กทม.ชี้แจงเพียงว่า มาจากการสอบถามประชาชนและประชาชนส่วนใหญ่บอกว่ารับได้กับราคาดังกล่าว ด้านกระทรวงคมนาคม มีความกังวลในเรื่องนี้ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2561 ให้ กทม.และกระทรวงคมนาคมบูรณาการร่วมกัน เพื่อผลักดันระบบตั๋วร่วมในประเทศไทย ซึ่งรถไฟฟ้าในขอบข่ายของกระทรวงคมนาคมไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าเลย แต่ของ กทม. พบว่าเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนหลายครั้ง ซึ่งประเด็นนี้ กทม.ก็ตอบไม่ได้

“ส่วนตัวแล้วเห็นว่าควรเก็บสูงสุดที่ 45 บาทก็เพียงพอแล้ว เพราะสายสีเขียวก็เลยจุดคุ้มทุนมานานแล้ว โดย 45 บาทมาจากปริมาณจราจรที่รถไฟฟ้าสายสีเขียวมีผู้โดยสารใช้บริการเป็นจำนวนมาก ถ้าเก็บราคาถูกแต่คนใช้มากก็น่าจะอยู่ได้”

ชี้”คลัง”ค้ำประกัน-หาเงินกู้ให้ กทม.ได้

ส่วนเหตุผลที่ กทม.จำเป็นต้องต่อสัมปทานดังกล่าว มีการชี้แจงว่า เนื่องจาก กทม. แบกรับภาระหนี้สินทั้งหมดรวมวงเงิน 107,000 ล้านบาทไม่ไหว คณะกรรมาธิการฟังไม่ขึ้น เพราะรถไฟฟ้าเป็นบริการสาธารณะ รัฐบาลต้องค้ำประกันและหาแหล่งเงินทุนให้กู้อยู่แล้ว

จึงสอบถามกระทรวงการคลังว่า ทำไมไม่หาแหล่งเงินทุนให้ กทม. เพื่อให้ กทม.ผ่อนชำระเอง ทำไมต้องเอาไปให้เอกชนถือสัมปทาน ซึ่งอาจจะทำให้รัฐเสียประโยชน์ได้ เพราะรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีการประเมินว่า สามารถสร้างได้ให้รัฐเป็นจำนวนเงินถึง 5,000 ล้านบาท/ปี เมื่อหมดสัมปทาน

สงสัยมีสัญญาใหม่ซ้อนสัญญาเดิม

ขณะที่การแก้ไขสัญญา ได้สอบถามกับสำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับการชี้แจงว่า สัมปทานดังกล่าวไม่ใช่การแก้ไขสัญญาสัมปทานเดิม เป็นการดำเนินการตามคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 เรื่อง การดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว คณะกรรมาธิการเห็นว่า มีการแก้ไขในส่วนสาระสำคัญ เพราะมีการต่อสัญญาเพิ่มและส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเขียวก็เพิ่มขึ้นจากเดิม เหมือนกับว่าเกิดสัญญาใหม่ขึ้นมา และบวกกับระยะเวลาสัญญาสัมปทานที่ให้ถึง 30 ปี คณะกรรมาธิการจึงเห็นว่า การต่อสัญญาครั้งนี้ไม่มีประโยชน์

อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ยังไม่มีการลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว เพราะผู้ชี้แจงบางส่วน เช่น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ไม่ได้มาร่วมชี้แจงในครั้งนี้ และกทม.ยังตอบคำถามไม่ครบ จึงต้องรอให้ทั้ง 2 หน่วยงานส่งหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรตามมาในภายหลัง ดังนั้น ขอเรียกว่า การประชุมครั้งนี้มีเป็นข้อเสนอแนะว่า ไม่ควรต่อสัญญาสัมปทานดังกล่าว

“รถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นเส้นทางหลัก เพราะแกนกลางผ่านกลางเมือง ทำไมต้องเอาของดี ๆ ยกให้เอกชนลงทุน ทำไมรัฐไม่บริหารเอง และในที่ประชุมวันนี้ กทม.ก็ตอบไม่เคลียร์ไม่ครบถ้วนด้วย เราอย่ายกของดี ๆ ให้เอกชน รัฐต้องเอาสิ่งที่ดี ๆ ไว้ให้ประชาชน แต่ถ้าจะยกก็ไม่เป็นไร แต่ต้องตอบคำถามให้ครบ และผมยังไม่เห็นว่าประชาขนจะได้อะไร เห็นแต่การให้เอกชนมารับหนี้แทน” นายโสภณกล่าว

กทม.บริหารเองได้ อย่ายกของดีให้เอกชน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมาธิการมีการนำเสนอโมเดลที่เหมาะสมหลังจากสัมปทานสายสีเขียวหมดสัญญาในปี 2572 หรือไม่ นายโสภณกล่าวว่า กทม.มีหน้าที่จัดตั้งทีมบริหารโครงการหลังหมดสัญญาอยู่แล้ว ตอนนี้ กทม. ทำเหมือนว่าไม่มีศักยภาพในการบริหาร เอาของดีไปให้คนอื่น มันอยู่ที่หลักคิด และเชื่อว่า กทม.สามารถบริหารโครงการเองได้