Best Practices “โฮมโปร” ปักธง Omnichannel ย้ำเจ้าตลาดโมเดิร์นเทรดวัสดุเมืองไทย

โฮมโปรแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งบริษัทลูกในประเทศเวียดนาม

ก่อนหน้านี้ เข้าไปบุกเบิกลงทุนในมาเลเซีย ปัจจุบันเอ็นจอยกับ 6 สาขาทั้งในห้างและสแตนด์อะโลนใน KL-กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงมาเลเซีย

ล่าสุด Dow Jones Sustainability Indices ได้ประกาศให้ โฮมโปร เป็นสมาชิก DJSI 2563 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ประเภทดัชนีตลาดเกิดใหม่ emerging markets จากการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในระดับสากล

และโฮมโปรยังคงมีสถานะเป็น best practices อย่างเสมอต้นเสมอปลาย บนทำเนียบบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

9 เดือนกำรายได้ 4.5 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ รายได้ปี 2562 มีรายได้รวม 67,423.88 ล้านบาท กำไรสุทธิทั้งปี 6,176.59 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการ9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน 2563) มีรายได้รวม 45,740.09 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า -9.41% กำไรสุทธิ 3,609.72 ล้านบาท ลดลง -18.49% ปัจจัยหลักมาจากการปิดสาขาในไทยกับมาเลเซียช่วงล็อกดาวน์ประเทศเมื่อไตรมาส 2/63 กับไตรมาส 3/63

ล่าสุดของล่าสุด เครือข่ายประกอบด้วย โฮมโปร 84 สาขา, โฮมโปร S 9 สาขา, เมกาโฮม 14 สาขา และโฮมโปร มาเลเซีย 6 สาขา

“วีรพันธ์ อังสุมาลี” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ โฮมโปร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจัยผลกระทบโควิดในปี 2564 ในภาพรวมน่าจะดีขึ้นกว่าปีนี้ เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่รับผลกระทบรุนแรงไปแล้ว โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ประเทศ ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาส 3/63 ตัวเลขรายได้ขายลดลง -5% กำไรลดลงไม่ต่ำกว่า 10%

ในขณะที่ไตรมาส 4/63 ได้พูดคุยในที่ประชุมนักวิเคราะห์เศรษฐกิจไปแล้วว่า ขอประเมินมาตรการช็อปดีมีคืนของรัฐบาลว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถือเป็นตัวช่วยที่ทำให้ผลประกอบการฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปี โดยโฮมโปรตั้งเป้ารายได้ปี 2564 บวกจากปี 2563 อยู่ที่ 5%

“ปี 2563 เราประกาศเป้ารายได้เติบโตจากปี 2562 ประมาณ 5% ตอนนั้นยังไม่มีสถานการณ์โควิด ซึ่งปีนี้รายได้มีเท่าไหร่ ปีหน้าขอโต 5% เพราะที่ผ่านมาโฮมโปรมีการปรับตัวมาตลอด และจะเป็นกลยุทธ์หลักในการทำธุรกิจปีหน้าด้วย ทั้งการขยายช่องทางขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และการปรับโมเดลธุรกิจรองรับเทรนด์ new normal อย่างเต็มรูปแบบ” คำกล่าวย้ำของ
 “วีรพันธ์” ในฐานะเบอร์ 2 องค์กร

ดึงมือการตลาดเสริมทัพ

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารสปอตไลต์ส่องไปที่มือการตลาด จาก “ศิริวรรณ เปี่ยมเศรษฐสิน” ล่าสุดได้ผู้บริหารจากค่ายซัมซุง “เสาวณีย์ สิราริยกุล” นั่งเก้าอี้ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกลุ่มการตลาดคนใหม่

ภารกิจหลักดูเหมือนโฮมโปรต้องการเพิ่มพลังการตลาด omnichannel ให้เพิ่มดีกรีมากขึ้นไปอีก เพื่อหนีจากคู่แข่งในธุรกิจโมเดิร์นเทรดวัสดุและของตกแต่ง

อีเวนต์แบบรัว ๆ ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี เพิ่งเปิดสาขาที่ 85 ไลฟ์สไตล์มอลล์แห่งใหม่ “มาร์เก็ตวิลเลจ” รังสิต คลอง 4 บนพื้นที่ 35,000 ตารางเมตร ด้วยงบฯลงทุน 1,000 ล้านบาท

โดยสาขาสุดท้ายของปี 2563 อยู่ที่ทำเลถนนสุขสวัสดิ์ แกรนด์โอเพนนิ่ง 28 พฤศจิกายน 2563

“การเข้ามาร่วมงานกับโฮมโปร เพื่อต่อยอดให้การช็อปปิ้งราบรื่น สต๊อกไม่หมด 
ลูกค้าไม่ผิดหวัง คิดถึงโฮมโปร คิดถึงแบรนด์ที่เป็น top of mind”

จุดโฟกัสคือ โฮมโปร รังสิต คลอง 4 มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้ลูกค้าเข้าใจ ที่ผ่านมาทำแต่ไม่ชัด โดยจะนำโมเดลนี้ไปรีโนเวตกับสโตร์อื่น ๆ รวมทั้งมีการเพิ่มไลน์สินค้าใหม่ ๆ 10-15%

ส่วนภาพไดนามิกของโฮมโปร “สิริวรรณ เสริมชีพ” ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร ระบุว่า กลยุทธ์การตลาดภาพรวม สถานการณ์โควิดทำให้เกิดวิถี new normal ผู้บริโภค
มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดย

1.คนอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้มีกิจกรรมในบ้านมากขึ้น โฮมโปรเน้นสินค้าฟังก์ชั่นมากขึ้น เช่น กลุ่มสินค้าคุ้กกิ้ง สมอลล์แพลนต์ ยอดขายเพิ่ม 3-4 เท่า ฯลฯ กลุ่มจัดเก็บสินค้าเพราะบ้านอาจรกมากขึ้น, สินค้าพัฒนาใหม่ เช่น หน้ากาก ฯลฯ
2.ช่วงล็อกดาวน์ผลักดันยอดขายอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น จึงเน้นปรับปรุงสร้าง
ประสบการณ์ที่ดีในการช็อปสินค้าออนไลน์ โดยมีฐานลูกค้าดิจิทัลออนไลน์ 4 ล้านคน
ผสมผสานในรูปแบบออมนิแชนเนล

“อีกเรื่องที่อยากเน้น คือ เซอร์วิส ลูกค้าซื้อไม่ใช่เพราะมีแค่สินค้า แต่มีอาฟเตอร์เซลเซอร์วิส เช่น ฉากกั้นสั่งตัด ประตู-กระจกสั่งตัด โดยสามารถออกนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ต่อเนื่อง”

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกันยายน 2563 โฮมโปรเพิ่งลอนช์โปรแกรม Same Day Delivery หมายถึง “ซื้อ-ส่ง-ติดตั้ง” บริษัทมั่นใจกับบริการนี้ และมีผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคผ่านโฮมโปรเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 27 สาขา

และบริการ Emergency Service 24 hours เจาะลูกค้าสมาชิกโฮมการ์ด ให้บริการในเวลาไหนก็ได้ เช่น ตี 1-2-3 สามารถให้บริการกรณีฉุกเฉิน เช่น ท่อแตก ไฟดับ น้ำรั่ว

2564 ปีแห่งการบุกออนไลน์

ปี 2564 กลยุทธ์การแข่งขันเป็นเรื่องการเตรียมหลังบ้านกับนโยบายบุกแพลตฟอร์มขายบนออนไลน์เพื่อเสริมกับช่องทางออฟไลน์แบบสุดขั้วไปเลย

อัพเดตล่าสุด ก่อนยุคโควิดโฮมโปรมียอดขายออนไลน์สัดส่วน 2-3% ปี 2563 หลังจากผ่านสถานการณ์โควิดเกือบเต็มปี ยอดขายออนไลน์เพิ่มสัดส่วนเป็น 8%

ปัจจุบันมีคำอธิบายช่องทาง omnichannel สไตล์โฮมโปร คือ รูปแบบการขาย O2O-online to offline หมายความว่านั่งคลิกคำสั่งซื้อผ่านออนไลน์ จากนั้นเลือกรับสินค้าที่สาขาใดก็ได้ทั่วประเทศ

ปี 2564 เป็นต้นไป มีการต่อยอดขึ้นไปอีกขั้น ให้เป็น OMO-online merge offline

“ทุกวันนี้ลูกค้าตัดสินใจได้เลยว่า คุณจะเข้าออนไลน์หรือจะไปซื้อที่ store เพราะฉะนั้น หน้าที่ communication ของเราคือต้องปิดการขายให้ได้ง่ายที่สุด เพราะบางคนมี need แล้ว พอต้องเข้า store กว่าจะคิด กว่าจะตัดสินใจ เพราะฉะนั้น สื่อทุกอันในไลน์และเฟซบุ๊กในปีหน้าจะต้องทำให้เมิร์จกันได้ อย่าไปแยกออนไลน์หรือออฟไลน์ ขอแค่ว่าลูกค้าสะดวกที่ไหน”

บทสรุปรวบยอดก็คือ ปีหน้าถือเป็นปีแห่งการบุกออนไลน์ เพราะจะมีแอปพลิเคชั่นโฮมโปรที่สามารถช็อปสินค้าได้ ส่วนการไลฟ์สดจะมีในเฟซบุ๊กและไลน์ ซึ่งจะไลฟ์ทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี วันละ 2 รอบ และอื่น ๆ อีกมากมาย

“ประเมิน worst case (ช่วงล็อกดาวน์ประเทศ) เราผ่านจุดนั้นมาแล้ว สำหรับปี 2564 คาดว่าจะสามารถเติบโตด้านยอดขายไม่ต่ำกว่า 2 ดิจิต” คำกล่าวของ “เสาวณีย์”