เช็กคืบหน้ารถไฟฟ้าทุกสี ต้นปี 64 เปิดประมูล สีม่วง “เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ”

รีวิวรถไฟฟ้าหลากสี ชะลอลงทุนยาวส่วนต่อขยาย รอประเมินผู้โดยสาร หวั่นซ้ำรอยสายสีม่วง สีน้ำเงิน “บางแค-พุทธมณฑลสาย 4” รอ 2-3 ปี  กทม. ยังชั่งใจยืดสีเขียว “สมุทรปราการ-บางปู และคูคต-ลำลูกกา” สายสีแดง 4 เส้นทาง รอเอกชนร่วมทุน PPP เหมาก่อสร้าง รับสัปมทานเดินรถทั้งโครงการ รับเหมารอเฮ! ก.พ.64 รฟม.ประมูลแน่สายสีม่วงใต้ 6 สัญญา 7.7 หมื่นล้าน จ่อจ้างเอกชนเดินรถ

วันที่ 1 ธ.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าหลากสีที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 14 สายทาง รวมระยะทาง 559.16 กม. จำนวน 366 สถานี ความคืบหน้า ณ เดือน พ.ค.2563 เปิดบริการแล้ว 5 สี 7 เส้นทาง ระยะทาง 149.80 กม. ล่าสุดวันที่ 16 ธ.ค.นี้ จะเปิดสายสีเขียวช่วงหมอชิต-คูคต ได้ตลอดสาย และสายสีทองช่วงสถานีกรุงธนบุรี-คลองสาน

อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 สี 6 โครงการ ระยะทาง 156.36 กม. ได้แก่ สายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี สายสีชมพูแคราย-มีนบุรี สายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง สายสีแดงบางซื่อ-รังสิต สายสีแดงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และแอร์พอร์ตลิงก์ต่อขยายพญาไท-ดอนเมือง รวมอยู่ในรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะทยอยเปิดบริการในปี 2564 เป็นต้นไป และอยู่ระหว่างประกวดราคามีสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม

ประมูลม่วงใต้ ก.พ. 2564

แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งเป้าในเดือน ก.พ. 2564 จะเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงินลงทุน 124,176 ล้านบาท จะเริ่มประมูลงานโยธา วงเงิน 77,385 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินราคากลาง คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาก่อสร้างในเดือน ส.ค.-ก.ย. 2564 จะใช้เวลาสร้าง 6 ปี แล้วเสร็จในปี 2570

“งานโยธาแบ่งประมูล 6 สัญญา เป็นงานใต้ดิน 4 สัญญา ทางยกระดับ 1 สัญญา และระบบราง 1 สัญญา ส่วนงานระบบและตัวรถไฟฟ้า วงเงิน 23,064 ล้านบาท กำลังศึกษารูปแบบการลงทุนแบบเอกชนร่วมลงทุน หรือ PPP ได้จัดทำข้อมูลเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.และคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) ตามลำดับ คาดว่ารูปเป็น PPP Gross Cost หรือจ้างเดินรถระยะเวลา 30 ปี เหมือนสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ที่จ้าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM เดินรถให้ เพื่อให้สายสีม่วงเดินรถต่อเนื่องโดยเอกชนรายเดียว”

สายสีน้ำตาลรอ ม.เกษตร-ศึกษา PPP

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย – ลำสาลี ระยะทาง 22.1 กม. วงเงิน 48,000 ล้านบาท ยังอยู่ระหว่างศึกษา PPP โดยจะใช้เวลา 1 ปี จะแล้วเสร็จในปี 2565 เพื่อขออนุมัติรูปแบบลงทุนต่อไป ส่วนรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)

ส่วนการใช้ตอม่อร่วมกับทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วง N1 (แยกเกษตร-ทางด่วนศรีรัช) อยู่ระหว่างประเมินต้นทุนที่อาจจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากหากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยืนยันจะไม่ให้มีการก่อสร้างทางด่วน N1 พาดผ่านหน้ามหาวิทยาลัย ทาง กทพ.จะต้องถอนโครงการออกไป ทำให้เกิดภาระในการก่อสร้างเสาตอม่อของ รฟม.ทันที เพราะเดิมกำหนดไว้ว่าจะใช้เงินทุนจากกองทุนรวมไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFFIF) มาใช้ในการก่อสร้างตอม่อบริเวณที่ผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งอยู่ระหว่างประเมินเงินลงทุนที่จะเพิ่มขึ้น

ยืดสีน้ำเงินถึงสาย 4 ชะลอยาว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงบางแค – พุทธมณฑลสาย 4 วงเงิน 17,262 ล้านบาท ยังไม่อยู่ในแผนที่จะผลักดันในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจาก รฟม. และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ในฐานะผู้รับสัมปทานต้องการดูตัวเลขผู้โดยสารที่มาใช้บริการสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค ที่เชื่อมกับสายสีน้ำเงินเดิมจากบางซื่อ-หัวลำโพง วิ่งบริการครบลูป ระยะทาง 48 กม. จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการตามที่ประมาณการไว้ 600,000-800,000 เที่ยวคน/วัน

“ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 3.6 แสนเที่ยวคน/วัน จากเป้า 600,000 เที่ยวคน/วัน เพราะมีเรื่องโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารยังไม่นิ่ง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี กว่าผู้โดยสารจะกลับมาปกติ”

ต่อขยายสายสีแดงรอศึกษา PPP

ด้านแหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท.ชะลอการเปิดประมูลรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยายที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อต้นปี 2562 เนื่องจากมีนโยบายจากกระทรวงคมนาคมจะนำงานก่อสร้างของส่วนต่อขยายไปรวมกับหนี้ของสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต และให้เอกชนรับสัมปทานเดินรถและพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ

และสถานีในแนวเส้นทางของสายสีแดงทั้งโครงการในรูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลา 30-50 ปี วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท จะศึกษาเสร็จใน ก.ค. เสนอ ครม.อนุมัติเดือน ส.ค.-พ.ย. และคัดเลือกเอกชนในเดือน ธ.ค. 2564-ม.ค.2565 ได้เอกชนในเดือน ธ.ค.2565

สำหรับส่วนต่อขยายที่รอประมูล วงเงินรวม 67,575.37 ล้านบาท ได้แก่ ช่วงรังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม.วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท และสาย Missing Link ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท

กทม.ชั่งใจขยายสายสีเขียว

แหล่งข่าวจากสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.เปิดเผยว่า การเดินหน้าต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว 2 เส้นทาง วงเงินรวม 25,333 ล้านบาท แยกเป็นช่วงคูคต – ลำลูกกา ระยะทาง 7 กม. วงเงิน 11,989 ล้านบาท และช่วงสมุทรปราการ – บางปู ระยะทาง 7 กม. วงเงิน 13,344 ล้านบาท ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายด้าน

เนื่องจากส่วนต่อขยายยิ่งสร้างยาวเท่าไหร่ ยิ่งขาดทุนมากเท่านั้น เนื่องจากพื้นที่ที่ออกไปนอกเมืองไม่ใช่แหล่งงานแหล่งที่อยู่อาศัยหนาแน่นเหมือนพื้นที่ในเมือง อาจจะทำให้ผู้โดยสารยังไม่ถึงเป้าหมายที่คาดไว้ เหมือนกับสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่

ดังนั้น การก่อสร้างส่วนต่อขยายจึงต้องศึกษาให้รอบคอบและรอประเมินผู้โดยสารมาใช้บริการส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-คูคต จะเปิดตลอดสายในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ จะเป็นตามเป้า 330,000 เที่ยวคน/วัน และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารอยู่ที่ 160,000 เที่ยวคน/วัน