รถไฟทางคู่ 5 สายดีเลย์ยกแผง รับเหมาขอต่อเวลา-ติดรื้อแบบ-เวนคืนพุ่ง

รีวิวรถไฟทางคู่ 5 สาย วงเงิน 8.9 หมื่นล้าน สารพัดปัญหารุมเร้า สร้างหลุดเป้ายกแผง รับเหมาพร้อมใจขอต่อเวลา “มาบกะเบา-จิระ” ค่าเวนคืนงอกเพิ่ม 383 ล้าน “ลพบุรี-ปากน้ำโพ” ปรับแบบวุ่น สายใต้ “นครปฐม-ชุมพร” ดีเลย์ทั้งโครงการ ขยายเวลา 15-20 เดือน เลื่อนยาว 1 ปี ร.ฟ.ท. ทุ่ม 1.7 หมื่นล้านติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า ยกเครื่องการเดินรถรับเปิดหวูดปี’66

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างก่อสร้างทางคู่ระยะที่ 1 จำนวน 5 เส้นทาง รวมระยะทาง 700 กม. วงเงิน 89,514 ล้านบาท ทุกสายทางยังมีอุปสรรคที่ทำให้งานก่อสร้างล่าช้า และผู้รับเหมาขอขยายเวลาก่อสร้าง

สายอีสานค่าเวนคืนพุ่ง 383 ล้าน

ล่าสุดสายตะวันออกเฉียงเหนือช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. ค่าก่อสร้าง 29,968.62 ล้านบาท แบ่งสร้าง 3 สัญญา มีปัญหาค่าเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้นจำนวน 383 ล้านบาทจากเดิมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ 56 ล้านบาท โดยมีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะต้องเวนคืนประมาณ 258 แปลง หรือ 242 ไร่ กระจายในพื้นที่ 4 อำเภอ อาทิ มวกเหล็ก ปากช่อง สีคิ้ว เป็นต้น

“ค่าเวนคืนที่เพิ่มเพราะโครงการศึกษาไว้นานและประเมินเฉพาะค่าที่ดิน 56 ล้านบาท เมื่อเข้าพื้นที่มีการปลูกต้นไม้เป็นไม้พาณิชย์ สิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น และตาม พ.ร.บ.เวนคืนใหม่ให้ท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดค่าทดแทนและประกอบกับราคาประเมินรอบใหม่กรมธนารักษ์มีการปรับเพิ่มขึ้น ทางคณะทำงานทดแทนทั้ง 4 อำเภอได้เสนอค่าทดแทนมาจึงทำให้ค่าเวนคืนสูง ทางกระทรวงคมนาคมให้ทำข้อมูลชี้แจงก่อนขอ ครม.ขยายกรอบวงเงินที่ยังขาดอยู่ 383 ล้านบาท จะกระทบต่อไทม์ไลน์การเปิดบริการจากเดิมในปี 2565”

รื้อแบบช่วงคลองขนานจิตร-จิระ

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างสัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ระยะทาง 58 กม.ค่าก่อสร้าง 7,560 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้าง เริ่มสร้างวันที่ 1 ก.พ. 2561 มีความคืบหน้า 70.29% เร็วกว่าแผน 2.78% กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 31 ม.ค. 2565

สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 69 กม. ออกแบบแล้วเสร็จอยู่ระหว่างขอเปลี่ยนรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติม และขอ ครม.เพิ่มวงเงินก่อสร้างจากเดิม 7,060 ล้านบาท เป็นประมาณ 11,000 ล้านบาท เมื่อ ครม.อนุมัติถึงจะเปิดประมูลได้ ตั้งเป้าว่าในปี 2564

และสัญญาที่ 3 งานอุโมงค์ ระยะทาง 5 กม. ค่าก่อสร้าง 9,290 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทยฯก่อสร้าง เริ่มงานวันที่ 1 ก.พ. 2561 มีความคืบหน้า 42.219% ช้ากว่าแผน 8.514% กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 30 ธ.ค. 2564

ลพบุรี-ปากน้ำโพขยายเวลาเพิ่ม

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในส่วนของสายเหนือช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน 21,467 ล้านบาท มีค่าเวนคืนเพิ่มขึ้นกว่า 50 ล้านบาท

โดยสัญญาที่ 1 บ้านกลับ-โคกกระเทียม ระยะทาง 32 กม. มีกิจการร่วมค้ายูเอ็น-เอสเอช และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง ฯ เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 10,050 ล้านบาท เริ่มงานวันที่ 15 มิ.ย. 2561 คืบหน้า 26.06% เร็วกว่าแผน 9.7% กำหนดเสร็จ มิ.ย. 2565

และสัญญาที่ 2 ช่วงท่าแค-ปากน้ำโพ ระยะทาง 116 กม. มี บมจ.ยูนิคฯ เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 8,649 ล้านบาท เริ่มงานวันที่ 1 ก.พ. 2561 คืบหน้า 58.30% ช้ากว่าแผน 1.34% ล่าสุดผู้รับเหมาขอขยายเวลาอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง จากเดิมจะแล้วเสร็จเดือน ม.ค. 2564 เนื่องจากมีการปรับใหม่ในบางช่วง

สายใต้ดีเลย์ทั้งโครงการ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับสายใต้ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กม. วงเงิน 33,982 ล้านบาท แบ่งสร้าง 5 สัญญา โดยภาพรวมยังล่าช้าในช่วงนครปฐม-หัวหิน แบ่งสร้าง 2 สัญญา คือ ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล ระยะทาง 93 กม. วงเงิน 8,200 ล้านบาท มี บจ.เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) เป็นผู้ก่อสร้าง เริ่มงานวันที่ 1 ก.พ. 2561 มีความคืบหน้า 75.375% ช้ากว่าแผน 3.969% และช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน ระยะทาง 76 กม. มี บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 7,520 ล้านบาท เริ่มวันที่ 1 ก.พ. 2561 มีความคืบหน้า 78.498% ช้ากว่าแผน 0.732% ทั้ง 2 สัญญาจะแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. 2564

ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 5,800 ล้านบาท เริ่มสร้างวันที่ 1 ก.พ. 2561 มีความคืบหน้า 77.78% ช้ากว่าแผน 5.65% และได้ขยายสัญญาอีก 11 เดือน สิ้นสุดสัญญาในเดือน มิ.ย. 2564

ช่วงประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย ระยะทาง 88 กม. มีกิจการร่วมค้าเคเอส-ซี (บจ.เค.เอส.ร่วมค้า และ China Railway 11th Bureau Group Corporation Ltd.) เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 6,465 ล้านบาท เริ่มงานวันที่ 1 ก.พ. 2561 มีความคืบหน้า 69.896% เร็วกว่าแผน 0.76% ตามแผนจะต้องเสร็จตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563

และช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร ระยะทาง 80 กม. มีกิจการร่วมค้า เอสทีทีพี (บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บจ.ไทยพีค่อนและอุตสาหกรรม) เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 5,992 ล้านบาท เริ่มงานวันที่ 1 ก.พ. 2561 มีความคืบหน้า 62.514% ช้ากว่าแผน 28.128% ตามแผนจะเสร็จในเดือน ม.ค. 2564

ช่วงประจวบฯ-ชุมพร “ติดปัญหาเปลี่ยนการก่อสร้างจุดตัดผ่านทางรถไฟ 4 จุด เช่น เปลี่ยนจุดกลับรถจากแบบยกระดับเป็นแบบเกือกม้า และจากยกระดับเป็นแบบขนานพื้นดินจะต้องทำประชาพิจารณ์ชาวบ้านเพิ่ม”

ทั้งนี้ โดยภาพรวมงานก่อสร้างทั้ง 5 สัญญาของสายใต้ จะมีการขยายเวลาสัญญาเพิ่มเติมให้ผู้รับเหมาแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้จบ โดยเฉลี่ยจะขอเพิ่มประมาณ 1 ปี

บอร์ดต่อเวลาให้ 15-20 เดือน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) วันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา อนุมัติขยายเวลาสัญญาก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร จำนวน 2 สัญญา อีก 15 เดือน ได้แก่ งานโยธาช่วงประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย สิ้นสุดสัญญาวันที่ 30 ม.ค. 2565 และช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร สิ้นสุดสัญญาวันที่ 30 ม.ค. 2565 และในวันที่ 17 ธ.ค.นี้จะเสนอบอร์ดอนุมัติขยายเวลาก่อสร้างช่วงนครปฐม-หัวหิน ซึ่งผู้รับเหมาทั้ง 2 สัญญาขอขยายเวลาอีกสัญญาละ 20 เดือนสิ้นสุดปลายปี 2565

“ขยายเวลาเพราะแบบเดิมไม่สอดคล้องกับการเข้าพื้นที่ก่อสร้างจริง ทับซ้อนกับระบบอาณัติสัญญาณ ต้องวางแผนในการปรับขยับเนื้องานทั้ง 2 แบบไม่ให้ทับซ้อนกัน แต่ไม่กระทบกับกรอบวงเงินของโครงการ แต่จะกระทบต่อภาพรวมการเปิดให้บริการล่าช้าออกไป 1 ปี หรือจะเปิดได้ในปี 2566”

อาณัติสัญญาณติดเสร็จปี’66

ด้านความคืบหน้าโครงการจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง รวมมูลค่า 11,494.271 ล้านบาท แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้เซ็นสัญญาแล้วเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2562 ตามแผนสายเหนือช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 2,768 ล้านบาท มีกลุ่มร่วมค้าบีที-ยูเอ็น (บอมบาร์ดิเอร์-ยูนิคฯ) เป็นผู้ดำเนินการ จะใช้เวลา 39 เดือน เริ่มงานวันที่ 24 ม.ค. 2563 กำหนดเสร็จในเดือน เม.ย. 2566

ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 2,445 ล้านบาท มีกลุ่ม บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และบริษัท LS Industrial Systems หรือ LSIS ประเทศเกาหลีใต้ เป็นผู้ดำเนินการ ใช้ระยะเวลา 45 เดือน เริ่มวันที่ 24 ม.ค. 2563 กำหนดเสร็จเดือน ต.ค. 2566

และช่วงนครปฐม-ชุมพร วงเงิน 6,210 ล้านบาท มี บจ.China Railway Signal & Communication หรือ CRSC จากประเทศจีน เป็นผู้ดำเนินการ ใช้ระยะเวลา 36 เดือน เริ่มงานวันที่ 27 ม.ค. 2563 กำหนดเสร็จเดือน ม.ค. 2566

ซื้อแล้วหัวรถจักรไฟฟ้า 50 คัน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2563 ร.ฟ.ท.เซ็นสัญญาซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ 50 คัน มูลค่า 6,525 ล้านบาท กับกิจการร่วมค้าเอสเอฟอาร์ เป็นการร่วมมือกันระหว่าง บจ.ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล และ บจ.ริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง จะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาให้ เป็นรถจักรผลิตโดยบริษัท CRRC QISHUYAN CO., LTD. จากประเทศจีนเป็นกลุ่มเดียวกับที่จัดหารถจักร 20 ตัน ก่อนหน้านี้ โดยจะส่งมอบให้ 950 วัน

เสริมทัพทางคู่ขนสินค้า-คน

โดยจะนำมาทดแทนรถจักรเก่าที่มีอายุใช้งานมานาน 44-45 ปี ที่ปลดระวางไปจนทำให้ขาดแคลน และยังรองรับการเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ที่กำลังก่อสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า ผู้โดยสารและหารายได้ในอนาคตให้แก่รถไฟ โดยหัวรถจักรใหม่มีสมรรถนะลากจูงขนส่งผู้โดยสารได้ 120 กม./ชม. และการขนส่งสินค้าที่ความเร็ว 70 กม./ชม.