ผู้ว่ากทม. โชว์ผลงาน แก้น้ำท่วมซ้ำซากไม่ได้ 100% คุมโควิดอยู่หมัด

“อัศวิน” เปิดแถลงผลงานกทม. 2563 “คุมโควิด 90% -ลุยโครงสร้างพื้นฐาน” รับแก้น้ำท่วมซ้ำซากแก้ไม่ได้100% ร่ายยาวผลงานทุกด้าน”สิ่งแวดล้อม-คุณภาพชีวิต-การศึกษา”

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 3 ธ.ค. 2563 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) พร้อมคณะผู้บริหารแถลงผลงานของกทม.ในช่วงปี 2563 และทิศทางนโยบายในปี 2564

ในช่วงแรก พล.ต.อ.อัศวินได้มอบหมายให้ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกทม.เป็นผู้แถลงผลงานของกทม.ในปี 2563 โดยร.ต.อ.พงศกรกล่าวว่า ผลงานในปี 2563 จะแบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1. การควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 2. งานด้านระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงภูมิทัศน์ 3. การบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วม 4. การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการแก้ปัญหา PM2.5 5. ด้านคุณภาพชีวิต-สาธารณสุข และ 6. การศึกษา-เทคโนโลยี

โวคุมโควิดอยู่หมัด 90%

ในส่วนของการควบคุมโรคไวรัสโควิด กทม.ได้กำหนดใช้มาตรการเข้มข้นตั้งแต่ช่วงแรกๆของการแพร่ระบาด แบ่งเป็น 2 มาตรการหลักๆคือ 1. มาตรการควบคุม และ 2. มาตรการช่วยเหลือ

ยอมรับว่าในช่วงแรกที่ใช้มาตรการควบคุมเมืองอย่างเข้มข้นนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมเป็นอย่างมาก มีการเสนอให้ใช้มาตรการภูมิคุ้มกันหมู่แบบประเทศอังกฤษดีกว่า แต่ในท้ายที่สุดผลที่ออกมาทำให้รู้ว่า การใช้มาตรการเข้มข้นตั้งแต่ทำให้ควบคุมการแพร่ระบาดได้ถึง 90%

กทม.ได้จัดทำระบบตรวจคัดกรองผ่านระบบ BKK-Covid-19 ซึ่งสามารถประเมินความเสี่ยงบื้องต้นก่อน หากพบว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ระบบ Call Center จะติดต่อกลับไปเพื่อติดตามอาการ และส่งรถ Mobile Lab เพื่อตรวจหาเชื้อต่อไป

ส่วนมาตรการช่วยเหลือ ได้ออกแบบระบบ BKK Help ซึ่งเปิดเอกชนต่างๆสนับสนุนการช่วยเหลือผ่านระบบนี้ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือรับความช่วยเหลือไป นอกจากนี้ได้ลงพื้นที่แจกถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดกว่า 100,000 ครัวเรือน โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของ กทม.เลย

ขยายรถไฟฟ้า-ฟีดเดอร์-ป้ายรถเมล์-เรือไฟฟ้า

ส่วนผลงานด้านสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงภูมิทัศน์ กทม.สามารถขยายการให้บริการระบบรถไฟฟ้า BTS ต่ออีก 18 สถานี รวมกับสถานีเดิมจะมีทั้งหมด 54 สถานี ทำให้การขนส่งและเดินทางง่ายขึ้น และในวันที่ 16 ธ.ค. 2563 จะมีการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีเขียวช่วงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ – คูคต และสายสีทองช่วงกรุงธนบุรี – คลองสาน

ทั้งนี้ยังทำฟีดเดอร์รองรับเส้นทางรถไฟฟ้าสายหลักที่ทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยจะดำเนินการ Shutter Bus รับ-ส่งผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง ดินแดง – BTS สนามเป้า และเส้นทางชุมชนเคหะร่มเกล้า – สถานีแอร์พอร์ตลิงค์ลาดกระบัง

และดำเนินการปรับปรุงป้ายรถเมล์ให้เป็น Smart Bus Shelter ซึ่งจะมีการเพิ่มไฟส่องสว่างและกล้อง CCTV คาดว่าจะดำเนินการปรับเปลี่ยนได้ทั้งหมดภายในต้นปี 2564

ขณะที่การขนส่งทางน้ำ ได้เปิดให้บริการเรือโดยสารคลองผดุงกรุงเกษมไปเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 ส่วนเรือคลองภาษีเจริญก็เปิดให้บริการไปเมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา

ซ่อมสร้างถนน-ทางลอด-สายไฟลงดิน

ด้านการพัฒนาโครงข่ายถนน ในปีที่ผ่านมามี 4 โครงการสำคัญที่ได้ดำเนินการไป ประกอบด้วย 1.พัฒนาโครงข่ายถนนสายหลักตามแนวตะวันตก – ตะวันออก ที่สามารถรองรับการจราจรได้ถึง 200,000 คัน/วัน ช่วยลดปัญหารถติดช่วงทางแยกต่างระดับถนนศรีนครินทร์กับถนนกรุงเทพกรีทา ช่วงหัวหมาก – ลำสาลี และช่วงถนนร่มเกล้า – ถนนเจ้าคุณทหาร

2.ก่อสร้างทางลอดเพื่อลดปัญหารถติดบริเวณทางแยก รองรับปริมาณรถรวมมากกว่า 100,000 คัน/วัน ประกอบด้วย ทางลอดถนนพัฒนาการ – รามคำแหง – ถาวรธวัช และทางลอดแยกมไหสวรรย์

3.ก่อสร้างทางเชื่อมต่อศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ กับถนนกำแพงเพชร 6 เพื่อลดปัญหารถติดบนถนนแจ้งวัฒนะ จากเดิมที่มีปริมาณรถสะสมบนถนนแจ้งวัฒนะ 50,000 คัน/วัน ปัจจุบันคงเหลือ 40,000 คัน/วัน

และ4.นำสายสื่อสารลงดิน ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.ถนนราชดำริ-สถานีย่อยคลองเตย 2.ถนนจรัญสนิทวงศ์-แยกท่าพระ และ3.ถนนพระราม 3 – ถนนนราธิวาสราชนครินทร์

รับแก้น้ำท่วมไม่ได้ 100%

ร.ต.อ.พงศกร กล่าวต่อว่า ส่วนการแก้ปัญหาน้ำท่วม ยอมรับว่าแก้ไม่ได้ 100% แต่ได้ดำเนินการแก้มลิงใต้ดิน (Water Bank) 2 จุด ได้แก่ช่วงวงเวียนบางเขน และปากซ.สุทธิพร 2 โดยพบว่าคั้งแต่ก่อสร้างแล้วเสร็จพบว่ส พื้นที่ใกล้เคียงบริเวณดังกล่าวไม่พอปัญหาน้ำท่วมเลย

อีกส่วนหนึ่ง ก่อสร้างท่อเร่งระบายน้ำ Pipe jacking ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 แห่ง ได้แก่ 1. บริเวณซอยสุขุมวิท 31 และซอยสวัสดี 2. ระบบระบายน้ำ ถนนสุขุมวิท 107 ถึงคลองบางนา 3. บริเวณถนนทรงสวัสดิ์ ถนนเยาวราช และถนนเจริญกรุง

และ 4. บริเวณถนนพหลโยธิน ทำให้ ถ.เยาวราช ถ.เจริญกรุง และแยกอโศก – ถ.สุขุมวิท 71    นอกจากนี้มีแผนการจัดทำแก้มลิง ก่อสร้างแล้วเสร็จ 5 แห่ง ได้แก่ 1. ประชานิเวศน์ 2. บึงรางเข้ 3. บึงเสือดำ 4. หมู่บ้านสัมมากร 5. หมู่บ้านเฟรนชิพ

เปิดสวนสาธารณะเพิ่ม 4 แห่ง

ขณะที่การปรับปรุงภูมิทัศน์และเพิ่มพื้นที่สีเขียว มีรายงานว่าในปี 2563 มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น 632 ไร่ 3 งาน 31.85 ตารางวา อัตราพื้นที่สีเขียว/ประชากร คิดเป็น 7.08 ตร.ม./คน เปิดให้บริการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา

รวมทั้งเปิดสวนสาธารณะเพิ่ม 4 สวน ตามโครงการ Green Bangkok 2030 ได้แก่ สวนสาธารณะบริเวณห้าแยกต่างระดับถนนร่มเกล้ากับถนนเจ้าคุณทหาร พื้นที่ 30 ไร่ สวนปิยะภิรมย์ พื้นที่ 10 ไร่ สวนสันติพร พื้นที่ 2.5 ไร่ และพื้นที่ใต้ทางด่วนฉลองรัช ชอยปรีดีพนมยงค์ 2 ระยะที่ 1 พื้นที่ 2,520 ตารางเมตร

พัฒนาถนนสายอัตลักษณ์ 9 สายหลัก โดยปลูกต้นไม้ตลอดเส้นทาง รวมยะยะทาง 79.66 กม. ได้แก่ 1. ถนนร่มเกล้า – ศรีนครินทร์ 2. ถนนวิภาวดีรังสิต 3. ถนนสุขุมวิท 4. ถนนเรียบคลองมดตะนอย 5. ถนนบรมราชชนนี 6. ถนนศรีอยุธยา 7. ถนนรัชดาภิเษก 8.ถนนมิตรไมตรี 9. ถนนหทัยราษฎร์

ปลื้มคลองโอ่งอ่าง

ด้านการพัฒนาเมือง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ได้พัฒนาคลองโอ่งอ่าง ให้เป็น Land mark แห่งใหม่ด้วยการจัดให้เป็นถนนคนเดินที่ประกอบด้วย ตลาดนัดชุมชน ถนนสายศิปะ สตรีทอาร์ท และมีกิจกรรมทางน้ำ พายเรือคายัด และเล่นซับบอร์ด

รวมทั้งพัฒนาถนนข้าวสาร ปรับปรุงทางเท้าและถนน จัดระเบียบแผงค้า ให้เป็นถนนคนเดินสตรีทฟู้ด และเพิ่มเส้นทางการท่องเที่ยวจากฝั่งพระนคร-ฝั่งธนบุรี ตั้งแต่ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง -สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา – ชุมชนกุฎีจีน (กะดีจีน)

ด้านการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่น PM 25 ในพื้นที่ 50 เขต ครบทุกจุดทั้ง 50 เขต รวมทั้งได้ติดตั้งเพิ่มเติมในสวนสาธารณะ 20 แห่ง  จัดทำแอปพลิเคชัน Air BKK ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันรายงานคุณภาพอากาศของ กทม.

เปิดโรงพยาบาลเพิ่ม 3 แห่ง

ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสาธารณสุข ได้เพิ่มโรงพยาบาลแห่งใหม่ 2 โรงพยาบาล เพื่อให้ครบทุกมุมมือง ได้แก่ โรงพยาบาลคลองสามวา และโรงพยาบาลบางนา รวมทั้งขยายการบริการโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ให้เป็นโรงพยาบาลรัฐสำหรับบริการประชาชนย่านบางขุนเทียนและย่านชานเมืองด้านกรุงธนใต้    ให้บริการรถตู้บริการสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น จำนวน 30 คัน โดยนัดหมายสถานที่และเวลา รับ-ส่ง ได้อย่างสะดวก 3 ศูนย์บริการ ได้แก่ ศูนย์หนองแขม ศูนย์รามคำแหง 40 และศูนย์พระราม 3

ด้านความปลอดภัย เพิ่มสถานีดับเพลิงย่อยอีก 4 สถานี เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุได้ทันเวลาตามมาตรฐาน พร้อมทั้งติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ในสวนสาธารณะ 57 สวน สะพานลอย 657 สะพาน และถนน 694 ถนน ติดตั้งกล้อง CCTV ติดตั้งแบบเชื่อมต่อศูนย์ควบคุม เพิ่มอีกจำนวน 4,834 ตัว และเชื่อมโยงกล้องที่ Stand alone ให้เป็นกล้องแบบเชื่อมต่อเครือข่ายทั้งหมด 42,000 ตัว รวมทั้งหมด 46,834 ตัว

ด้านการศึกษา โรงเรียนกทม. มีห้องเรียน 2 ภาษา ใน 73 โรงเรียน กระจายอยู่ในหลายสำนักงานเขตเพื่อให้ครอบคลุมผู้เรียนในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ประกอบด้วย ภาษาไทย – อังกฤษ 59 โรงเรียน ภาษาไทย – จีน 14 โรงเรียน และมีเปิดสอนภาษาต่างประเทศอื่นๆ อีก ได้แก่ ภาษาญี่ปุ่น 12 โรงเรียน ภาษาอาหรับ 71 โรงเรียน และภาษามาลายู 7

รวมทั้งจัดการศึกษาให้นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ได้เรียนร่วมกับนักเรียนปกติ ถึง 147 โรงเรียน เพื่อสร้างโอกาสความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษมี 9 ประเภท ได้แก่ นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน สติปัญญา ร่างกายหรือสุขภาพ ภาษาและการพูด อารมณ์และพฤติกรรม การเรียนรู้ ออทิสติก และพิการซ้อน นอกจากนี้ โรงเรียน กทม. มีหลักสูตรฝึกอาชีพให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษา เพิ่มอีก 9 โรงเรียน จากเดิม 14 โรงเรียน รวมเป็น 23 โรงเรียน

สำหรับการใช้เทคโนโลยีในการให้บริการประชาชนของ กทม. ได้จัดตั้งศูนย์ Bangkok Fast & Clear : BFC การให้บริการงานของ 10 ฝ่ายในสำนักงานเขต ครบทั้ง 50 สำนักงานเขต ระบบจองคิวออนไลน์ BMA Q ที่สามารถนัดหมายการบริการของศูนย์ BFC และจุดบริการด่วนมหานคร 12 แห่ง

รวมทั้งจัดทำระบบ DATA Center ซึ่งในอนาคต หน่วยงานของกรุงเทพมหานครและสำนักงานเขตจะสามารถเข้าถึงและสามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้ และจะทำให้การบริการกรุงเทพมหานครเป็นไปในทิศทางเดียวกัน