เศรษฐา ทวีสิน as a Game Changer รัฐบาลต้องเป็นพระเอกฟื้นเศรษฐกิจปี’64

เข้มข้นทุกครั้งที่รับเชิญขึ้นเวทีสัมมนาจัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ รอบล่าสุด งานสัมมนาส่งท้ายปี 2563 “Thailand 2021 New Game New Normal” วันที่ 2 ธันวาคม 2563 ณ แกรนด์ฮอล์ ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก เพลินจิต “เสี่ยนิด-เศรษฐา ทวีสิน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เป็นวิทยากรที่พูดปิดท้ายงานในช่วงฟินาเล่ กับหัวข้อ “Game Changer เปลี่ยนก่อนถูกเปลี่ยน” มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้

Q : อสังหาริมทรัพย์กับผลกระทบสถานการณ์โควิด-19

อสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่สะท้อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ คนชอบถามผมว่าปีหน้าจะเป็นอย่างไร การขยายตัวจะมากน้อยแค่ไหน ผมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องเข้าใจก่อนว่า ถ้า GDP เป็นบวก อสังหาฯก็จะมีการขยายตัวขึ้น โดยทั่วไปผมให้คำนิยามมาโดยตลอด ถ้า GDP ขยายตัว 5% ผมคูณ 1.5 เข้าไป อสังหาฯก็น่าจะขยายตัว 7-8% นี่คือกฎทั่วไปของการที่เราทำบิสซิเนสแพลน

ย้อนไปปี 2019 ตอนที่เราเตรียมแผนงานสำหรับปี 2020 ต้องยอมรับว่าเราก็พอมองเห็น (วิกฤตเศรษฐกิจ) แต่ไม่ใช่เรื่องโควิด เป็นเรื่องของเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีดิสรัปชั่น กำลังซื้อตกต่ำ อันนี้เรามองเห็นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การที่เราเซตเป้าหมายไว้สำหรับปีนี้ เราไม่ได้ aggressive เราหวังว่า (ยอดขาย รายได้) เท่า ๆ เดิมก็น่าจะพอ

ตั้งแต่ช่วง Q2 ของปี 2019 เราเห็นได้ชัดว่าตลาดเริ่มไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำมาตรการ LTV-loan to value มาใช้ หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น รีเจ็กต์เรตของแบงก์สูงอย่างน่ากลัว ถ้าผมเป็นแบงก์ก็คงจะมีความกลัวในการปล่อยสินเชื่ออยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราต้องเซตตัวเลขไว้ต่ำพอสมควร มีการเริ่มลด แลก แจก แถม พอประมาณ

เราทำตั้งแต่ Q3/19-Q4/19 พอมาถึง Q1/20 โควิดเริ่มมาแล้ว เราก็เริ่มเห็นแล้วว่าท่าไม่ค่อยดี ช่วงประมาณปลายเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ อัตราการระบาดค่อนข้างสูง เราเองก็เริ่มออกมาตรการลดราคา พอเดือนมีนาคมชัดเจน เพราะวิกฤตนี้เป็นวิกฤตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เราเคยเจอมา

ก็ถูกสอบถามมาตลอดสำหรับการเปรียบเทียบระหว่าง 2 วิกฤต ระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 กับปัจจุบัน เวลาผ่านมาแล้ว 20 ปี ผมลองคิดดูในเรื่องของภาพใหญ่ว่ามันต่างกันยังไง ปี 2540 เป็นความผิดของผู้ประกอบการ big corporate ต้องเรียนตรง ๆ ว่า เรื่องวินัยทางการเงินนั้นสำคัญ เราขาด (วินัยการเงิน) มาก

ก่อนปี 2540 มีไฟแนนซ์คอมปะนีเยอะ easy credit กู้ได้ง่าย กู้ได้เยอะ มี BIBF มีการกู้ดอลลาร์ได้สูง บริษัทใหญ่กู้กันหมด ต้มยำกุ้งจึงเป็นวิกฤตของบริษัทใหญ่ แต่หลังจากที่เราผ่านวิกฤตตอนนั้นมา capital ratio แข็งแกร่ง งบดุลค่อนข้างมีตัวเลขสูงมาก บริษัทผู้ประกอบการทั้งหลายอย่างแสนสิริเราก็มีการหาพาร์ตเนอร์ใหม่เข้ามา มีการเพิ่มทุนเข้าไป วันนี้แสนสิริมีวินัยการเงินที่แข็งแกร่ง

แต่ว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2559-2563) ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัจจัยสำคัญมาก เป็นเรื่องของรายย่อย เป็นเรื่องของความไม่แข็งแกร่งทางการเงินของรายย่อย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่กว่าเยอะเพราะเป็นเรื่องของกำลังซื้อ เรามองว่ามีหรือไม่มีโควิด (หนี้ครัวเรือน) ยังไงก็เป็นปัญหาใหญ่

อันนี้ก็ต้องพูดด้วย เราต้องยอมรับว่าเราเองก็สร้างเยอะเกินไป (ทำให้ตลาดโอเวอร์ซัพพลาย) ต้องยอมรับเป็นความผิดพลาดตรงนี้ ภาคอสังหาฯเองต้องยอมรับว่า เราสร้างมากเกินไป ทุกอย่างไม่มีปัจจัยเอื้อเลย เราต้องคำนึงว่าการที่จะเดินต่อไปในอนาคต เราต้องเตรียมตัวยังไง

กระแสเงินสดเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าคุณไม่มีเงินสด คุณทำอะไรไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้าง-การส่งมอบห้องชุดหรือบ้าน ที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าที่มีการซื้อล่วงหน้า หรือมีเงินมาจ้างพนักงานทำงาน เพราะฉะนั้น กระแสเงินสดเป็นเรื่องสำคัญมาก ผมเองก็เลยมีการทำโปรโมชั่นค่อนข้างเยอะในช่วงต้นปี Q1-Q2/63 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอยู่ฟรี 24 เดือน ซึ่งเรามองว่าวิกฤตโควิดน่าจะจบภายใน 24 เดือน

วิธีการลูกค้าซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ ผมผ่อนให้ก่อน 24 เดือนแรก เดือนที่ 25 เป็นต้นไป คุณก็ผ่อนต่อ คิดว่าน่าจะเพียงพอต่อการให้เวลาเศรษฐกิจฟื้นกลับมาใหม่ แต่ว่าพอคิดไปคิดมาก็เริ่มไม่แน่ใจว่าผมคิดถูกหรือคิดผิด (ยิ้ม) เพราะฟังท่านรัฐมนตรีคลัง (อาคม เติมพิทยาไพสิฐ) บอกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในอีก 3-4 ปี

ภาคเอกชนเราปรับตัวอยู่ตลอด เศรษฐกิจการท่องเที่ยวเรื่อง bubble travel มีเรื่องการเดินทางข้ามประเทศแล้วมีการกักตัว 14 วัน จะให้เหลือ 10 วัน …หลอกกันหรือเปล่า ผมไม่เห็น (รัฐบาล) มีการเริ่มต้นสักที ฉะนั้น ที่คิดไว้ 24 เดือนเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้น ชักไม่แน่ใจว่าจะพอหรือเปล่า

Q : ผลตอบรับแคมเปญอยู่ฟรี 24 เดือน

ก็ดีมากนะครับ จริง ๆ แล้ว new normal ของผมต้องบริหารจัดการความคาดหวังของ stakeholder ด้วยเหมือนกัน เราต้องอยู่ในความเป็นจริงว่ากำไรต้องลดลงไป สภาพคล่องต้องมี ต้องเทกแคร์ลูกค้าให้ได้ ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลให้ยอดขายของเราสูงขึ้นเยอะ มีการทำเป้าไป แต่กำไรก็จะลดลงเป็นธรรมดาของช่วงเวลานี้ ผมว่าต้องเน้นความอยู่รอดก่อน

ปกติแผนธุรกิจคิดจากความเป็นไปได้ในแง่ของกำไรที่เราคาดหวัง คำว่าคาดหวังต้องอยู่ในโปรเจ็กชั่นถูกต้องไหมครับ ถ้าเกิดขายได้ก็มีกำไร แต่วันนี้จากสภาพแวดล้อมทั้งหลาย ดูจากหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน สภาพการตกงาน ที่ท่านรัฐมนตรีอาคมบอกว่า ประมาณ 1 ล้านคน ผมคิดว่าน่าจะมีมากกว่านั้น

ก็มีคำถามตามมาว่า ถ้าคอยอีก 1 ปี ถ้ายังไม่เปิดประเทศ ยังมีโควิดอยู่ ธุรกิจเราจะลดลงไปอีกหรือเปล่า เพราะฉะนั้น วิธีการลดราคา คุณต้องลดให้เขา (ลูกค้า) เข้าใจว่า ถ้าซื้อในราคานี้เขาแฮปปี้แล้ว ถ้าเกิดในอนาคตอาจจะลดลงไป หรือมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก (ระบาดรอบสอง) เขาทำใจได้ว่าเขาเจอราคานี้แล้ว เพราะฉะนั้น ออฟเฟอร์ที่เราให้ไปต้องโดนใจ

Q : ลูกค้าอาจรอให้ลดราคาลงอีก จะทำอย่างไร

(ยิ้ม) ก็ลองไปดูสิครับ ตัวเลขช่วง Q2-Q3/63 ที่ผ่านมา บริษัทรายใหญ่หลายรายขายได้ดีกว่าปีที่แล้ว เพราะมีการจัดโปรโมชั่นขึ้นมา เพราะฉะนั้น หลาย ๆ รายพอเริ่มมีการขายได้มากกว่าที่คาดไว้ มีกระแสเงินสดที่ดี ทีนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องมีการลดราคา หรือให้โปรโมชั่นที่ aggressive มาก อันนี้ก็ต้องมาวัดกัน

ผมมีความหวังว่าทางรัฐบาลจะออกมาตรการต่าง ๆ มา เราช่วยตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นลดเงินเดือน ไม่รับเงินเดือน หรือให้โปรโมชั่น วันนี้ผมคิดว่าโควิดเป็นอะไรที่จะอยู่กับเราไปอีกนานพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปิดประเทศอีกครั้งหนึ่ง

คือเรื่องการเปิดประเทศจะเริ่มเมื่อไหร่ มาตรการกักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน นักท่องเที่ยวมาถึงยังไม่ได้เที่ยว ต้องกักตัวก่อน 10 วัน ใครเขาจะมา ผมว่าอันนี้เป็นอะไรที่ทางรัฐบาลต้องพิจารณาอย่างละเอียด

จากการที่เราไม่มีโควิดมาเลยนานมากแล้ว (ผู้ติดเชื้อใหม่) มี 2-3 เคสเท่านั้น จากการลักลอบทำผิดกฎหมาย (ลักลอบข้ามพรมแดน) ผมคิดว่าเราควรต้องพิจารณาในการที่จะต้องอยู่กับมันไป คือจะต้องมีโควิดที่ติดภายในประเทศบ้าง โดยการที่ (รัฐบาล) ยอมเปิดประเทศกับประเทศที่จับคู่กัน มีการนำสาธารณสุขมาจับคู่กัน เอาตัวเลขมาจับกัน

ผมว่าอาจจะต้องยอมรับว่าเราจะต้องมีโควิด สมมติมีคน 5,000 คน ใน 1 วันห้ามมีผู้ติดเชื้อใหม่เกิน 50 คน แต่ถ้าเกินขึ้นมาเป็น 200-300 คน ก็ต้องมีมาตรการออกมา จะปิดโรงหนัง ปิดบาร์ ปิดไนต์คลับ ก็ต้องไล่ชักเย่อกันไปเรื่อย ๆ หลาย ๆ ประเทศก็ทำแบบนี้อยู่ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องทำใจ (เน้นเสียง) ว่าเราจะไม่เปิดประเทศจนกระทั่งมีวัคซีน

ซึ่งเราน่าจะได้วัคซีนกลางปีหน้า ก็ดีใจที่รัฐบาลไปเซ็นสัญญากับแอสตราเซเนกามา แต่ก็มีข่าวออกมาว่าวัคซีนไม่ได้เอฟเฟ็กทีฟมากขนาดนั้น มีแค่ประมาณ 95% ที่โอเค อีก 5% ก็อาจจะเป็นเพราะพันธุกรรม หรืออะไรหลาย ๆ อย่าง ที่ทำให้ไม่สามารถป้องกันได้

ต่อมาพอมีวัคซีนแล้ว ใครจะได้ฉีดก่อน-หลัง แน่นอนบุคลากรทางการแพทย์ทางสาธารณสุขทั้งหลายต้องได้รับก่อน ต่อไปเป็นคนมีตังค์หรือเปล่าที่ได้รับก่อน คนไม่มีตังค์ได้รับทีหลังหรือเปล่า จะมีการกลายพันธุ์หรือเปล่า เหล่านี้ถ้าเกิดเราต้องไปพึ่งคนอื่นค้นคว้า ทดลอง วิจัย ผลิต มันใช้เวลานาน ตอนนี้เรา observe อยู่ สูตรอยู่ที่เขา แต่ผลิตที่เรา ถ้าเกิดมีการกลายพันธุ์ก็ต้องส่งกลับไปอีก ต้องทำวัคซีนใหม่ แล้วต้องใช้เวลาเท่าไหร่

เพราะฉะนั้น เรื่องของการเปิดประเทศ ผมคิดว่าเป็นอะไรที่เราต้องพิจารณา เพราะว่าวัคซีนยังไงก็คงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

Q : เอกชนเสนอให้เปิดประเทศ

ใช่ครับ ผมคิดว่าดีกว่าแน่นอน เพราะอย่างน้อยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การบินสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ เพราะฉะนั้น เรื่องภาวะการว่างงาน อย่างแสนสิริเองเราก็ไม่รู้ว่าเราจะอั้นคนไว้ได้นานแค่ไหน เพราะปัจจุบันนี้การแข่งขันข้ามอุตสาหกรรมก็มีเกิดขึ้น อย่างโรงแรมบางโรงแรมแถวมักกะสัน ทำเลใจกลางเมืองเลย นำห้องพักมาปล่อยเช่ารายเดือน 9,000 บาท

ขณะที่ลูกค้าสัดส่วน 30% คนซื้อคอนโดฯของแสนสิริ ซื้อเพื่อการลงทุนปล่อยเช่า ถ้าค่าเช่าเท่า ๆ กันตรงนั้นประมาณ 10,000 บาท แต่โรงแรมมีทุกอย่าง ฟูลเซอร์วิส ราคาถูกกว่า ใครจะซื้อคอนโดฯผม นั่นคือมีการต่อสู้กัน (ห้องเช่าในคอนโดฯ กับการดัมพ์ราคาของโรงแรม) ก็เป็นสิ่งที่น่าคอนเซิร์นมาก

Q : มองภาพรวมเศรษฐกิจปีหน้าอย่างไร

ขึ้นอยู่กับการเปิดประเทศ, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล, การแก้ไขปัญหาของเอสเอ็มอีซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในกระดูกสันหลังของชาติ และอีกหลายปัจจัย ผมเชื่อว่าวันนี้ผู้ประกอบการทุกรายเราช่วยตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าใช้จ่าย การลดราคา ตอนนี้ขึ้นอยู่กับมาตรการรัฐมากกว่า เราไม่ได้ผลักภาระ แต่เป็นช่วงเวลาที่เราต้องยอมรับความจริงว่า สภาพเศรษฐกิจค่อนข้างน่าเป็นห่วง

รัฐบาลมีมาตรการดี ๆ ออกมาหลายอัน อย่างเรื่องซอฟต์โลนของเอสเอ็มอี วงเงิน 5 แสนล้านบาท แต่เอสเอ็มอีเข้าถึงไม่กี่ราย ตัวเลขที่ผมรู้มาจากธนาคารพาณิชย์มีแค่ 1 แสนล้านเท่านั้นเอง นอกนั้นเข้าไม่ถึง

เข้าไม่ถึงเพราะอะไร เอสเอ็มอีทำธุรกิจอยากจะไปทำโรงแรมด้วย แต่ไม่มีใบอนุญาตโรงแรมก็ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อตรงนี้ได้ กองทุนที่ตั้งมาเงินก็ไม่ถูกนำไปใช้ ถ้าสนับสนุนให้เขาเข้าถึงเงินกองทุน เขาจะหมุนเงินได้ ธุรกิจเดินไปได้ ไม่ว่าพนักงานหรือเจ้าของก็มีเงินซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ ผมว่าก็ต้องช่วยกันทุกภาคส่วน

Q : มีข้อแนะนำเอสเอ็มอีในการปรับกลยุทธ์ทำธุรกิจปีหน้ายังไง

เรื่องกระแสเงินสดเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ถ้าคุณไม่มีเงิน คุณทำอย่างอื่นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ต้องมีวินัยการเงิน ต้องตัดเนื้อ (ลดราคา ลดกำไร ลดค่าใช้จ่าย) เพื่อได้มาซึ่งเงินสดเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ผมเชื่อว่าคนที่เป็นเจ้าของกิจการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก รายกลาง หรือรายใหญ่ มีวิญญาณของเถ้าแก่อยู่เยอะ ทุกคนได้พยายามแล้ว โควิดเป็นวิกฤตที่จริง ๆ แล้วเราไม่เคยเจอมาก่อน อย่าไปเบลมตัวเอง หรืออย่าไปเบลมใคร มันเป็นอะไรที่เราไม่เคยคาดเดามาก่อน

วันนี้อยากจะให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลตรงนี้เยอะขึ้น เรื่อง soft loan ของเอสเอ็มอีต้องใช้คำว่ายังไม่เวิร์กเท่าที่ควร มีหลาย ๆ กรณีที่ SMEs ไม่สามารถเข้าถึงด้วยปัจจัยหลายปัจจัย บางคนก็บอกว่าน่าจะมีวิธีการใหม่ออกมา ที่ให้เขาเข้าถึงแคชโฟลว์ได้ เพราะถือเป็นหัวใจของการทำธุรกิจจริง ๆ

ยกตัวอย่าง ส่วนมากแคชโฟลว์ที่เอสเอ็มอีได้ มาจากการทำธุรกิจของตัวเอง จากสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินก็ไม่อยากจะให้ เพราะให้ไปก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ก็อยากจะให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเยียวยาตรงนี้ด้วย

ข้อเสนอเราทำเป็นแบบแมตชิ่งฟันด์ขึ้นมา สมมติว่าธุรกิจต้องการ 100 บาท ถ้าแบงก์ยอมปล่อยให้ 50 บาท กองทุนรัฐบาลปล่อยอีก 50 บาท โดยรัฐบาลปล่อยแบบไม่มีเงื่อนไข ปล่อยทุกกรณีถ้าหากแบงก์ปล่อย ฉะนั้นแบงก์เป็นตัวสกรีนให้เรียบร้อยแล้วว่า เอสเอ็มอีรายนี้มีความเป็นไปได้ในการดำรงอยู่ต่อไป

ถ้าแบงก์ยอมจ่ายเงิน (สินเชื่อ) 50 บาท รัฐก็ต้องจ่าย (สนับสนุนสินเชื่อ) 50 บาทด้วย แต่เป็นลักษณะของ superior เอสเอ็มอีกลับมาฟื้นเมื่อไร ก็ต้องใช้คืนก่อน แล้วห้ามเอาเงินตรงนี้ไปใช้คืนหนี้เก่า เอามาซื้อวัสดุก่อสร้างหรืออะไรที่บำรุงเศรษฐกิจต่อไปได้ เศรษฐกิจก็จะหมุนต่อไปได้

ผมเชื่อว่าเอสเอ็มอีเป็นพอร์ชั่นของสินเชื่อในระบบการเงินของประเทศ น่าจะใกล้เคียงสัดส่วน 30% ถ้าเกิดตรงนี้ทำต่อไปได้ คุณก็จะมีเงินซื้อบ้านผม มีเงินมาท่องเที่ยวภายในประเทศ

Q : โมเดลสปีด ทู มาร์เก็ต ที่ใช้แก้ปัญหาของแสนสิริ

ตัว S-speed เป็นเรื่องสำคัญมาก ในโลกของการแข่งขัน ถ้าคุณทำก่อน คุณได้ก่อน กำลังซื้อของคนมีจำนวนจำกัด ถ้าเกิดตัดสินใจแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เหมาะสมที่ต้องทำ ทำเลยดีกว่า ทำให้เร็ว เรื่องของผู้บริหารต้องเข้าถึงได้ ต้องนั่งบัญชาการอยู่ ต้องเป็นที่พึ่ง การให้ decision making process เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ

Q : นโยบายหาร 2 ในการสั่งการทีมงาน

ยุคนี้ต้องเร็ว อะไรทำได้ก็หาร 2 แต่ถ้าหาร 2 ไม่ได้ ก็อาจจะกลายเป็นทำเร็วขึ้นสัก 20-30% ก็ยังดีกว่า แต่ก็ต้องให้ความคาดหวัง ซึ่งความคาดหวังของผมก็คือ ต้องเร็วมาก เร็วจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแคมเปญใหม่ การโฆษณา ถ้าเราออกก่อน เราได้เปรียบ เช่น อยู่ฟรี 24 เดือน พอเราออก ก็มีคนออกตาม แต่คนแรกที่ออก ลูกค้าจะจำได้

Q : แสนสิริมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้เป็นแบรนด์ที่หนึ่งในใจผู้บริโภค

งานบริการหลังการขายของพวกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นค่ำคืนเดียว มันเกิดขึ้นมาจากสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเทกแคร์ลูกค้า การให้บริการหลังการขาย เพราะฉะนั้น อย่าหวังว่าอยู่ดี ๆ คุณทำแคมเปญใดแคมเปญหนึ่งขึ้นมาแล้ว จะเข้าไปอยู่ในหัวใจของลูกค้าได้ เพราะของที่ผมขายไม่ใช่ของราคา 10 บาท 20 บาท ของที่ผมขายมีราคาตั้งแต่ 1 ล้าน-500 ล้านบาท เพราะฉะนั้น ต้องให้เกียรติลูกค้า ต้องทำกันในระยะยาว

Q : การดูแลลูกค้าของแสนสิริช่วงเกิดโควิดยังต้องดูแลลูกค้ากลุ่มเดิมด้วย (ลูกบ้านในโครงการเก่า)

ใช่ครับ อันนี้ก็สำคัญ หลาย ๆ คนก็อยากฟังว่าเดินไปข้างหน้าแสนสิริ หรือบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป จะมีโครงการอะไรที่ออกไป แล้วก็ให้คำนิยามกับภาวะ new normal life ยังไง

ธุรกิจของผมเป็นธุรกิจ simple ครับ ไม่อยากให้ใครไปบิดเบือนว่าเป็นธุรกิจที่เก๋ เท่ มีเสา 4 เสามีหลังคาหุ้ม เราหาที่อยู่อาศัยให้คนอยู่ ส่วนเรื่องของโควิด เรื่อง contactless เรื่องเทคโนโลยีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องใส่ใจ ก็มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาเสริมในบ้านได้ตลอดเวลา

แต่ผมว่าต้องตื่นนะ คนเราต้องตื่นมาคิดใหม่ เพราะเมื่อผมใส่ของเหล่านี้เข้าไป ราคามันจะเพิ่มขึ้น แล้วคนซื้อไหวไหม ก็ซื้อไม่ไหวอยู่ดี อันนี้มันเป็นทางสองแพร่ง ซึ่งเราต้องแยกให้ถูก ถ้าคุณทำของดีเกินไป ทำของที่ตอบโจทย์กับ new normal ได้ ต้องดูว่าคนสามารถ afford ได้หรือเปล่า ถ้าบอกว่าก็ทำของที่ราคาเหมาะสม หลาย ๆ อย่างไม่ว่าจะเป็น sustainability, green, solar roof พลังงานบริสุทธิ์ เหล่านี้แพงกว่าของธรรมดาทั่วไปที่เราเคยใช้กันมาในอดีต วันนี้เราต้องยอมรับความจริง ในโลกของกำลังซื้อเป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่าแน่นอนเราก็ต้องพยายามตอบโจทย์ในเรื่องของ new normal

Q : ทำอย่างไรที่จะพาพนักงานให้พร้อมสู้ไปกับเรา

ผมประกาศตั้งแต่ตอนต้นปีตอนที่ crisis เริ่มขึ้นว่า เราไม่มีการลดพนักงาน ยกเว้นที่เราทำทุกปีคือเรื่อง bottom five โมเดลคือใครก็ตามที่เป็น 5% สุดท้ายเราคงให้ออก ถ้าเราช่วยกัน เราทำสิ่งที่เราควรจะทำ เราก็จะอยู่ไปได้

แต่เรียนตรง ๆ นะครับว่า วันนี้ไม่ค่อยแน่ใจ ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจมันไม่ดีจริง ๆ เราก็อยากให้คนต่างประเทศเข้ามาซื้อบ้านของผม แต่เขาซื้อบ้านของผมมันก็ผิดตั้งแต่แรกแล้ว เพราะต่างชาติซื้อบ้านคนไทยไม่ได้

ก็เคยเขียนจดหมายถึงท่านนายกฯว่า leasehold-สิทธิการเช่าชาวต่างชาติให้ 99 ปี (ปัจจุบันกฎหมายให้เช่าสูงสุด 30 ปี) หรือให้ต่างชาติเข้ามาซื้อได้ ก็ทัวร์ลง (โซเชียลมีเดีย) เมนต์เรื่องของความมั่นคงของชาติ จะให้ขายประเทศให้เขา (ต่างชาติ) เลยหรือ เราก็น้อมรับฟัง แต่ก็เป็นข้อคิดอย่างหนึ่ง

ซึ่งจริง ๆ แล้ว อย่าลืมว่าภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่ให้มัลติพลายเออร์แอสเสท คนซื้อบ้าน เฟอร์นิเจอร์ก็ขายได้ สีก็ขายได้ สายไฟก็ขายได้ ปูนก็ขายได้ จะปั่นเศรษฐกิจได้ ก็มีหลายคนบอกอีกว่า (ดีเวลอปเปอร์) ก็สร้างเยอะเกินไป ทำไมต้องให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ
ก็ยอมรับว่าเราอาจจะสร้างเยอะเกินไป แต่วันนี้มันต้องมาดูว่า การกู้เศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในภาวะที่ยังมีโควิดอยู่ ในภาวะเรื่องของการ balance ระหว่างสาธารณสุขกับเศรษฐกิจที่ยังไม่ลงตัว

Q : ช่วงโควิดผู้บริหารทำงานหนักขึ้น มีเวลาได้หยุดบ้างหรือเปล่า

ยุคโควิดทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิม ไม่สบายใจมากขึ้นกว่าเดิม เรื่องของความเครียดก็มีมากขึ้นกว่าเดิม เรื่องของอารมณ์ก็มีมากกว่าเดิม ไม่ว่ากับคนรอบข้าง พนักงาน หรือกับรัฐบาลเองก็ตาม (หัวเราะ) แต่ก็ยืนยันว่าเป็นความหวังดี เป็นความที่เราได้ใกล้ชิดกับลูกค้า ได้ใกล้ชิดกับคนทำงานด้วยกันจริง ๆ เราถึงได้ทราบปัญหา

ผมบอกกับตัวผมเองและบอกกับคนใกล้ชิดตลอด คำพูดเหล่านี้ก็อาจจะถูกบิดเบือนได้ว่า ทุกวันนี้คุณทำงานหนักขึ้นในความคาดหวังที่ผลตอบแทนอาจจะเท่าเดิม หรือลดน้อยลง แต่ถ้าคืนนี้เข้านอน แล้วทำความเข้าใจ และยอมรับคอนเซ็ปต์นี้ได้ ตื่นมาพรุ่งนี้ก็สดใสครับ

Q : มีอะไรจะบอกกับคนทำธุรกิจ การปรับตัวเมื่อเจอ Crisis

ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี เราต้องพยายามหาสิ่งที่ดี ๆ เราต้องมีความหวัง ดูว่าอะไรจะเป็นทางรอด ต้องมีการต่อสู้ สำคัญที่สุดคือเรื่องของกระแสเงินสด จะอย่างไรก็ตามถ้ามีความหวัง จะมีกำลังใจ แต่ถ้าคุณไม่มีกำลังเงิน คุณไปต่อไม่ได้ อันนี้ต้องช่วยตัวเอง และก็ต้องหวังจากภาครัฐ

ผมเน้นมาหลายหนเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าจะส่งภาระให้ภาครัฐอย่างเดียว แต่ผมคิดว่าหลาย ๆ ท่าน (ผู้ประกอบการ) ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายย่อยก็ตาม เราต้องกล้าพูด เราพูดเรื่องความจริง เราไม่พูดเรื่องคน เราพูดว่าจะต้องมีการช่วยเหลือ

ถ้าปัญหาเอสเอ็มอีไม่ได้รับการแก้ไข ปีหน้ายอดขายผมก็ตก ผมเองก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาด้วย แม้ว่าจะเป็นส่วนน้อยก็ตาม

ผมเสนอไปแล้วในเรื่องของ matching fund แสนสิริเองเราซื้อของจาก (ซัพพลายเออร์) รายใหญ่ เพราะรายใหญ่ได้มาตรฐาน ราคาดี แต่ผมก็ได้บอกกับทางฝ่ายจัดซื้อว่า ตอนนี้เราต้องเปลี่ยนนโยบาย คุณภาพต้องเป็นหลัก แต่ถ้าเกิดราคาอาจจะต้อง (ยอม) แพงขึ้นนิดนึง อาจต้องซื้อเอสเอ็มอีบ้าง ผมก็มีการออก social media ไป ก็มีกลับมาประมาณ 5-6 ราย ซึ่งผมก็ดีใจว่าเป็นส่วนน้อยในการต่อลมหายใจให้กับเขาได้

ผมยืนยันนะครับว่าไปคนเดียวไม่ได้ อสังหาริมทรัพย์ยังไงก็ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจมหภาคอยู่ดี ถ้าประเทศไปไม่ได้ GDP ไม่โต เราก็โตไม่ได้ ต้องหวังพึ่งเอสเอ็มอีด้วย

เพราะเอสเอ็มอีคือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาโดยตลอด