คมนาคม-กทม.ซัดกันนัวค่าตั๋ว BTS-MRT ”อัศวิน” ตรึงราคาสายสีเขียว 65 บาท

“คมนาคม” รายงาน”ประยุทธ์-อนุพงษ์” เพิ่มปมขยายสัมปทานบีทีเอส “ศักดิ์สยาม”ปัดตั้งแง่โครงการ ย้ำทำให้รอบคอบ เผยรฟม. คำนวณค่าโดยสารถูกกว่าเยอะ ชี้ต่อสัญญายังมีเวลาอีกตั้ง 9 ปี “อัศวิน”ส่งข้อมูลถึงมหาดไทยชงครม.แล้ว ตอกกลับสายสีน้ำเงินปรับราคาต่อเนื่อง ปีหน้าขึ้นอีก 1 บาท ลั่นสายสีเขียวจะตรึง 65 บาทอีก 10-20ปี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ความคืบหน้าของการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกไปอีก 30 ปี ตนจะนำข้อมูลในรายละเอียดไปให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึง 4 ประเด็นที่กระทรวงคมนาคมมีความเห็นเสนอเข้าไปมีรายละเอียดอะไรบ้าง

ศักดิ์สยามแจงทำให้รอบคอบ

“เพื่อให้เกิดความละเอียดรอบคอบในการดำเนินโครงการให้ถูกต้อง ส่วนจะคุยกันเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับท่านนายกฯเห็นสมควร”

โดย 4 ประเด็นยังประกอบด้วยประเด็นหลักๆเดิม คือ 1. การดำเนินการตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ครบถ้วนตามคำสั่งดังกล่าวหรือไม่ 2. การกำหนดอัตราค่าโดยสาร 3. การบริหารทรัพย์สินต่างๆ และ 4.ข้อพิพาทที่ยังค้างอยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งต้องดูให้ครบ

สัมปทานเหลือ 9 ปียังมีเวลาพิจารณา

“ตอนนี้ยังมีเวลาพิจารณา เพราะกว่าสัมปทานเดิมจะหมดอายุลงก็ปี 2572 หรืออีกประมาณ 9 ปี ส่วนสัญญาจ้างเดินรถก็จะหมดลงในปี 2585 ด้วย ซึ่งตัวสัญญาเดินรถมีข้อพิพาทอยู่ที่ ป.ป.ช. โดยในสัญญาจ้างเดินรถก็ให้ BTSC เป็นผู้เดินรถอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหาอุปสรรคในการเดินรถไม่ว่าจะช่วงไหนก็ตาม

ปัดตอบปมกรรมาธิการไม่ให้ต่อสัมปทาน

ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ยังไม่เห็นชอบการต่อสัมปทานสายสีเขียว ก็เป็นเรื่องระหว่างทางคณะกรรมาธิการและกทม. กระทรวงคมนาคมจะไปให้ความเห็นแทนคณะกรรมาธิการคงไม่ได้ แต่จะไม่กระทบกับการเดินรถแน่นอน

“ไม่ใช่ไม่ต้องรีบ แต่จริงๆแล้วขอให้ไปดูข้อมูลให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ผมว่าเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องทั้งในแง่ข้อกฎหมาย และสิ่งที่จะกระทบกับประชาชน หากมีการดูข้อมูลเรียบร้อย ตอบข้อสงสัยทางกฎหมายได้ ก็สามารถพิจารณากันได้ อันนี้เราให้ความเห็นเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความรอบคอบเท่านั้นเอง และไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหน กทม. รฟม. คมนาคม หรือมหาดไทย ก็มีหน้าที่ที่จะต้องเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายต่างๆให้ประชาชน” นายศักดิ์สยามกล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงกรณีที่ BTSC ระบุว่าหากไม่ต่อสัญญา ค่าโดยสารสูงสุดอาจจะอยู่ที่ 158 บาท นายศักดิ์สยามระบุว่า การคิดราคาค่าโดยสารมันมีหลักการอยู่ ทั้งดัชนีผู้บริโภค (CPI) และค่าเฉลี่ยระยะทางที่เดินทาง จะต้องนำข้อมูลมาดูให้ละเอียดและต้องอธิบายให้ได้และอย่าลืมว่า การเปิดให้บริการเป็นการให้บริการประชาชน

โว รฟม.คำนวณค่าตั๋วถูกกว่า 65 บาท

ส่วนการบอกว่าการเก็บค่าโดยสารสูงสุดแค่ 65 บาทถูกเทียบค่าโดยสารกับสายสีน้ำเงินไม่ได้นั้น ขอให้ดูในรายละเอียด ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ทำส่งไปแล้ว และได้เห็นแล้วว่ามีความเหมือนและแตกต่างกันตรงไหน ซึ่งพร้อมจะอธิบายว่าวิธีคิดค่าโดยสารของกระทรวงเป็นอย่างไร

โดยหลักการคำนวณของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถคำนวณได้ต่ำกว่าตัวเลขที่กทม.คำนวณไว้ที่ 65 บาท กระทรวงคมนาคมเองก็อยากดูว่า กทม.มีหลักการคิดราคาค่าโดยสารอย่างไร เพราะการอธิบายอะไรจะต้องมีหลักการ

อัศวินส่งสัมปทานถึงมือ”มหาดไทย”แล้ว

ด้านพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ได้ตอบคำถามของคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานแล้ว

ซึ่งทั้ง 4 ประเด็นได้ตอบตรงทุกประเด็นแล้ว ส่วนจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเมื่อไหร่ กทม.ได้เสนอไปที่กระทรวงมหาดไทยแล้ว อยู่ที่กระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้เสนอครม. และต้องติดตามต่อว่าครม.จะพิจารณาอย่างไรให้ต่อหรือไม่ต่อ ซึ่งขอให้รอขั้นตอนนี้ก่อนว่า ครม.จะว่าอย่างไร

ยังราคาใหม่เป็นไปตามหลักคำนวณ

“สิ่งสำคัญที่สุดซึ่งกทม.ต้องทำให้ได้คือ ทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดเท่านั้น หากไม่ได้ต่อสัญญาแล้วต้องเก็บค่าโดยสารสูงสุดถึง 158 บาท เราก็เห็นว่าประชาชนเดือดร้อนนะ เราจะต้องทำอย่างไร หรือหากได้ต่อ แล้วมีประเด็นว่าค่าโดยสารสูงสุด 65 บาทแพงไป ยืนยันว่าไม่แพง เป็นไปตามสูตรคำนวณดัชนีผู้บริโภค (CPI)”

ส่วนที่มีการเปรียบเทียบกับสายสีน้ำเงินที่เก็บสูงสุดแค่ 42 บาท ของสายสีน้ำเงินระยะทาง 38 กม. เทียบกับสายสีเขียวไม่ได้ เนื่องจากสายสีเขียวมีระยะทางทั้งหมด 68 กม. มากกว่าถึง 30 กม.จึงอยากถามว่าแพงกว่าตรงไหน

ลั่นสายสีเขียวตรึงราคาเดิมอีก10-20ปี

นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีการปรับขึ้นค่าโดยสารต่อเนื่อง ล่าสุดกำลังจะปรับขึ้นในปี 2564 โดยสถานีที่ 1, 4, 7 และสถานีที่ 10 จะมีอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1 บาท แต่สายสีเขียวไม่มีการขึ้นราคา

“ ซึ่ง 10-20 ปี จะไม่มีการขึ้นราคา ยืนยันว่า กทม. จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ส่วนการคัดค้านการต่อสัมปทานสายสีเขียวมีประเด็นทางการเมืองหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ”ผู้ว่าฯกทม.กล่าวย้ำ