คลอดบริษัทลูก SRT แอสเสท คุมพอร์ตที่ดินสัญญาเช่ารถไฟ 3 แสนล้าน

สถานีกลางบางซื่อ
Mladen ANTONOV / AFP

ดีเดย์ ธ.ค.เดินหน้าประมูลที่ดินแปลง A 32 ไร่ “สถานีกลางบางซื่อ” รับเปิดหวูดรถไฟฟ้าสายสีแดงในปี 2564 ไม่รอบริษัทลูกคลอด บอร์ด ร.ฟ.ท.เคาะชื่อแล้ว “บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด” ทุนจดทะเบียน 50 ล้าน บริหารงานสไตล์เอกชน คุมพอร์ตที่ดินและสัญญาเช่าทั่วประเทศ มูลค่า 3 แสนล้าน เปิดให้เอกชนเช่าพัฒนาโครงการ ทั้งที่ดินใจกลางเมือง สถานีหัวเมืองใหญ่ ในแนวทางคู่ เผยทำสำเร็จใน 10 ปี โกยรายได้ 123,797 ล้าน ล้างหนี้ 1.77 แสนล้านได้แน่!

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563 คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ได้รับทราบตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2563 ที่ให้ ร.ฟ.ท.จัดตั้งบริษัทลูกบริหารทรัพย์สิน และเห็นชอบให้ดำเนินการตามมติ ครม.ดังกล่าว โดยบริษัทลูกบริหารทรัพย์สินจะใช้ชื่อที่เป็นทางการว่า “บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด” (บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด) ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท หรือ 25% ของวงเงิน 200 ล้านบาทที่ ครม.อนุมัติให้ ร.ฟ.ท.กู้ยืมและให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน

ส่วนที่เหลือ 150 ล้านบาท จะใช้ในการเพิ่มทุนในภายหลัง และตั้ง 3 รองผู้ว่าการเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทคนละ 1 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ได้แก่ นายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ, นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า และนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการกลุ่มอำนวยการ และมี ร.ฟ.ท.ถือหุ้นใหญ่ 99.99%

โดยคาดว่าจะสามารถจดจัดตั้งบริษัทได้ภายในเดือน ม.ค. 2564 จากนั้นจะมีประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อสรรหาคณะกรรมการ (บอร์ด) ของบริษัท จำนวน 9 รายขึ้นไป ส่วนตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ (MD) ของบริษัท เนื่องจากบริษัทลูกมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ 2518 จึงต้องให้บอร์ด ร.ฟ.ท.พิจารณาตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้น

โดยกระบวนการสรรหาบอร์ดและ MD จะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2564 หลังจากนั้นจะเป็นการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง ร.ฟ.ท.กับบริษัทลูก เพื่อโอนทรัพย์สินเป็นที่ดิน จำนวน 38,469 ไร่ ให้ไปอยู่ในความดูแลของบริษัทลูก พร้อมกับโอนพนักงานของฝ่ายบริหารทรัพย์สินประมาณ 10-15% ไปสังกัดบริษัทลูกด้วย คาดว่าการโอนทรัพย์สินต่าง ๆ จะเสร็จสิ้นในเดือน ต.ค. 2564

“ตามไทม์ไลน์ ร.ฟ.ท.จะถ่ายโอนงานและการดำเนินธุรกิจที่ดินมีสัญญาเช่า จำนวน 15,270 สัญญา ให้เสร็จในปี 2566 ส่วนที่ดินเปล่าที่ยังไม่มีสัญญาเช่า มีพื้นที่รวม 38,469 ไร่ มีมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท จะโอนให้เสร็จในปี 2573 ได้แก่ ที่ดินแปลง A สถานีกลางบางซื่อ ที่ดินสถานีแม่น้ำ ที่ดินแปลงใหญ่ พื้นที่โครงการตามแผนแม่บท 25 สถานี พื้นที่สถานีแนวรถไฟทางคู่ เป็นต้น”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า หากบริษัทลูกสามารถดำเนินการได้ตามแผน จะทำให้มีผลตอบแทนรายได้ใน 10 ปี อยู่ที่ 123,797 ล้านบาท และภายใน 30 ปี อยู่ที่ 631,628 ล้านบาท จากในปี 2563 คาดว่ามีรายได้ 3,070 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการนำมาแก้ปัญหาภาระบำเหน็จบำนาญและหนี้สินในปัจจุบันที่มียอดสะสมอยู่ที่ 177,611.806 ล้านบาท รวมถึงหนี้สินที่อาจเกิดจากข้อพิพาทต่าง ๆ ในอนาคตด้วย

นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ร.ฟ.ท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ย่านสถานีกลางบางซื่อ บริเวณแปลง A เนื้อที่ 32 ไร่ มูลค่าโครงการ 11,721 ล้านบาท หลังจากบอร์ด ร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2563 เห็นชอบให้เปิดประกวดราคาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้นั้น คาดว่าจะออกประกาศทีโออาร์เชิญชวนเอกชนมาประมูลได้ภายในสิ้นเดือน ธ.ค. 2563 นี้ โดยเป็นการเปิดประมูลตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2556 ตามผลการศึกษาเดิมอีกครั้ง

โดยกระบวนการคัดเลือกหลังจากออกประกาศทีโออาร์แล้ว จะใช้เวลาดำเนินการคัดเลือกเอกชนประมาณ 5 เดือน ซึ่งจะมีกำหนดยื่นซองประมูลภายในเดือน พ.ค. 2564 และคาดว่าจะได้ตัวเอกชนร่วมลงทุนในเดือน ก.ค. 2564 ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะไม่รอให้จัดตั้งบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์แล้วเสร็จก่อน เนื่องจากถือว่าโครงการพัฒนาที่ดินแปลง A ผ่านการพิจารณามาหลายขั้นตอนแล้ว โดยกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สินจะเป็นผู้ดำเนินการเอง

“การโอนทรัพย์สินต่าง ๆ ให้กับบริษัทลูกบริหารทรัพย์สิน ขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยกัน เพราะตัวบริษัทลูกยังไม่ได้มีการก่อตั้งอย่างเป็นทางการ เท่าที่ประเมินคร่าว ๆ มีที่ดินที่เป็นของ ร.ฟ.ท.ประมาณ 38,000 ไร่ทั่วประเทศ แต่จะโอนทั้งหมดให้บริษัทลูกทั้งหมดเลยหรือไม่นั้นยังตอบไม่ได้ เพราะต้องมีการหารือกับบริษัทลูกก่อน”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงสถานีกลางบางซื่อที่มีกำหนดจะเปิดให้บริการในปี 2564 จะต้องโอนให้บริษัทลูกด้วยหรือไม่ รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า กรณีสถานีกลางบางซื่อคงต้องรอให้คณะทำงานศึกษาและเปรียบเทียบการบริหารจัดการการเดินรถโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ระหว่าง ร.ฟ.ท.กับการให้เอกชนร่วมลงทุน ที่ ร.ฟ.ท.กำลังจ้างบริษัทที่ปรึกษาสรุปผลการศึกษาก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หากรวมเอาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 13,000 ตร.ม.ของสถานีกลางบางซื่อไปเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุน PPP สายสีแดงทั้งโครงการด้วย ก็คงจะโอนให้ไม่ได้

เนื่องจากติดเงื่อนไขการลงทุนแบบ PPP แต่ถ้าผลการศึกษาไม่ได้เอาไปรวมด้วย ต้องนำกลับมาหารือกับบริษัทลูกอยู่ดีว่า จะต้องโอนทั้งหมดหรือโอนบางส่วน ซึ่งถือเป็นเรื่องในอนาคต และไม่กระทบกับการเปิดใช้งานสถานีกลางแต่อย่างใด