เปิดค่าตั๋วรถไฟฟ้าหลากสี รัฐคลอด “บอร์ดตั๋วร่วม” คุมค่าโดยสาร

มีทั้งข่าวดีและข่าวร้ายมาพร้อมรถไฟฟ้าสารพัดสีที่ทยอยเปิดให้บริการ นอกจากจะช่วยให้คนเดินทางสะดวก แต่ก็ต้องควักเงินเสียค่าเดินทางเพิ่มขึ้นและหลายต่อ

10 ปีไม่คืบหน้าตั๋วร่วม

ขณะที่ความหวังจะพึ่ง “ระบบตั๋วร่วม” ก็ดูเลือนราง เจอโรคเลื่อนซ้ำซากมาร่วม 10 ปี ล่าสุด “กระทรวงคมนาคม” ในฐานะเจ้าภาพ กำลังออกแรงเข็นระบบการเชื่อมต่อของ 3 รถไฟฟ้า สายสีเขียว สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ให้ใช้บัตรโดยสารแตะข้ามระบบกันได้แบบไร้รอยต่อ จากเดิมจะคิกออฟเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา สุดท้ายขยับไปเป็นในปี 2564

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ระบบตั๋วร่วมมีการผลักดันมากว่า 10 ปี นับจากวันที่ 22 พ.ย. 2550 ที่ผู้ประกอบการเดินรถ ได้แก่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) ปรับปรุงระบบใหhรองรับกันได้ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะ BEM ไม่พร้อม

ต่อมาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ปรับเปลี่ยนหัวอ่านบัตรโดยสารแต่ละระบบ ส่งต่อให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้บริหารจัดการ แต่ไม่มีความคืบหน้า เนื่องจาก รฟม.จะเปลี่ยนเป็นระบบ EMV

ปี’64 คิกออฟแตะข้ามระบบ

ล่าสุดนโยบายเปลี่ยนให้เร่งนำบัตรโดยสารที่ใช้ในระบบ คือ บัตรแมงมุม 2 แสนใบ บัตร MRT Plus และบัตร MRT 2 ล้านใบ และบัตรแรบบิท 12 ล้านใบ ให้ใช้บริการข้ามระบบกันได้ ให้แล้วเสร็จในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ถึงขณะนี้ยังไม่สามารถใช้บริการได้ เนื่องจากติดโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญงานระบบไม่สามารถเดินทางมาได้

“การใช้บัตรแตะข้ามระบบ ผู้ประกอบการแต่ละระบบจะดำเนินการเอง ซึ่ง BTS มีค่าใช้จ่าย 120 ล้านบาท ส่วน BEM และ รฟม.อยู่ที่ 225.4 ล้านบาท แอร์พอร์ตลิงก์ 105 ล้านบาท ซึ่งการใช้บัตรข้ามระบบด้วยกันได้ เป็นการดำเนินการระยะสั้น ให้ประชาชนที่ถือบัตรโดยสารของแต่ละระบบสะดวก แต่ยังเสียค่าโดยสารตามการใช้งานจริง ตอนนี้บีทีเอสดำเนินการใกล้เสร็จแล้ว ส่วน รฟม.และ BEM ยังไม่สรุปค่าใช้จ่าย คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ภายในปี 2564 ใน 3 ระบบก่อน คือ บีทีเอส MRT สีม่วง ส่วนแอร์พอร์ตลิงก์ยังติดปัญหาการประมูล”

ระบบตั๋วเปิดรออีก 2 ปี

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนระยะยาวทาง รฟม.จะดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วมในรูปแบบ account based ticketing (ABT) เป็นระบบเปิด เป็นการใช้บัตรผ่านระบบบัญชีบัตร ครอบคลุมทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือโดยสาร ทางด่วน ร้านสะดวกซื้อ ด้วยบัตรใบเดียว คาดว่าจะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี หรือภายในปี 2566

สำหรับการใช้อัตราค่าโดยสารร่วม (common fare) น่าจะมีความชัดเจนขึ้น หลังระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. 2563 มีผลบังคับใช้ จะมีคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (CTAC) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน จะมีอำนาจหน้าที่ เช่น จัดทำและเสนอนโยบายหรือแนวทางในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม และค่าธรรมเนียมในการดำเนินงานระบบตั๋วร่วม ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)

“ที่ผ่านมาเป็นการขอความร่วมมือจึงทำให้ยังไม่สำเร็จ อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะทั้งสายสีเขียวและสายสีน้ำเงินยังมีสัญญาสัมปทานเดิมอยู่ หากกระทบต่อรายได้เอกชนทางรัฐก็ต้องไปสนับสนุน แต่ถ้าลดราคาแล้วผู้โดยสารเพิ่ม ไม่กระทบเอกชน ก็อาจจะเจรจาสำเร็จได้ อยู่ที่นโยบาย”

บี้ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า

อย่างกรณีนั่งสายสีม่วงมาต่อสายสีน้ำเงิน ที่ปัจจุบันเสียค่าแรกเข้าครั้งเดียว เนื่องจาก รฟม.รับภาระให้ BEM ในส่วนค่าแรกเข้า 14 บาท ของสายสีน้ำเงิน หลังเชื่อมต่อกับสายสีม่วงที่สถานีเตาปูน เพราะ BEM ยึดตามสัญญา ส่วนสายใหม่ที่อยู่ในกำกับดูแลของ รฟม. เช่น สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีส้ม จะคิดค่าโดยสารเริ่มต้น 14-42 บาททุกสาย แต่หากจะใช้ระบบเชื่อมต่อกัน จะเสียค่าแรกเข้าครั้งเดียว แต่ถ้าไปใช้สายสีเขียวจะต้องเสียค่าแรกเข้าเพิ่ม เพราะสายสีเขียวอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.)

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้มีการหยิบประเด็นเรื่องลดค่าโดยสารรถไฟฟ้ามาพิจารณากัน หลังนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายผลักดันเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน แต่ไม่มีความคืบหน้าเพราะติดสัมปทานเดิม แต่ รฟม.ได้ลดราคาสายสีม่วงให้เหลือ 14-20 บาท และยกเว้นค่าแรกเข้าสายสีน้ำเงินให้ ทำให้ผู้ใช้บริการสายสีม่วงมาต่อสายสีน้ำเงินจ่ายสูงสุด 48 บาท ที่สามารถดำเนินการได้เพราะรัฐลงทุนงานโยธาให้ ขณะที่สายสีเขียวเอกชนลงทุนเองทั้งหมด

“การที่คมนาคมออกมาพูดถึงค่าโดยสารสูงสุด 65 บาทของสายสีเขียว เพื่อต้องการให้เอกชนยอมลดราคาลงอีก เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายแรก ๆ ของนายศักดิ์สยาม และอาจจะเห็นผลตอบรับจากการเจรจาต่อสัญญาทางด่วนแล้ว BEM ยกเว้นค่าทางด่วนในช่วงวันหยุดให้ จึงอยากให้บีทีเอสลดราคาสายสีเขียวลงอีก แต่จริง ๆ ก็ต้องคุยทุกเจ้า ทั้งบีทีเอส MRT แอร์พอร์ตลิงก์ที่ปีหน้าจะมีกลุ่ม ซี.พี.มารับสัมปทาน” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับประเด็นค่าโดยสารรถไฟฟ้าเป็นสิ่งที่คาใจคนใช้บริการมานาน ถึงแม้จะเป็นการบริการที่เป็นทางเลือกโหมดหนึ่งของการเดินทางก็ตาม เพราะหาก “บิ๊กคมนาคม” ทำได้จริงก็จะได้ใจคนกรุงไปได้ไม่มากก็น้อย

เปิดค่านั่งรถไฟฟ้าสายใหม่

เมื่อพลิกดูราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเปิดบริการ ในส่วนสายสีเขียวที่มีทั้งสายหลัก ส่วนต่อขยายช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 ตามโครงสร้างราคาใหม่ที่ “กทม.-กรุงเทพมหานคร” เจรจาได้ข้อยุติกับบีทีเอส จะล้างที่เก็บหลายต่อ เป็นเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว เริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 65 บาท

ด้านสายสีทอง เก็บ 15 บาทตลอดสาย แต่เมื่อเข้าระบบบีทีเอสที่กรุงธนบุรีจะต้องเสียค่าแรกเข้าอีก 16 บาท สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เตรียมเปิดบริการเชิงพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 2564 จะเก็บค่าโดยสารทันที 14-42 บาท สายสีแดง “ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต” จะเปิดเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 2564 จะเก็บค่าโดยสาร 15-50 บาท

ส่วน “แอร์พอร์ตลิงก์” ปัจจุบันเก็บค่าโดยสาร 15-45 บาท ก็เป็นที่จับตาภายใต้การบริหารของกลุ่ม ซี.พี.จะมารับช่วงต่อในเดือน ต.ค. 2564 จะขยับค่าตั๋วใหม่หรือไม่ โดยในสัญญากำหนดให้ราคาจากพญาไท-สุวรรณภูมิไม่เกิน 45 บาท/เที่ยว แต่ถ้าเปิดส่วนต่อขยายเพิ่มเติมไปยังบางซื่อ และดอนเมือง จะเก็บได้ไม่เกิน 97 บาท/เที่ยว

ทั้งหมดฝากความหวังไว้กับ “คณะกรรมการตั๋วร่วม” จะสามารถคุมค่าโดยสารรถไฟฟ้า ที่ใคร ๆ ก็ว่าแพงให้ถูกลงได้อีกหรือไม่