แลนด์มาร์กใหม่ สถานีกลางบางซื่อ ฮับระบบรางใหญ่สุดในอาเซียน

น่าจะเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ ”รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” เมื่อแลนด์มาร์กใหม่อย่าง ”สถานีกลางบางซื่อ” ใกล้อวดโฉมเปิดบริการภายในปี 2564

ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ เวลา 13.45 น. “พลเอกประยุทธ์” จะยกคณะรัฐมนตรี ทัวร์พื้นที่สถานี ดูความคืบหน้าการก่อสร้าง พร้อมทดลองนั่งรถไฟชานเมืองสายสีแดงจากสถานีกลางบางซื่อ-รังสิต หลัง ”ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ใช้เวลาก่อสร้างร่วม 8 ปี หมดเงินก่อสร้างเฉียด 1 แสนล้านบาท กว่าจะได้ฤกษ์นับถอยหลังเปิดหวูดในเดือน พ.ย. 2564

ขึ้นแท่นใหญ่สุดในอาเซียน

สำหรับ ”สถานีกลางบางซื่อ” เป็นหนึ่งในสถานีของรถไฟชานเมืองสายสีแดง มีพื้นที่ 487 ไร่ เมื่อเปิดดำเนินการในปี 2564 จะมีขนาดใหญ่น้อง ๆ สนาบินสุวรรณภูมิ และขึ้นแท่นเป็นสถานีระบบรางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในอาเซียน

จะเป็นศูนย์กลางของการเดินทางด้านระบบราง ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และรถไฟความเร็วสูง อีกทั้งยังเป็นจุดต่อเชื่อมสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน  และบางซื่อ-รังสิต คาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการ 208,000 เที่ยวคน/วัน และเพิ่มเป็น 396,000 เที่ยวคน/วัน ในปี 2575

โดยมีพื้นที่ใช้สอยรวม 274,192 ตร.ม. เป็นอาคารสูง 3 ชั้น โดยชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลารถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และสายสีแดง 4 ชานชาลา และชั้นที่ 3 เป็นชั้นชานชาลารถไฟที่ใช้รางขนาด 1.435 เมตร มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และแอร์พอร์ตลิงก์ 2 ชานชาลา รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และสายเหนือ 6 ชานชาลา และสายใต้ 4 ชานชาลา รวม 12 ชานชาลา

ภายในสถานีบริเวณชั้นใต้ดิน มีพื้นที่รวม 72,542 ตร.ม. มีที่จอดรถ 1,624 คัน ชั้น 1 มีพื้นที่รวม 86,700 ตร.ม. เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว ร้านค้า ศูนย์อาหาร โถงพักคอยและจุดเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงิน ชั้นลอย มีพื้นที่รวม 12,020 ตร.ม. เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม ร้านค้า และห้องควบคุม ชั้นที่ 2 มีพื้นที่รวม 42,000 ตร.ม. เป็นชานชาลาสายสีแดง และรถไฟทางไกล ชั้นที่ 3 มีพื้นที่รวม 42,300 ตร.ม. เป็นชานชาลารถไฟความเร็วสูง โดยชั้น 3 จะยังไม่เปิดบริการจนกว่ารถไฟความเร็วสูงจะสร้างเสร็จเปิดบริการ

ต้นแบบTOD ไทยแลนด์

นอกจากนี้ ”สถานีกลางบางซื่อ” ยังเป็นโปรเจ็กต์แรกของประเทศไทยที่ใช้โมเดลการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟ (TOD) จากต่างประเทศมาเป็นโมเดลต้นแบบพัฒนาพื้นที่โดยรอบรองรับการเดินทาง

เนื่องจากยังมีพื้นที่ 2,325 ไร่ ที่ ”ร.ฟ.ท.” จะนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์แบ่งแยกเป็นโซน มีองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เป็นผู้วางผังการพัฒนา แบ่งเป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 2561-2565 ประกอบด้วย ที่ดินแปลง A ขนาด 32.11 ไร่, แปลง D ขนาด 32.11 ไร่, แปลง F1 (สถานีบางซื่อเดิม) และแปลง E1 E2 E3 พื้นที่รวม 105 ไร่

ระยะที่ 2 2566-2570 ประกอบด้วยที่ดินแปลง C (บขส.เช่าในปัจจุบัน) ขนาด 86.62 ไร่, แปลง F2 โรงซ่อมรถจักร และแปลง G บ้านพักพนักงานบริเวณย่าน กม.11 ขนาด 359 ไร่

และระยะที่ 3 2571-2575 ประกอบด้วยที่ดินแปลง B พื้นที่พวงราง ขนาด 73.04 ไร่, แปลง D2 D3 ติดสัญญาเช่าระยะยาว, แปลง H ที่ทำการชั่วคราวการก่อสร้างสายสีแดง และแปลง I โรงซ่อมรถไฟชานเมืองสายสีแดง

ดึงเอกชนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์

ปัจจุบัน ”สถานีกลางบางซื่อ” งานก่อสร้างเสร็จแล้ว 99.8% เหลือเพียงการวางระบบไฟฟ้าและการดำเนินการร่วมกับสัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งใช้เงินลงทุน 32,399.99 ล้านบาท

ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการดำเนินการ ให้ ”ร.ฟ.ท.” ดำเนินการเอง ให้เอกชนมาเหมาพัฒนาพื้นที่ หรือจะนำไปรวมไว้กับสัมปทานการเดินรถสายสีแดงทั้งโครงการที่ ”ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคมนาคม มีนโยบายจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท

ก่อสร้างสายสีแดงส่วนต่อขยายที่เหลือ ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ 6,570.40 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 10,202.18 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 6,645.03 ล้านบาท และบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก (Missing Link) และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง รวมระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท และรับสัมปทานเดินรถ ระยะเวลา 30-50 ปี

เป็นความคืบหน้าของรถไฟฟ้าสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ที่ทุกคนกำลังนับถอยหลังใช้บริการ ตามแผนร.ฟ.ท. จะทดลองเปิดให้บริการในเดือน มิ.ย. และเปิดเชิงพาณิชย์เก็บค่าโดยสารในเดือน พ.ย.2564 เริ่มต้น 15-50 บาท

แต่ยังเป็นการเปิดบริการยังไม่สมบูรณ์แบบ 100% เพราะในเนื้อในของโครงการ ยังมีอะไรที่ต้องเคลียร์อีกมาก!