รถไฟเจรจากลุ่ม CP ขยายไฮสปีดระยอง 2 หมื่นล้าน

“การรถไฟฯ” เจรจา “ซี.พี.” ลงทุนไฮสปีดอีอีซี “อู่ตะเภา-ระยอง” ระยะทาง 20 กม. วงเงิน 2 หมื่นล้าน เผยสัญญาเปิดทางเอกชนรายเดิม เดินหน้าตามกระบวนการ PPP

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังไม่มีแผนจะสร้างส่วนต่อขยายรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ต่อจากสถานีอู่ตะเภาไประยอง จันทบุรี ตราด ระยะทาง 190 กม. วงเงินลงทุนตลอดแนวเส้นทาง 101,728 ล้านบาท

เนื่องจากตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมให้เน้นที่โครงการส่วนแรกช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ที่มี บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (ซี.พี.) เป็นคู่สัญญาให้ก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนก่อน

“ต้องเร่งเคลียร์อุปสรรคของโครงการโดยเฉพาะการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ได้ภายในเดือน ต.ค. 2564”

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด ขณะนี้สรุปผลการศึกษาแล้ว แต่เนื่องจากส่วนต่อขยายส่วนนี้ไม่เกิดความคุ้มค่าทั้งผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) และผลตอบแทนการลงทุนทางการเงิน (FIRR)

จะแบ่งพัฒนาเป็นเฟส เริ่มช่วงอู่ตะเภา-ระยอง ระยะทาง 20 กม. วงเงินลงทุน 20,510 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืนที่ดิน 1,837 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 471 ล้านบาท ค่างานโยธา 13,845 ล้านบาท ค่างานระบบ 2,025 ล้านบาท ซื้อขบวนรถ 2,332 ล้านบาทก่อน

“อาจจะเจรจากับกลุ่ม ซี.พี.ที่รับสัมปทานในระยะที่ 1 ก่อสร้างส่วนต่อขยายดังกล่าวเพิ่มอีก 20 กม. เพราะในสัญญาร่วมทุนทาง ซี.พี.ขอให้เจรจาเขาเป็นลำดับแรก”

ทั้งนี้จะประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในการดำเนินการเจรจา จะต้องเปิดประมูลใหม่หรือเจรจาร่วมกับสัมปทานเก่า อย่างไรก็ตาม คงต้องดูนโยบายของกระทรวงคมนาคมก่อนจะให้สร้างส่วนต่อขยายนี้อย่างไร หากกลุ่ม ซี.พี.ไม่เห็นด้วยก็อาจจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost

“เป้าหมายจะให้ส่วนต่อขยายถึงระยอง ก่อสร้างและเปิดพร้อมกับช่วงแรกที่จะสร้างถึงสนามบินอู่ตะเภา ตอนนี้กำลังพิจารณาที่จะเจรจากับกลุ่ม ซี.พี. เพื่อให้ก่อสร้างช่วงดังกล่าวเพิ่มไปด้วย หาก ซี.พี.ไม่สนใจ คงจะต้องพิจารณาช่องทางเปิด PPP แต่จะต้องดูความคืบหน้าการก่อสร้างของส่วนแรกก่อนว่าคืบหน้าไปแค่ไหน จึงจะหารือและเสนอให้บอร์ดรถไฟพิจารณาเปิด PPP จะต่อไปถึงระยองอีกครั้ง”

สำหรับผลการศึกษาทั้งโครงการ ใช้เงินลงทุน 122,238 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 14,836 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 3,300 ล้านบาท ค่างานโยธา 82,339 ล้านบาท งานระบบ 14,113 ล้านบาท และซื้อขบวนรถ 6,996 ล้านบาท แบ่งสร้าง 4 เฟส ระยะแรกสนามบินอู่ตะเภา-ระยอง ระยะทาง 20 กม. วงเงิน 20,510 ล้านบาท ส่วนเฟสที่ 2 ช่วงระยอง-แกลง เงินลงทุน 40,951 ล้านบาท เฟสที่ 3 ระยอง-จันทบุรี เงินลงทุน 71,013 ล้านบาท และเฟสที่ 4 จันทบุรี-ตราด เงินลงทุน 101,728 ล้านบาท ลงทุนรูปแบบ PPP net cost สัมปทาน 30-50 ปี มี 3 ทางเลือก 1.เอกชนลงทุนทั้งหมด ทั้งงานโยธา ระบบ ขบวนรถ บริหารเดินรถ และซ่อมบำรุง รัฐจัดหาที่ดิน

2.เอกชนดำเนินงานเฉพาะงานระบบและตัวรถ บริหารเดินรถและซ่อมบำรุง รัฐเป็นผู้จัดหาที่ดินและงานโยธา และ 3.เอกชนเป็นผู้ดำเนินการเฉพาะบริหารงานเดินรถและซ่อมบำรุง รัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน งานโยธา ระบบ และขบวนรถ

แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน บริเวณฝั่งตะวันออกของสนามบินอู่ตะเภาผ่านสถานีรถไฟบ้านฉาง เข้าสู่สถานีระยอง ตั้งอยู่บนถนน 3574 ระยอง-บ้านค่าย ห่างจากสี่แยกเกาะลอย 3 กม. จากนั้นมุ่งหน้าสู่อำเภอแกลง เข้าสู่สถานีแกลง ตั้งอยู่บนถนน 344 ชลบุรี-แกลง ห่างสามแยกแกลง 2 กม.

จากนั้นวิ่งตามแนวรถไฟทางคู่ช่วงมาบตาพุด-บ้านฉางบางช่วง ผ่าน อ.นายายอาม อ.ท่าใหม่ เข้าสู่สถานีจันทบุรี ตั้งอยู่แยกเขาไร่ยา ผ่าน อ.เมืองจันทบุรี อ.มะขาม อ.ขลุง จ.จันทบุรี เข้า อ.เขาสมิง สิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีตราด ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บนถนนสายสุขุมวิท ห่างสามแยกตราด 2 กม. รวมระยะทาง 190 กม.

ทั้งนี้มีปรับแนวใหม่ช่วงพาดผ่านนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดให้ฉีกไปทางบ้านฉางตรงไปยังถนนสาย 36 และปรับตำแหน่งสถานีระยองจากเดิมติดศูนย์การค้าเซ็นทรัล จะอยู่ห่างออกไป 2-3 กม. โดยจะต้องขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)