“อัศวิน” ฉะ “ศักดิ์สยาม” ล้ำเส้น “สัมปทานสายสีเขียว” แนะเก็บกวาดบ้านตัวเอง

“อัศวิน ขวัญเมือง” เดือดไล่ “คมนาคม” กวาดบ้านตัวเองก่อน หลังเสนอความเห็น “สัมปทานสายสีเขียว” เพิ่ม 4 ข้อ ย้ำตอบกลับไปหมดแล้ว เตรียมขอรัฐอุดหนุนล้างหนี้ที่รับจาก รฟม. กว่า 9 หมื่นล้าน หาก ครม.ไม่อนุมัติแจงยิบ 65 บาทมาจากไหน รับแพงกว่าต่างประเทศ แต่ถูกสุดในไทย

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการขยายสัมปทานสายสีเขียวให้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) อีก 30 ปี ยังรอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดยขอชี้แจงข้อเท็จจริงถึงสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวก่อนว่า เดิม กทม.มีสายทางของสายสีเขียวแค่ช่วงกลางคือ หมอชิต – อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ – สะพานตากสิน ถือเป็นระยะเริ่มต้นของรถไฟฟ้าสายสีเขียว มี BTSC รับสัมปทาน ต่อมาการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ก่อสร้างส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต รวมงานระบบส่วนต่าง ๆ วงเงินประมาณ 88,000 ล้านบาท

แจงที่มาหนี้ก้อนโต 8.8 หมื่นล้าน

และเมื่อปี 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้โอนสายสีเขียวทั้งหมดให้ กทม. บริหาร พร้อมกับรับทรัพย์สินและหนี้สินไปด้วย ซึ่ง รฟม.กู้จากสำนักงบประมาณกว่า 80,000 ล้านบาท จึงมีการคุยกันถึงเรื่องค่าโดยสาร

จากปัจจุบันที่นำค่าโดยสารสูงสุดของสายหลัก 44 บาท บวกกับค่าโดยสารช่วงต่อขยายอ่อนนุช – สำโรง 15 บาท รวมเป็น 59 บาทนั้น หากส่วนต่อขยายต่าง ๆ แล้วเสร็จตั้งแต่คูคต – สมุทรปราการ และมารวมกันกับส่วนอื่น ๆ ทั้งหมด จะมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 158 บาท จึงต่อรองกันจนได้ค่าโดยสารสูงสุดที่ 65 บาท

รับ 65 บาทแพงกว่า ตปท.แต่ถูกสุดในไทย

ส่วนจะนั่งกี่สถานีจึงจะคิดค่าโดยสารที่ 65 บาท ยังไม่ได้ข้อยุติ ต้องรอสัมปทานผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน แต่ กทม. ยืนยันว่า เราไม่ยอมให้เก็บ 158 บาทแน่นอน เลิกคิดเพราะประชาชนเดือดร้อน ยืนยันว่า หากได้ต่อสัมปทานราคาสูงสุดที่ 65 บาทนี้จะคงต่อไปอย่างน้อยจะไม่ขึ้นราคาจนถึงปี 2585 นี่คือความคิดของกทม. ส่วนความคิดของ BTSC ไม่ทราบ

“ที่มาของค่าโดยสารมาจากการคำนวณโดยนำค่าโดยสารเฉลี่ย/กม.มาหารกัน ยอมรับว่าค่าโดยสารของสายสีเขียวแพงกว่าต่างประเทศ เมื่อคิดเป็นค่าโดยสารเฉลี่ย/กม. แต่เราถูกกว่ารถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ในประเทศไทยแน่นอน เพราะราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 97 สตางค์/กม. เท่านั้น” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

ตอบ 4 ประเด็นคมนาคมแล้ว

ส่วนการชี้แจงต่อข้อสังเกต 4 ประเด็นของกระทรวงคมนาคม ได้แก่ ความครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562, ค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ, การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และข้อพิพาททางกฎหมายและการร้องเรียน

พล.ต.อ.อัศวินยืนยันว่า ได้ชี้แจงไปหมดแล้ว และเป็นการชี้แจงกับ ครม.ไม่ใช่กระทรวงคมนาคม กทม.ไม่เคยยุ่งกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงคมนาคมมายุ่งกับ กทม.ทำไม

ไล่ “คมนาคม” กวาดบ้านตัวเองก่อน

“ถ้ากระทรวงคมนาคมคิดว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวควรถูกกว่านี้ ผมก็คิดว่าการประมูลภายในสนามบินสุวรรณภูมิควรประมูลอะไรให้ดีกว่านี้นะ ผมยังไม่อยากพูดเลย เพราะไม่ใช่เรื่องของผม ลำพังเรื่องของผมก็ปวดหัวอยู่แล้ว ผมจะไม่ไปยุ่งเรื่องของคนอื่น แต่ถ้าคนอื่นอยากมายุ่ง ผมก็ถามว่าบ้านคุณเก็บกวาดหรือยังถึงมาเก็บกวาดบ้านคนอื่น” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

หนี้จ้างเดินรถบาน 8.6 พันล้าน

ส่วนหากยืดเยื้อไม่ผ่าน ครม. คงต้องหาทางกันอีกรอบ ตอนนี้ กทม.ค้างค่าเดินรถส่วนต่อขยายกับ BTSC เป็นจำนวนเงินกว่า 8,600 ล้านบาทแล้ว ซึ่งยังไม่รวมดอกเบี้ยอีก โดย กทม. รายงานหนี้ก้อนนี้กับกระทรวงมหาดไทยทุกเดือน และได้ทำหนังสือของบอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อมาชำระเงินก้อนนี้ไว้แล้วในกรณีที่สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวยังยืดเยื้อ

เปิดช่องขออุดหนุน หากสัมปทานถูกตีตก

“ถ้า ครม.ไม่เห็นชอบจริง ๆ ก็ได้ทำหนังสือของบอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อมาชำระเงินก้อนนี้ไว้แล้ว ทางสำนักงบประมาณต้องเร่งพิจารณางบที่ กทม.ขอไป เพื่อเอามาชำระหนี้ก่อน ไม่อย่างนั้น BTSC อาจจะฟ้อง กทม.ได้ ส่วนการเปิดประมูลสัมปทานรอบใหม่ก็รอให้หมดอายุสัญญาเดิมในปี 2572 ไปก่อนแล้วกัน ส่วนหนี้ที่รับโอนจาก รฟม. มาก็คงต้องคุยกับกระทรวงการคลังอีกที

พิพาทเดินรถ รอ ป.ป.ช.ชี้มูล

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการชี้แจงกรณีมีผู้ร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เป็นเรื่องจ้าง BTSC เดินรถสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร เป็นผู้ว่า ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีข้อกังวล

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ได้ชี้แจงกับ ครม.ไปแล้ว เอกสารหนา 300 หน้า จำได้ไม่หมด แต่ต้องรอ ป.ป.ช.ชี้มูลก่อนว่าถูกหรือผิด ถ้าฝนยังไม่ตั้งเค้า อย่าเพิ่งเตรียมที่รองน้ำ