ดีลแหลมฉบังเฟส 3 จบไม่ลง “บิ๊กตู่” สั่งบี้ผลตอบแทนกัลฟ์-ปตท.เพิ่ม

แหลมฉบัง

กัลฟ์-ปตท.ไชน่าฮาร์เบอร์ปิดดีลสัมปทานแหลมฉบังเฟส 3 ไม่จบ “ประยุทธ์” สั่ง “การท่าเรือฯ” เจรจาผลตอบแทนใหม่ อย่าให้ต่ำกว่าราคากลาง 10% โควิดฉุดลงทุน EEC 11 เดือน 128,158 ล้าน ส่อวืดเป้า 3 แสนล้าน หวังปี’64 กลับมาฟื้นทะลุ 4 แสนล้าน ดีเดย์ ม.ค.เซ็น ปตท.ลงทุนห้องเย็น เดินหน้าระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 5/2563 มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ระยะที่ 1 ท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และ บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากประเทศจีน ผู้ชนะประมูลรับสัมปทานระยะเวลา 35 ปี

คณิศ แสงสุพรรณ

โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) รายงานผลการเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC แต่ผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับยังต่ำกว่ากรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 32,225 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีมองว่าราคาที่เจรจาดังกล่าวยังต่ำกว่ากรอบราคาที่กำหนดไว้มาก ให้ กทท.เจรจาใหม่ เนื่องจากมองว่าราคาไม่ควรต่ำกว่า 10% ของมูลค่า 32,225 ล้านบาท หรือประมาณ 29,002.5 ล้านบาท ให้สรุปผลเจรจาและกลับมารายงานอีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไป คาดว่าจะได้ข้อสรุป

รายงานข่าวแจ้งว่า กทท.รายงานผลเจรจาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 กลุ่ม GPC เสนอผลประโยชน์ให้รัฐทั้งคงที่และผันแปรตลอดอายุสัมปทาน 35 ปี มีค่าสัมปทานคงที่ประมาณ 28,000 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบ ครม.อนุมัติ 32,225 ล้านบาท และค่าผันแปร คิดจากจำนวนตู้สินค้าที่เข้ามา ตู้ละ 100 บาท ตลอดอายุสัมปทานคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 4,400 ล้านบาท โดยเอกชนเสนอเท่าราคากลาง รวมเป็นเงิน 32,400 ล้านบาท ยังต่ำจากกรอบที่กำหนดไว้ 36,600 ล้านบาท โดยบอร์ดอีอีวีให้เจรจาเอกชนเพิ่มเติมในส่วนของค่าสัมปทานคงที่ ยังต่ำกว่ากรอบ ครม.อนุมัติ 32,225 ล้านบาท

นายคณิศถึงความคืบหน้าโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการตะวันออก วงเงิน 290,000 ล้านบาท มี บจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA) ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ, บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นเอกชนคู่สัญญา 50 ปี กองทัพเรือได้ออกประกาศทีโออาร์สร้างรันเวย์ที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 17,000 ล้านบาทแล้ว แต่รอการขอพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

“รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท มี บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (กลุ่ม ซี.พี.) เป็นคู่สัญญา ยังไม่มีการรายงานในที่ประชุมครั้งนี้ ทุกอย่างยังเป็นไปตามไทม์ไลน์ ส่งมอบพื้นที่ระยะแรกสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาและรับโอนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ในเดือน ต.ค. 2564”

นอกจากนี้ยังได้รายงานช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ย. 63) มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 387 โครงการลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 415 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 128,158 ล้านบาท เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 199,041 ล้านบาท ลดลง 70,883 ล้านบาท แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายทั้งปี 300,000 ล้านบาท แยกเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) 76,000 ล้านบาท คาดว่าปี 2564 การลงทุนจะกลับมามีมูลค่า 400,000 ล้านบาท จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 100,000 ล้านบาท การขอส่งเสริมการลงทุนอีก 300,000 ล้านบาท


นอกจากนี้ยังเห็นชอบแนวทางผลักดันการลงทุนและใช้ประโยชน์จากการพัฒนาระบบ 5G ใน EEC รวมถึงโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ให้ผู้ประกอบการในเขตส่งเสริม EEC ทั้งหมด 10,000 แห่ง โรงแรม 300 แห่ง ส่วนแผนพัฒนาการเกษตรที่จะผลักดัน 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ ผลไม้ ประมงเพาะเลี้ยง พืชชีวภาพ พืชสมุนไพร ปศุสัตว์ เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพดี และราคาสูงขึ้น