อสังหาฯ แนะถอดบทเรียนภูเก็ตโมเดล สู่มาตรการล็อกดาวน์สมุทรสาคร

Lillian SUWANRUMPHA / AFP

นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร แนะถอดบทเรียนภูเก็ตโมเดล สู่มาตรการล็อกดาวน์สมุทรสาคร

วันที่ 20 ธันวาคม 2563 นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทกานดา พร็อพเพอร์ตี้ และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์โควิดที่นำไปสู่การประกาศล็อกดาวน์จังหวัดสมุทรสาครเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนในพื้นที่สมุทรสาครต้องยอมรับและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อจำกัดวงไม่ให้ผลกระทบขยายขอบเขต และเพื่อให้การควบคุมและป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ในจังหวัดสำเร็จได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาสั้นที่สุด

“ผลกระทบบรรยากาศการค้าการลงทุน (มาตรการล็อกดาวน์จังหวัด) เป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน ทุกคนต้องรับสภาพที่จะเกิดขึ้น ต้องปรับตัว เหมือนกับที่เคยมีมาตรการล็อกดาวน์ประเทศเมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้เป็นการล็อกดาวน์เฉพาะที่ ขอบเขตอยู่แค่จังหวัด ก็หวังว่าจะไม่ลุกลามไปทั้งประเทศ มองเชิงบวกไว้ก่อน มาตรการนี้เพื่อทำให้บุคลากรทางการแพทย์ ฝ่ายปกครองได้ทำงานได้เต็มที่ในพื้นที่ระบาดอยู่ขณะนี้”

นายอิสระกล่าวว่า กานดากรุ๊ปมีการลงทุนพัฒนาโครงการในกรุงเทพ-ปริมณฑล และจังหวัดภูเก็ตด้วย ซึ่งมาตรการล็อกดาวน์ภูเก็ตเมื่อตอนต้นปีมีความเข้มข้นและสามารถสกัดปัญหาโรคระบาดได้อย่างดีเยี่ยม จึงมีข้อเสนอแนะว่ารัฐบาลสามารถนำประสบการณ์ล็อกดาวน์จังหวัดภูเก็ตซึ่งได้ผลมาแล้วนำมาปรับใช้กับจังหวัดสมุทรสาคร

โดยภูเก็ตโมเดลเริ่มจาก 1.ในส่วนพนักงานรัฐไม่ได้บังคับ แต่ขอความร่วมมือไม่ให้ย้ายข้ามตำบล ไม่ต้องเดินทางเยอะ ใคร WFH ได้ก็ทำ อยู่นิ่งๆ ให้มากที่สุด 2.ค่อยๆ ทำเคอร์ฟิว ร้านอาหาร ธุรกิจบริการ สถานบันเทิง ฯลฯ 3.หลังจากนั้นมีมาตรการล็อกดาวน์ควบคุมเรื่องการก่อสร้าง ห้ามขนส่งวัสดุข้ามภูเก็ต ก็เท่ากับถูกล็อกดาวน์การก่อสร้างโดยอัตโนมัติ มาตรการปิดน่านฟ้าห้ามการเดินทางผ่านสนามบิน เป็นต้น

“กรณีการห้ามขนส่นสินค้าหรือวัสดุข้ามจังหวัดอาจยังไม่จำเป็นสำหรับสมุทรสาคร เพราะสามารถตั้งด่านตรวจเชื้อโควิดทางถนนได้อยู่แล้ว เชื่อว่ารัฐบาลมีมาตรการที่เตรียมการไว้หมดแล้ว ประชาชนและผู้ประกอบการมีหน้าที่ปฏิบัติตามอย่างเข้มงวดเพื่อจำกัดผลกระทบไม่ให้เสียหายมากไปกว่านี้”

ทั้งนี้ ภูเก็ตโมเดลในการควบคุมและป้องกันการระบาดโควิด-19 มีทั้งมาตรการทางกับมาตรการขอความร่วมมือต่างๆ ซึ่งบริษัทให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ได้แก่ 1.พนักงานอยู่ใกล้ออฟฟิศก็ให้ทำงานได้ 2.พนักงานที่จะเดินทางข้ามเขตตำบลให้ทำงานที่บ้านหรือ WFH-work from home

3.บริษัทมีการปรับปรุงสำนักงานขายและพื้นที่ในไซต์ก่อสร้างให้พนักงานสามารถพักอาศัยได้เป็นการชั่วคราว 4.การดูแลแรงงานให้ตรวจโควิด และ 5.ภูเก็ตมีการประกาศห้ามขนส่งวัสดุก่อสร้างข้ามจังหวัด ทำให้ถึงจุดหนึ่งคนงานต้องหยุดทำงานเพราะไม่มีวัสดุเข้ามาป้อนไซต์ก่อสร้าง บริษัทก็ต้องมีมาตรการรองรับในการดูแลแรงงานก่อสร้างโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน อาหารแห้ง-อาหารสด คนจัดซื้อวัตถุดิบต้องมีมาตรการป้องกันสูงสุด รวมถึงสนับสนุนให้มีการตรวจหาเชื้อโควิดด้วย

“การใช้ชีวิตและทำงานในสมุทรสาครคิดว่ายังทำได้ตามปกติ แต่เรื่องการรักษาระยะห่างก็เป็นมาตรการสำคัญ ตอนที่ลุกลามในจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นพื้นที่มีผู้ติดเชื้ออันดับ 2 ของประเทศไทยรองจากกรุงเทพฯ ผมจำได้มาตรการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพมาก ซึ่งผมขอย้ำว่าภูเก็ตประสบความสำเร็จได้เพราะมีความร่วมมืออย่างเคร่งครัดจากภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน”

อย่างไรก็ตาม ภูเก็ตโมเดลทำได้ง่ายกว่าสมุทรสาครเนื่องจากภูเก็ตมีภูมิศาสตร์เป็นเกาะ การเดินทางมีถนนเข้า-ออกจังหวัดเพียง 1 เส้นทาง การตั้งด่านตรวจโควิดจึงทำได้ง่ายกว่า กับจุดหลักที่เข้า-ออกภูเก็ตจะทำผ่านสนามบินโดยรัฐบาลมีการปิดน่านฟ้าหรือระงับการเดินทางเข้า-ออกผ่านการโดยสารเครื่องบิน

ในขณะที่สมุทรสาครมีเส้นทางเข้า-ออกจังหวัดได้ถึง 3 ทางหลักคือ เส้นทางถนนมี 2 ถนนหลัก 1.ผ่านทางถนนพระรามที่ 2 ซึ่งบรรจบกับถนนเอกชัย 2.ถนนเพชรเกษม ช่วงรอยต่อถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ซึ่งมีรอยต่อเชื่อมกับถนนพุทธมณฑลสาย 4-5-6-7 และ 3.ช่องทางทะเล เนื่องจากภูมิศาสตร์สมุทรสาครมีพื้นที่ติดทะเลจึงสามารถเข้า-ออกทางทะเลได้ด้วย

“ภูเก็ตโมเดลมีการล็อกดาวน์โดยสกัดเส้นทางถนนซึ่งมี 1 เส้นทางกับมีการปิดน่านฟ้า กรณีสมุทรสาครไม่มีสนามบินดังนั้นจึงไม่ต้องปิดน่านฟ้า โดยการล็อกดาวน์อาจตั้งด่านตรวจโควิดทางถนน กับการปิดน่านน้ำซึ่งก็คือออกมาตรการตรวจสอบการเข้า-ออกทางทะเล”

ในด้านแรงงานซึ่งสมุทรสาครมีสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก สิ่งที่จะให้ความร่วมมือคือแรงงานไม่ต้องเดินทางไม่ต้องย้ายสถานที่ ให้อยู่นิ่งๆ ให้มากที่สุดในช่วงกักตัว 14 วัน (18 ธันวาคม 2563-3 มกราคม 2564) เช่น คนสมุทรสงครามที่จะเดินทางเข้ามาสมุทรสาครอาจต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเข้มงวด อาจต้อง WFH หรือบริษัทจัดที่พักอาศัยให้ชั่วคราว ซึ่งเป็นความร่วมมือและการปรับตัวที่ภาคธุรกิจสามารถทำได้ทันที