กดปุ่มรถไฟฟ้าสายสีทอง บูม “ศูนย์ราชการ-ท่องเที่ยว” ฝั่งธนฯ

หลังรอมาร่วม 3 ปี ในที่สุดคนฝั่งธนบุรี สิ้นสุดการรอคอยได้นั่งรถไฟฟ้าล้อยาง “สายสีทอง” รถไฟฟ้าไร้คนขับสายแรกของประเทศไทย

ย้อนที่มาโครงการ

จุดเริ่มต้นรถไฟฟ้าสายนี้ เกิดจาก “กลุ่มสยามพิวรรธน์” เจ้าของศูนย์การค้าไอคอนสยาม สนับสนุนเงินลงทุน 2,500 ล้านบาท ให้ “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ซึ่งมอบ บจ. กรุงเทพธนาคม วิสาหกิจ กทม.เป็นผู้ก่อสร้างเฟสแรก ระยะทาง 1.7 กม. จากกรุงธนบุรี เลาะถนนเจริญนคร ขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงสำนักงานเขตคลองสาน

มี 3 สถานี ได้แก่ 1.สถานีกรุงธนบุรี เชื่อมต่อบีทีเอส 2.สถานีเจริญนคร (ไอคอนสยาม) อยู่เจริญนคร 6 และ 3.สถานีคลองสาน เยื้องโรงพยาบาลตากสิน มี sky walk เชื่อมโรงพยาบาลตากสินได้ จะใช้เวลาเดินทาง 6 นาที

โดยมี “บีทีเอส-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถตลอด 30 ปี โดยรัฐมีรายได้จากค่าตั๋วโดยสารที่เก็บ 15 บาทตลอดสาย

ลงทุนโดยเอกชน 100%

ซึ่งเป็นการลงทุนโดยที่ไม่ใช้งบประมาณ กทม. เป็นการให้สิทธิพื้นที่โฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้าแก่เอกชน 30 ปี และ กทม.นำรายได้ดังกล่าวมาลงทุนก่อสร้าง โดยทรัพย์สินทั้งหมดยังเป็นของ กทม.ตั้งแต่เริ่มให้บริการ

ถือเป็นการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ลดปัญหารถติด คาดว่าจะลดจำนวนรถบนถนนคลองสานลงในแต่ละชั่วโมง 6,000 คัน และเพิ่มทางเลือกเดินทางที่สะดวกสบาย สร้างแหล่งงาน แหล่งท่องเที่ยว และเสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ฝั่งธนบุรี

แม้ว่า “สายสีทอง” จะเป็นรถไฟฟ้าล้อยางวิ่งบนรางคอนกรีต มีขนาดเล็ก จุคนได้ไม่มาก และมีระยะทางที่สั้นที่สุดในประเทศไทย แต่เป็นรถไฟฟ้าอีกหนึ่งสายทาง มีส่วนสำคัญช่วยเปิดการพัฒนาให้พื้นที่ฝั่งธนบุรี ทั้งการท่องเที่ยวและการพัฒนาใหม่ ๆ ย่านเจริญนคร-คลองสานได้เป็นอย่างดี

คอนโดฯ-โรงแรม-ห้างขึ้นพรึ่บ

เนื่องจากตลอดเส้นทางมีคอนโดมิเนียมและโรงแรมหรู เข้าไปลงทุนพัฒนารอไว้ล่วงหน้าก่อนที่รถไฟฟ้าสายสีจะตอกเข็มในปี 2561 เช่น บมจ.ศุภาลัย บมจ.ไรมอนแลนด์ บมจ.รสา พร็อพเพอร์นี้ ดีเวลลอปเมนท์ ยังมีที่ดินเปล่ารอพัฒนา หนึ่งในนั้นเป็นที่ดินเจ้าสัวเจริญ เนื้อที่ 10 ไร่ โกดังเก่า บจ. เสริมสุข อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และติดถนนเจริญนครซอย 15 ห่างจากสถานีเจริญนคร 400-500 เมตร ปีหน้าอวดโฉมไอคอนเฟส 2

โดยรอบ “ศูนย์การค้าไอคอนสยาม” หลังกลุ่มสยามพิวรรธน์ ผนึก “บจ.แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น” ธุรกิจอสังหาฯเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ทุ่มกว่า 5 หมื่นล้านบาท เนรมิตที่ดิน 50 ไร่ ผุดศูนย์การค้า โรงแรม 5 ดาว คอนโดฯหรู ศูนย์ประชุมแล้ว

ยังทุ่มอีก 4,000 ล้านบาท สร้าง “ไอคอนสยาม เฟส 2” กว่า 5 ไร่ อยู่ฝั่งตรงข้ามติดกับสถานี จะเปิดตัวในปี 2564 ประกอบด้วย โรงแรมฮิลตัน การ์เด้น อินน์ กรุงเทพฯ มีห้องพัก 244 ห้อง ห้องอาหารรูฟท็อปบาร์ ห้องประชุม สระว่ายนํ้า ฟิตเนส, โคเวิร์กกิ้งสเปซ, ร้านค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น

กระตุ้นท่องเที่ยวริมเจ้าพระยา

อีกหนึ่งไฮไลต์ มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อยู่ไม่ไกลให้เช็กอิน ทั้งท่าดินแดง คลองสาน วงเวียนใหญ่ ล้ง 1919

ยังทำให้ประชาชนมาใช้บริการหน่วยงานราชการได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น เช่น โรงพยาบาลตากสิน โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ สำนักงานเขตคลองสาน สำนักการศึกษา

ในแต่ละวัน จะมีคนกว่า 4.000 คน ใช้บริการโรงพยาบาลตากสิน อีก 30,000 คน เดินทางไปโรงเรียน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่าง ๆ และกว่า 25,000 คน ใช้บริการเรือข้ามฟากและเรือโดยสารจาก 20 ท่าเรือที่อยู่ใกล้สายสีทอง

มหาดไทยปักหมุดกระทรวงใหม่

และในอนาคตจะมีการพัฒนาใหม่ ๆ ในรัศมีใกล้เคียงเกิดขึ้นอีก เนื่องจากอีกไม่นาน “กระทรวงมหาดไทย” จะย้ายที่ตั้งกระทรวงแห่งใหม่มาอยู่ที่ถนนเจริญนคร สร้างเป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ วงเงิน 5,574.50 ล้านบาท บนเนื้อที่ 18 ไร่เศษ รองรับข้าราชการ 6 กรม ที่ย้ายมากว่า 5,000 คน ยังไม่รวมประชาชนที่มาติดต่อราชการ

ตามแผนจะเริ่มสร้างภายในปี 2564 แล้วเสร็จในปี 2569 ขณะนี้อยู่ระหว่างทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นอาคารสำนักงานจำนวน 1 อาคาร 6 ทาวเวอร์ และชั้นใต้ดิน 3 ชั้น มีพื้นที่ก่อสร้าง 226,000 ตร.ม. เมื่อแล้วเสร็จจะกลายเป็นศูนย์ราชการแนวใหม่อยู่ใจกลางทำเลทอง

สอดรับกับนักวิชาการที่คาดการณ์ว่าการมาของรถไฟฟ้าสายสีทอง จะทำให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฝั่งธนบุรีอย่างก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้

บิ๊กตู่ชมบูมการพัฒนาฝั่งธนบุรี

แม้แต่ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ในวันที่เดินทางไปกดปุ่มเปิดบริการเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ยังกล่าวชมการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีทอง จะทำให้คนหลาย 10,000 คนที่อยู่ฝั่งธนบุรีได้ใช้บริการ ซึ่งปัจจุบันฝั่งธนบุรีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ตนเคยอยู่ฝั่งธนบุรี และที่นั่งรถไฟฟ้ามาก็เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

ปัจจุบันก็พยายามพัฒนาเมืองออกไปรอบนอกเพื่อคนรุ่นใหม่ในอนาคต และจะขยายต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งในอนาคตรถไฟฟ้าสายสีทองมีแผนจะขยายไปอีก 1 สถานี ถึงสถานีประชาธิปก ทุกอย่างอยู่ในแผนหมด แต่ต้องดูการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ก่อน ทั้งสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) และสายสีแดง

ทุ่ม 1.3 พัน ล.สร้าง 1 สถานี

ขณะที่ “พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า รอประเมินผลตอบรับของผู้โดยสารอีก 6 เดือน ซึ่งกลางปี 2564 น่าจะมีความชัดเจนเรื่องการลงทุนสร้างเพิ่ม 1 สถานี จะใช้เงินลงทุนอีก 1,300 กว่าล้านบาท ระยะทางกว่า 900 เมตร อาจจะเป็นการให้เอกชนร่วม PPP โดยสายสีทองเฟสแรก คาดว่าจะมีผู้โดยสารอยู่ที่ 42,000 เที่ยวคน/วัน ตอนนี้ กทม.เปิดให้ใช้ฟรีไปถึงวันที่ 15 ม.ค. 2564 จากนั้นเก็บ 15 บาทตลอดสาย

ดูแล้วน่าจะอีกไม่นานเกินรอ เพราะแค่เปิดใช้บริการไม่กี่วัน มีผู้โดยสารมาใช้บริการถึง 15,000 เที่ยวคน/วัน ยิ่งต่อไปถึงประชาธิปก น่าจะคึกคักมากขึ้น เพราะอยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว “สะพานด้วน” หรือสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ที่ กทม.เพิ่งจะปลุกปั้นขึ้นมาเป็นแลนด์มาร์กใหม่