เจ้าสัวทุ่มสุดตัว EEC “หมอเสริฐ-คีรี” ปิดดีลใหญ่สุด 3 แสนล้าน

5 โปรเจ็กต์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม มูลค่า 6.5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลเปิดสัมปทานให้เอกชนร่วมลงทุน หวังบูตการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้โชติช่วง

เช็กลิสต์ความคืบหน้ารายโปรเจ็กต์ถึงปี 2563 มีเซ็นสัญญาแล้ว 3 โครงการ ตั้งแต่ปี 2562 โดย “ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3” ปิดดีลโปรเจ็กต์แรก มีกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีที แทงค์ฯ คว้าสัมปทาน 30 ปี พัฒนาพื้นที่ 1,000 ไร่ มูลค่า 47,900 ล้านบาท อยู่ระหว่างทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และถมทะเล จะเริ่มสร้างในเดือน เม.ย. 2564 แล้วเสร็จเปิดในปี 2570

ต่อมาวันที่ 24 ต.ค. 2562 เซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,554 ล้านบาท กับ บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน ภายใต้การนำของกลุ่ม ซี.พี. ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น, บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) คว้าสัมปทาน 50 ปีไปครอง โดยกลุ่ม ซี.พี.ให้รัฐสนับสนุนค่างานก่อสร้างไม่เกิน 117,227 ล้านบาท

ตลอดปี 2563 “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ทุ่มเคลียร์พื้นที่ส่งมอบให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างระยะแรกสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และรับโอนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ภายในเดือน ต.ค. 2564 ใช้เวลาสร้าง 5 ปี ตามแผนจะแล้วเสร็จในปี 2569

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2563 ถึงคิวกองทัพเรือเซ็นปิดดีล “สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก” เนื้อที่ 6,500 ไร่ ได้กลุ่ม BBS นำโดย บมจ.การบินกรุงเทพ ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ถือหุ้น 45% บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ของนายคีรี กาญจนพาสน์ เจ้าของรถไฟฟ้าบีทีเอส ถือหุ้น 35% และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างตระกูลชาญวีรกูล ถือหุ้น 20% เป็นผู้ลงทุน 50 ปี เสนอผลตอบแทนให้รัฐมากที่สุด 305,555 ล้านบาท และนับเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในปี 2563 และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบพิมพ์เขียวการพัฒนา คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 ตามแผนจะใช้เงินลงทุน 186,566 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 127,717 ล้านบาท และซ่อมบำรุง 61,849 ล้านบาท แบ่งสร้าง 4 เฟส ระยะที่ 1 วงเงิน 31,290 ล้านบาท ก่อสร้าง 3 ปี เปิดปี 2567 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคน/ปี

ยังปิดดีลไม่จบ คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ของ “กทท.-การท่าเรือแห่งประเทศไทย” ต้องเจรจาใหม่กับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และ บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง

เนื่องจากยังเสนอผลประโยชน์ทั้งสัมปทานคงที่และผันแปรตลอดอายุสัมปทาน 35 ปี คิดเป็นวงเงินรวม 32,400 ล้านบาท ต่ำจากกรอบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด 36,600 ล้านบาท จะสรุปและเซ็นสัญญาต้นปี 2564


สุดท้าย “โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน” หรือ MRO วงเงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ยังไม่มีความชัดเจนจะมีใครมาร่วมลงทุนกับ บมจ.การบินไทย ที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ หลังแอร์บัสถอนตัวไป ประกอบกับเกิดการระบาดโควิด-19 ที่ทุบอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก มีความเป็นไปได้สูงที่โปรเจ็กต์นี้จะชะลอยาว