ปี’64 เร่งสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่ เชื่อมชานเมือง “สีแดง-ชมพู-เหลือง”

ตลอดปี 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินสายกดปุ่มเปิดรถไฟฟ้าสารพัดสีเชื่อมกรุงเทพฯกับปริมณฑล เพื่อบรรเทาปัญหารถติด

น้ำเงิน-เขียว-ทองวิ่งครบ

ต้นปี “สายสีน้ำเงิน” บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค วิ่งครบลูปเชื่อมสายเดิม “บางซื่อ-หัวลำโพง” ท้ายปีเปิด “สายสีเขียว” ส่วนขยาย “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” ครบตลอดสาย เชื่อม 3 จังหวัดปทุมธานี กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ไร้รอยต่อ

สายสีทอง “กรุงธนบุรี-คลองสาน” เชื่อมบีทีเอส ไอคอนสยาม สถานที่ราชการและแหล่งเที่ยวริมเจ้าพระยา เป็นรถไฟฟ้าไร้คนขับสายแรกของประเทศได้เงินสนับสนุนจากภาคเอกชน

คิวต่อไป แดง-ชมพู-เหลือง

ปี 2564 มีคิวรอเปิด 3 สาย 3 สี มีสายสีแดง “ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต” เชื่อมกรุงเทพฯเหนือกับตะวันตก หลังการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ใช้เวลาสร้าง 10 ปี เปิดทดลองใช้ฟรีเดือน ก.ค.-ต.ค. เก็บค่าโดยสารเดือน พ.ย.ราคา 15-50 บาท

เดือน ต.ค. เป็นคิวโมโนเรลสีชมพู “แคราย-มีนบุรี” และสายสีเหลือง “ลาดพร้าว-สำโรง” ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)หารือกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ-ราชกรุ๊ป) จะทยอยบริการเป็นช่วง ๆ

โดยสายสีชมพูคืบหน้า 66.05% จากสถานีมีนบุรี-ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ก่อนเปิดตลอดสายเดือน ก.ย. 2565 สายสีเหลืองคืบหน้าแล้ว 68% จากสำโรง-พัฒนาการ เปิด มิ.ย. 2565

ทั้ง 2 สายจะเริ่มทดสอบระบบเดินรถเดือน เม.ย. เปิดเดินรถเสมือนจริงให้ใช้ฟรีในเดือน ก.ค. เปิดเชิงพาณิชย์เดือน ต.ค. 2564 ส่วนค่าโดยสารยังไม่เก็บ (อัตรา 14-42 บาท)

“ไทม์ไลน์ยังเหมือนเดิม ซึ่งเอกชนกำลังเร่งอยู่ เพื่อไม่ให้ประชาชนรอนาน เปิดบริการได้ก็จะเปิดต้นปี 2564 รอประเมินสถานการณ์โควิดด้วย เพราะผู้เชี่ยวชาญจากจีนเข้ามาไม่ได้ แต่ยิ่งเปิดเร็ว เอกชนจะมีรายได้เร็วขึ้น”

เมื่อเปิดบริการจะมีระบบฟีดเดอร์ป้อนคนให้รถไฟฟ้าสายสีเขียว แดง ม่วง น้ำเงิน แอร์พอร์ตลิงก์ และสายสีส้มในอนาคต เพื่อเชื่อมการเดินทางกรุงเทพฯโซนตะวันออกและตะวันตก

สายสีส้มไม่มาตามนัด

จากนั้นต้องรอลุ้นสายสีส้ม “ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี” ที่ รฟม.เร่งสร้างจนรุดหน้าไป 72.74% และตั้งเป้าเปิดบริการในเดือน ต.ค. 2567 จะมาตามนัดหรือไม่ เมื่อการเดินรถยังผูกติดกับสายสีส้มตะวันตก ที่กำลังมีข้อพิพาทอยู่

หลัง รฟม.ปรับเกณฑ์พิจารณาผู้ชนะใหม่จากเดิมชี้ขาดที่ “ราคา” จะเปิด “ซองเทคนิค” ควบคู่ “การเงิน” ในสัดส่วน 30 : 70 นำ “คะแนนเทคนิค” 30% มาพิจารณา ร่วมกับ “คะแนนการเงิน” 70% ใครที่เสนอผลประโยชน์รัฐดีที่สุดเป็นผู้ชนะ

สำหรับสายสีส้ม รฟม.เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost หาเงิน 128,128 ล้านบาท ลงทุนสร้างช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม จัดหาระบบซื้อรถ แลกรับสัมปทาน เดินรถ เก็บค่าโดยสาร “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี” เวลา 30 ปี

“ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า รฟม.ยังไม่เปิดซองประมูลของ 2 เอกชน ที่ยื่นประมูลคือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และกลุ่ม BSR (BTSC-BTS-ซิโน-ไทยฯ) รอฟังคำตัดสินจากศาลปกครองสูงสุด หากเดือน ก.พ. 2564 ถ้าศาลยังไม่มีคำตัดสิน มีความเป็นไปได้ที่เปิดสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี จะขยับจากปี 2567 ส่วนช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม งานคงจะเลื่อนจาก เม.ย. 2564 และการเปิดบริการขยับจากเดือน เม.ย. 2570 ออกไปเช่นกัน

ลุยเวนคืนประมูลสีม่วงใต้

ในปี 2564 จะสำรวจเวนคืนสายสีส้มตะวันตกกับสายสีม่วงใต้เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เพื่อทำคู่ขนานกับเปิดประมูล ซึ่งสายสีส้มมีค่าเวนคืน 14,611 ล้านบาท เวนคืน 505 แปลง 41 ไร่เศษ รวม 331 หลัง ส่วนสีม่วงใต้เวนคืน 15,913 ล้านบาท มีที่ดิน 410 แปลง 102 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 267 หลังคาเรือน จุดขึ้น-ลง 17 สถานี ขณะนี้รออนุมัติร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน

ส่วนการก่อสร้างงานโยธาในเดือน ก.พ.จะประมูลงานโยธา 6 สัญญา เป็นงานใต้ดิน 4 สัญญา ทางยกระดับ 1 สัญญา และระบบราง 1 สัญญา วงเงินรวม 77,358 ล้านบาท ตั้งเป้าเริ่มก่อสร้างเดือน ธ.ค. 2564 แล้วเสร็จเดือน มี.ค. 2570

ขณะที่งานระบบรถไฟฟ้า 23,064 ล้านบาท จะเปิด PPP ในเดือน พ.ย. 2564 เป็น PPP gross cost 30 ปี เหมือนสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ จ้าง บมจ.BEM เดินรถ 30 ปี เพื่อให้การเดินรถต่อเนื่องโดยเอกชนรายเดียว

เบรกสีน้ำเงินบางแค-สาย 4

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า ส่วนสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 วงเงิน 21,241 ล้านบาท ชะลอโครงการ รอประเมินตัวเลขผู้โดยสารสายสีน้ำเงินปัจจุบันจะถึง 600,000-800,000 เที่ยวคน/วันตามเป้าหรือไม่ ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 3.6 แสนเที่ยวคน/วัน และรอสอบถามความสนใจเอกชนในการลงทุน PPP ทั้งงานโยธาและระบบด้วย

ขยายสายสีแดงรอเปิด PPP

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า สายสีแดงส่วนต่อขยายที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อปี 2562 รอผลศึกษา PPP หลังมีนโยบายจากกระทรวงคมนาคมจะนำงานก่อสร้างทั้งหมดไปรวมกับหนี้สายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต และให้เอกชนรับสัมปทานเดินรถและพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ และสถานีในแนวเส้นทางของสายสีแดงทั้งโครงการในรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 30-50 ปี วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท

ได้แก่ รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท, ตลิ่งชัน-ศาลายา 14.8 กม. วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท, ตลิ่งชัน-ศิริราช 4.3 กม. วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท และสาย Missing Link ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท

“ผลศึกษาจะเสร็จใน ก.ค. 2564 เสนอ ครม.อนุมัติเดือน ส.ค.-พ.ย. และคัดเลือกเอกชนในเดือน ธ.ค. 2564-ม.ค. 2565 ได้เอกชนในเดือน ธ.ค. 2565”

เขียวต่อขยาย-ทองเฟส 2 รอประเมิน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.ยังไม่มีแผนลงทุนส่วนต่อขยายสายสีเขียวทั้ง 2 เส้นทาง วงเงิน 25,333 ล้านบาท คือ ช่วงคูคต-ลำลูกกา 7 กม. รวม 11,989 ล้านบาท และช่วงสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 7 กม. วงเงิน 13,344 ล้านบาท


เนื่องจากอยู่นอกพื้นที่กรุงเทพฯ และต้องรอประเมินผู้โดยสารจากการเปิดส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ส่วนสีทองเฟส 2 จะสร้างเพิ่ม 1 สถานีถึงประชาธิปก ลงทุน 1,300 ล้านบาท คงต้องรอประเมินหลังเปิดเฟสแรกไปแล้ว 6 เดือนเช่นกัน