“ศักดิ์สยาม” ใส่เกียร์ห้า เมกะโปรเจ็กต์แก้ปัญหาการจราจร

เข้าสู่ปี 2564 ประเทศไทยยังคงติดหล่มโควิด-19 ที่ระบาดไปหลายจังหวัด มาซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังจะผงกหัวให้ทิ่มลงไปอีก ทำให้ความหวังเศรษฐกิจไทยจะฉลุยในปีฉลู ดูแล้วน่าจะหริบหรี่เต็มที เมื่อมรสุมรุมเร้าเข้ามาไม่หยุดหย่อน

คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีหั่นงบประมาณลงทุนโครงการ เพื่อดึงเงินมาพยุงเศรษฐกิจให้อยู่รอด

“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคมนาคม กล่าวยอมรับว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในครั้งนี้มีผลกระทบบ้าง แต่ให้นโยบายผู้บริหารกระทรวงคมนาคมไปแล้วว่า โครงการลงทุนต่าง ๆ ให้คงไว้ แต่การบริหารงบประมาณอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยจะปรับลดเนื้องานที่เป็นงบฯผูกพันในแต่ละปีลง แต่งบประมาณปี 2564 ที่ผ่านการพิจารณาแล้วคงไปปรับเปลี่ยนไม่ได้ ต้องเดินหน้าต่อไป ส่วนงบประมาณ 2565 ที่กำลังดำเนินการเสนอคำขอ ต้องหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก่อนว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณในการบริหารสถานการณ์เพิ่มเติมหรือไม่

ในเดือน ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงเริ่มออกประกาศทีโออาร์ประมูลก่อสร้างโครงการและเซ็นสัญญาให้หมดในเดือน ม.ค. 2564 สำหรับงานก่อสร้างที่ใช้เวลา 1 ปี และเดือน มี.ค. 2564 โครงการที่เป็นงบฯผูกพันข้ามปีต้องเซ็นสัญญาให้เรียบร้อย

“ปี 2564 จะเป็นปีที่จะใส่เกียร์ 5 เต็มที่ เพราะกระทรวงคมนาคมหยุดทำงานไม่ได้อีกแล้ว ผมและรัฐมนตรีช่วยทั้ง 2 ท่าน ทั้งท่านอธิรัฐ รัตนเศรษฐและท่านถาวร เสนเนียม รวมถึงปลัดชยธรรม์ พรหมศร และผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ จะทำงานกันตลอด”

โครงการลงทุนในปี 2564 จะเห็นผลใน 3 เดือนแรกของปี จะผลักดันอย่างน้อย 3 โครงการสำคัญ โครงการแรก มอเตอร์เวย์สายบางขุนเทียน-ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. วงเงิน 48,310 ล้านบาท มีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดสภาพัฒน์แล้ว คาดว่าจะเสนอภายในต้นปี 2564 นี้

ต่อมาเป็นรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. วงเงิน 3,379 ล้านบาท คาดว่าจะเร่งรัดไปทางเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเสนอ ครม.ให้ได้ภายในต้นปี

สุดท้ายแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีภาระหนี้สะสมมายาวนานกว่า 1.27 แสนล้านบาท จะหารือกับสภาพัฒน์ให้จบเพื่อเร่งผลักดันให้เสนอ ครม.ให้ได้ภายในเดือน ก.พ. 2564 จัดทำ Taxi Application เร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วมให้ใช้บัตรโดยสารเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทุกระบบ ผลักดันการขนส่งสินค้าทางน้ำจากท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปท่าเรือแหลมฉบัง

พร้อมขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มเติมในปีนี้ อาทิ ศึกษาแผนแม่บท MR-MAP วางแผนการพัฒนามอเตอร์เวย์ให้สอดคล้องรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ ลดปัญหาการเวนคืนที่ดินซ้ำซ้อน, ศึกษาแผนโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Land Bridge)

ผลักดันการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในรถโดยสาร เรือ และรถไฟไทย, ใช้รถไฟฟ้าล้อยาง ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักในภูมิภาค ลดต้นทุนก่อสร้าง, พัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (feeder) เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากย่านธุรกิจหรือชุมชนต่าง ๆ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าหลัก, เร่งรัดการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อเต็มรูปแบบในปี 2564

แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วน นอกจากใช้ระบบ M-flow แล้ว จะปรับปรุงโครงข่ายทางด่วนและมอเตอร์เวย์ 4 สาย ได้แก่ มอเตอร์เวย์ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ, ถนนประเสริฐมนูกิจ-งามวงศ์วาน, ทางด่วนขั้นที่ 1 ต่างระดับอาจณรงค์ และทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสะพานพระราม 9-พระราม 2 ลดความแออัด และเพิ่มทางเลือกในการเดินทางประชาชน